กสทช.ออกกฎคุม 'จานดำ' กวน '5G' 

กสทช.ออกกฎคุม 'จานดำ' กวน '5G' 

มติบอร์ดกสทช.ออกร่างฯประกาศตัวรับสัญญาณจานดำต้องไม่รับคลื่น 2600-3500 เมกะเฮิรตซ์ จบปัญหาคลื่น 5จี กวนการดูทีวีดาวเทียม คาดสิ้นปีนี้มีกฎหมายชัดเจน

พร้อมเดินเรื่องประมูลคลื่น 3500 ส่งไม้ต่อให้บอร์ดใหม่สานต่อ ระบุพรบ.สรรหากสทช.ต้องชัดเจนหวั่นขั้นตอนที่กำลังดำเนินการฟลาว์เพราะกมธ.แก้กฎหมายใหม่เสร็จแล้ว

นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) มีมติออกร่างหลักเกณฑ์ประกาศการรับสัญญาณทีวีดาวเทียมให้ใช้คลื่นความถี่ที่ต้องสูงกว่าคลื่น 3500 เมกะเฮิรตซ์ โดยขั้นตอนจากนี้ จะเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) ภายในก.ย.นี้ จากมีผู้เกี่ยสข้องและมีส่วนได้เสีย หลังจากนั้น จะสรุปและส่งเรื่องให้บอร์ดพิจารณาอีกครั้ง ก่อนจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาในช่วงปลายปี

โดยสาเหตุที่ต้องออกร่างประกาศฯดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมา สำนักงานกสทช.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนว่าไม่สามารถรับช่องโทรทัศน์ผ่านจานรับสัญญาณดาวเทียมได้ หลังจากมีการเปิดบริการ 5จีในช่วงเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา เพราะคลื่นความถี่ 2600 เมกะเฮิรตซ์ ที่ให้บริการนั้นไปกวนสัญญาณของจานดำ

ทั้งนี้ ในทางเทคนิคแล้วการรบกวนข้ามย่านความถี่อาจเกิดจากการที่เสาสัญญาณหลายแหล่ง ซึ่งแม้จะปล่อยสัญญาณคลื่น 2600 ซึ่งเป็นความถี่หลัก แต่อาจมีคลื่นความถี่คู่ควบออกมาด้วย ซึ่งสัญญาณจากหลายแหล่งกำเนิดอาจผสมกัน ทำให้เป็นคลื่นความถี่ใหม่ไปรบกวนจานดำ หากเป็นกรณีนี้ต้องปรับปรุงการส่งสัญญาณ เพื่อลดการผสมคลื่นจนเป็นคลื่นรบกวน หรืออีกกรณีหนึ่งอาจเกิดจากหัวรับสัญญาณดาวเทียม (แอลเอ็นบี) เป็นรุ่นเก่า ซึ่งมีย่านการรับสัญญาณครอบคลุมคลื่น 2600 ด้วย เมื่อตั้งเสา 5จี แล้ว ก็จะทำให้คลื่น 2600 ซึ่งส่งด้วยความแรงกว่าสัญญาณดาวเทียมไปรบกวนจานดำได้

“คลื่น 2600 ไม่ผิดอะไรที่ให้บริการ 5จี แต่การออกหลักเกณฑ์ก็เพื่อควบคุมให้จานรับสัญญาณรุ่นใหม่ในกรณีนี้ต้องเปลี่ยนหัวรับสัญญาณแอลเอ็นบีให้เป็นรุ่นใหม่ที่รับเฉพาะสัญญาณซีแบนด์ เท่านั้น เพราะปัญหาที่ผู้รับชมโทรทัศน์ดาวเทียมกำลังประสบก็คือ เมื่อต้นปีต้องเปลี่ยนหัวรับสัญญาณดาวเทียมหรือเปลี่ยนแอลเอ็นบีจากการที่ดาวเทียมไทยคม 5 ใช้งานไม่ได้ไปแล้ว และปัจจุบันอาจต้องเปลี่ยนแอลเอ็นบี เพื่อไม่ให้รับสัญญาณ 2600 เมกะเฮิรตซ์"

เขา ระบุอีกว่า ที่ผ่านมามีความกังวลว่าหากมีการออกหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะกระทบต่อผู้รับชมทีวีจานดาวเทียมจำนวนมาก แต่หลังจากที่ดาวเทียมไทยคม 5 ไม่สามารถให้บริการได้เพราะเกิดความชำรุดในตัวดาวเทียมทำให้ปัจจุบันประชาชนที่รับชมทีวีดาวเทียมและเกิดปัญหาคลื่นรบกวนได้ทยอยย้ายออกไทยคม 5 หมดแล้ว และที่ผ่านมาได้รับรายงานว่าอาจเกิดปัญหาจากการกวนสัญญาณในย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์ จากที่บมจ.ไทยคมให้บริการอยู่ แต่จากกาตรวจสอบล่าสุดพบว่าไม่มีลูกค้าแม้แต่รายเดียวที่อยู่คลื่นดังกล่าว จึงทำให้บอร์ดออกหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้เลย สำหรับให้บริการ 5จีในอนาคตจำเป็นต้องมีคลื่นอื่นนอกเหนือจาก 2600 เมกะเฮิรตซ์ ทำให้บอร์ดได้กำชับไปยังสำนักงานกสทช.ให้ออกร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่น 3500 ด้วยเพื่อให้มีการประมูลล่วงหน้าก่อนที่บมจ.ไทยคม จะหมดอายุสัญญาสัมปทานลงในเดือนก.ย. 2564