เฉลิมชัยสั่งตรวจสอบราคายาง หลังดิ่ง 13% พร้อมเอาผิดแก๊งค์ทุบราคา

เฉลิมชัยสั่งตรวจสอบราคายาง หลังดิ่ง 13% พร้อมเอาผิดแก๊งค์ทุบราคา

“เฉลิมชัย”สั่งกยท.ตรวจสอบราคาย้อนหลัง 2 สัปดาห์ดูเหตุราคาดิ่ง13% พร้อมเร่งจัดการกระบวนการทุบราคา ประสานพาณิชย์เร่งตรวจสต็อกยางเอกชน

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้สั่งให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ตรวจสอบพฤติกรรมการขึ้นลงของราคายางพารา ช่วง 1-2 สัปดาห์ย้อนหลังจากนี้ ว่ามีการเปลี่ยนแปลงของราคา ผิดปกติหรือไม่ มีการทุบราคาจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่ หากพบว่ามีการทุบราคา จากกลุ่ม 5 เสือส่งออก อย่างที่มีกระแสข่าว ขอให้ กยท.เร่งทำแผนบริหารจัดการ ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรกับผู้ที่กระทำการทุบราคา

ทั้งนี้ ราคายางพาราช่วงที่ดีดกลับมาอีกครั้ง หลังมีการหยุดยาวช่วงวันที่ 4-7 ก.ย.ที่ผ่านมา ทำให้ราคาปรับตัวลดลงมากกว่า 13% เมื่อเทียบกับราคาในช่วงที่ปรับตัวสูงสุดในช่วง วันที่ 2 ก.ย.2563 ที่ราคา 61.95 บาทต่อกิโลกรัม (ก.ก.) ถือว่าสูงสุดในรอบ 3 ปี 2 เดือน แต่หลังจากหยุดยาวราคาก็ลดลงมาก และเมื่อเปิดทำการซื้อขาย ตลาดยางทั่วประเทศราคายางก็ยังคงตกต่ำต่อเนื่อง ต่ำสุดในช่วง 2 สัปดาห์นี้ที่ราคา 53.40 บาทต่อก.ก.จึงสั่งให้ กยท.ดำเนินการหาข้อเท็จจริง

หลังจากนั้นให้เสนอกลับมาที่กระทรวงโดยเร็วที่สุด เพื่อประสานกระทรวงพาณิชย์ เร่งใช้กฏหมายที่มีอยู่เพื่อดำเนินการกับกลุ่มคนที่ทุบราคายางพารา ส่วนการเช็กสต็อกยางพารา เบื้องต้นได้ประสานกระทรวงพาณิชย์ ให้เร่งดำเนินการตรวจสต็อกยางพาราในประเทศ เพื่อให้รู้ว่ามีผลกระทบกับราคาหรือไม่

สำหรับราคายางพาราที่ 55-56 บาทต่อก.ก. ถือว่าอยู่ในระดับที่รับได้ และ กยท.ก็มีเครื่องมือในการดูแลราคา โดยได้กำชับให้ดูอย่าให้ราคาตกไปกว่านี้ เพราะช่วงที่ปัญหา การระบาดของโควิด-19 ยังไม่สามารถที่จะเปิดประเทศได้ กิจกรรมการเปิดตลาดต่างประเทศ ยังต้องรอสิ่งที่ทำได้ช่วงนี้ คือ การใช้ยางในประเทศ โดยเร่งให้ทุกหน่วยงานช่วยกัน เพื่อดูดซับผลผลิตออกจากตลาดให้มากท่ี่สุด

รายงานข่าวแจ้งว่า ราคายางพาราที่ปรับตัวลดลง โดยวันที่ 8 ก.ย.2563 ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ปรับตัวลดลงเหลือ 56.10 บาทต่อก.ก. ลดลงประมาณ 7% จากก่อนหยุดยาว 4 วัน หรือ 3 ก.ย.ราคาอยู่ที่ 59.90 บาทต่อก.ก. ถือเป็นการปรับฐานหลังจากราคายางพาราขึ้นต่อเนื่องจนสร้างสถิติใหม่ในรอบ 3 ปี 2 เดือนที่ราคา 61.95 บาทต่อกก.และในบางส่วนเกิดจากกลไกในด้านธุรกิจของเอกชน ที่ดำเนินการซื้อยางเพื่อส่งมอบ ตามสัญญาที่ได้ทำไว้ในราคาที่ไม่ถึง 50 บาทต่อกก. แต่ กยท.ก็ได้ใช้กลไกตลาดของ กยท.เข้าซื้อดันราคาไม่ให้ดิ่งลงมาก