'คมนาคม' ชงแผนอีอีซีเฟส 2 ดันลงทุนขนส่ง 3.8 แสนล้าน

'คมนาคม' ชงแผนอีอีซีเฟส 2  ดันลงทุนขนส่ง 3.8 แสนล้าน

การผลักดันเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น

ซึ่งแม้การระบาดของโรคโควิด-19 จะทำให้มีการชะลอตัวลง เช่น การท่องเที่ยว แต่จำเป็นต้องวางแผนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม เพื่อรองรับความต้องการในอนาคต โดยเฉพาะการเดินทางท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้น 5.7 เท่า ภายในปี 2580

ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้ผลักดัน แผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในอีอีซีระยะที่ 1 โดยได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการคมนาคมขนส่งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศและระบบราง

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างจัดทำแผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ระยะที่ 2 เน้นเพิ่มโครงข่ายรองเชื่อมต่อกับโครงการหลักที่อยู่ระหว่างการพัฒนาในพื้นที่อีอีซีอยู่แล้ว เพื่อสนับสนุนในด้านการเดินทาง การขนส่งสินค้า ตลอดจนการท่องเที่ยวในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก

โดยแผนปฏิบัติการดังกล่าว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนหน่วยงานเจ้าของโครงการเร่งทบทวนรายละเอียด เพื่อเตรียมส่งกลับมายังสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในฐานะเลขานุการจัดทำโครงการภายในวันที่ 14 ก.ย.2563 หลังจากนั้นเมื่อ สนข.ตรวจสอบข้อมูลแล้วเสร็จ จะส่งกลับไปยังหน่วยงานอีกครั้ง เพื่อเตรียมเสนอแผนคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) พิจารณาอนุมัติโครงการ ในช่วงเดือน ต.ค.นี้ ก่อนทำเรื่องเสนอของบประมาณประจำปี 2565 ในเดือน พ.ย.2564

สำหรับแผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในอีอีซี ระยะที่ 2 ระหว่างปี 2565 – 2570 เบื้องต้นมี 131 โครงการ วงเงินลงทุน 3.86 แสนล้านบาท โดยมีโครงการสำคัญ อาทิ โครงการก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 ท่าอากาศยานอู่ตะเภา, โครงการก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบิน ท่าอากาศยานอู่ตะเภา และโครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนรอง ระยะที่ 1 แบ่งเป็น

ระยะเร่งด่วน (2565–2566) กระทรวงคมนาคมจะมีการพัฒนาโครงการสนับสนุนการท่องเที่ยวเชื่อมโยงในพื้นที่ เช่น โครงการศึกษาความเหมาะสมและก่อสร้างการเชื่อมต่อทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง M7 เข้าสู่สนามบินอู่ตะเภา และโครงการปรับปรุงก่อสร้างท่าเทียบเรือเพื่อท่องเที่ยวเกาะล้าน

ระยะกลาง (2567–2570) มีโครงการสำคัญสนับสนุนการท่องเที่ยว อาทิ โครงการก่อสร้างรถไฟทางเดี่ยวสายใหม่ ช่วงระยอง–จันทบุรี–ตราด ระยะทาง 150 กิโลเมตร ,โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงคลองสิบเก้า-กบินทร์บุรี-คลองเล็ก (จ.สระบุรี)–อรัญประเทศ

โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองชลบุรี-นครราชสีมา (ช่วงแหลมฉบัง–ปราจีนบุรี ทล.359) หรือ M61 ,โครงการรถไฟความเร็วสูง ส่วนต่อขยายระยอง–จันทบุรี-ตราด ช่วงอู่ตะเภา–ระยอง และโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย ระยะที่ 2 และปรับปรุงท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย ระยะที่ 1 เป็นต้น

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า เป้าหมายของการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนในอีอีซี นอกจากกระทรวงคมนาคมจะต้องการเชื่อมโครงสร้างพื้นฐานหลัก เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจแล้ว ยังต้องการสนับสนุนระบบเศรษฐกิจผ่านการเดินทางท่องเที่ยว อีกทั้งจังหวัดในอีอีซีเป็นเมืองที่มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่มีชื่อเสียงระดับโลก และเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยงทางทะเลที่นักท่องเที่ยวต้องการเดินทางมาเยือน

สำหรับแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในพื้นที่อีอีซีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยวเป้าหมายในอีอีซีนั้น ซึ่งในเบื้องต้นกำหนดเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวจากจุดเริ่มต้นในจังหวัดฉะเชิงเทรา อาทิ วัดโสธรวราราม ตลาดน้ำบางคล้า และสวนปาล์มฟาร์มนก 

หลังจากนั้นในแผนการพัฒนาได้เชื่อมโยงมาจังหวัดชลบุรี พื้นที่บริเวณท่าอากาศยานอู่ตะเภา ซึ่งจะเป็นแนวท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ครอบครัว จัดประชุมสัมมนา กีฬาและเรือสำราญ

ก่อนจะเชื่อมต่อเข้าสู่พื้นที่จังหวัดระยอง ที่มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ อาทิ ปากน้ำกระแส สวนทุเรียน หากแม่รำพึง เกาะเสม็ด และเขาแหลมหญ้า เป็นแนวท่องเที่ยวเชิงชุมชน เกษตร เกาะ เชื่อมต่อกับพื้นที่จังหวัดจันทบุรี มีแหล่งท่องเที่ยว อาทิ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติอ้างคุ้มกระเบน หาดเจ้าหลาว และเขาคิชกูฎ และเชื่อมต่อเข้าสู่จังหวัดตราด ที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล เช่น เกาะช้าง เกาะกูด เกาะขาม บ้านน้ำเชี่ยว และกอนลาเมืองไทย อ่าวสลักคอก เป็นต้น

160034055552

การศึกษาเส้นทางพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน ตอนนี้กระทรวงคมนาคมได้กำหนดแนวเส้นทางเชื่อมโยงการท่องเที่ยวไว้แล้ว ส่วนการพัฒนาโครงข่ายก็จะหลากหลาย เช่น พัฒนาถนนเลี่ยงเมืองเพิ่มเติม ก่อสร้างรถไฟทางคู่ ตลอดจนสร้างท่าเทียบเรือเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว อำนวยความสะดวกในการเดินทางไปยังพื้นที่ท่องเที่ยวทางทะเล

รวมทั้งกระทรวงคมนาคมยังศึกษาพบว่าการก่อสร้างโครงข่ายคมนาคมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวนั้น จะเป็นส่วนกระตุ้นให้เกิดการเดินทางมากขึ้น ด้วยความสะดวกสบายในการเชื่อมต่อคมนาคม ซึ่งข้อมูลจากกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ประเมินว่าการท่องเที่ยวในพื้นที่อีอีซี ภายในปี 2580 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 5.7 เท่า โดยปริมาณความต้องการเดินทางพื้นที่อีอีซี และพื้นที่ใกล้เคียงในปี 2580 จะมีประมาณ 1.78 ล้านคน-เที่ยวต่อวัน ดังนั้นกระทรวงฯ ต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับ

สำหรับการคาดการณ์ปริมาณความต้องการในการเดินทางของอีอีซีและพื้นที่ใกล้เคียง ขณะนี้มีการประเมินแบ่งเป็นสัดส่วนพบว่า จะมีการเดินทางผ่านรถยนต์ส่วนบุคคล 50% รถโดยสารประจำทาง 26% รถไฟ 15% และอากาศ 9% โดยพบว่าพื้นที่ที่มีการเดินทางมากที่สุด จะอยู่บริเวณจังหวัดชลบุรี 

ดังนั้นกระทรวงคมนาคมจึงต้องวางแผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมให้สอดคล้อง โดยเน้นหลักไปที่การพัฒนาโครงข่ายทางถนน 44 โครงการ เม็ดเงินลงทุนกว่า 1.13 แสนล้านบาท และโครงข่ายทางรางและระบบขนส่งมวลชน 37 โครงการ วงเงินกว่า 1.65 แสนล้านบาท