'2 ทางเลือก' ธรรมศาสตร์ ตรงกลางระหว่าง 'ประชาธิปไตย-เผด็จการ'

'2 ทางเลือก' ธรรมศาสตร์ ตรงกลางระหว่าง 'ประชาธิปไตย-เผด็จการ'

19 กันยายน จะชี้ทิศทางการเมืองในอนาคต และปรัชญามหาวิทยาลัยของประชาชน

ธรรมศาสตร์ในรอบเกือบสองทศวรรษนี้ เป็นอีกสถาบันที่ตกอยู่ตรงกลาง ระหว่างความขัดแย้ง ไม่ว่าขยับไปทางไหนก็โดนวิจารณ์จากทุกฝ่าย

หากไม่นับเหตุการณ์เดือนตุลาคมทั้งกรณี 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 มหาวิทยาลัยที่มีโดมเป็นสัญลักษณ์ได้กลายเป็นสมรภูมิทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัด ในช่วงการก่อตัวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ดังจะเห็นได้จากการจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ของ สนธิ ลิ้มทองกุล’ ไปจนถึงเปิดเป็นพื้นที่ทางวิชาการให้มีการอภิปรายเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ของทั้งสองฝ่าย ซ้ายและขวาอย่างตรงไปตรงมา เช่น กลุ่มนิติราษฎร์ เป็นต้น

แม้จะมีสถานะในลักษณะ สนามเป็นกลาง ให้กับทุกฝ่าย แต่ปรากฏว่า ต่อมาธรรมศาสตร์ถูกตั้งคำถามในแง่มุมของรักษาประชาธิปไตย ภายหลังมีบุคลากรของมหาวิทยาลัยการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในองคาพยพของคณะรัฐประหารทั้งในปี 2549 และ 2557 ไม่ว่าจะเป็นการนั่งในตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 

เสียงวิจารณ์ถาโถมตามมาว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำลังศิโรราบให้กับทหารหรือไม่ ทั้งที่ประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยที่ผ่านมา ล้วนแต่ยืนต่อต้านเผด็จการแทบทั้งสิ้น

แต่ด้วยความที่ธรรมศาสตร์มีวัฒนธรรมภายใน ว่าจะไม่มีการเข้าไปแทรกแซงการทำงานซึ่งกันและกัน ทำให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยไม่อาจไปตีกรอบความคิด และเสรีภาพของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ซึ่งนี่เองทำให้ไม่มีใครสั่งใครให้ทำ หรือไม่ทำอะไรได้

 

ในรอบสองทศวรรษมานี้ ธรรมศาสตร์มีอธิการบดีมาหลายคน แต่ละคนล้วนแต่เผชิญกับศึกหนักแตกต่างกันไป เช่น อาจารย์สมคิด เลิศไพฑูรย์ ถูกตั้งคำถามหนักกับการไล่อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ผู้ต้องหาในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ออกจากตำแหน่ง และการเข้ามาเป็นสมาชิก สนช.ในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

เวลานั้นแรงกดดันพุ่งมายังอาจารย์สมคิด และธรรมศาสตร์พอสมควร ถึงขนาดที่ต้องระบายความในใจออกเป็นตัวหนังสือ เรื่องลึกใต้ตึกโดม เมื่อครั้งอำลาตำแหน่งอธิการบดี โดยระบุตอนหนึ่งว่า “ผมโชคร้ายที่มารับตำแหน่งอธิการบดีในช่วงที่อาจารย์สมศักดิ์ขาดราชการ

ส่วนอธิการบดีคนปัจจุบัน เกศินี วิฑูรชาติ จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ตอนแรกเหมือนจะไม่เจอกับแรงปะทะทางการเมืองเท่าใดนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่ได้มาจากคณะนิติศาสตร์เหมือนกับอธิการบดีสองคนก่อนหน้านี้ ประกอบกับได้ตำแหน่งนี้ในช่วงปลายยุค คสช.ด้วย

ด้วยเหตุนี้ ทำให้ธรรมศาสตร์ช่วงหนึ่งไม่ได้พูดถึงในมุมมองทางการเมืองมากเท่าใดนัก แต่กลับถูกพูดถึงในประเด็นของการช่วยเหลือในทางสาธารณะมากกว่า เช่น กรณีของการแปรสภาพโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ให้เป็นโรงพยาบาลสนามในช่วงโควิด-19 หรือการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายให้แก่นักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากโควิด

แต่มาวันนี้ ธรรมศาสตร์กำลังจะเป็นสนามรบอีกครั้ง ภายหลังการให้ใช้เป็นสถานที่ชุมนุมของกลุ่มนักศึกษา

ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พยายามยังคงหลักการ “เสรีภาพทุกตารางนิ้ว” ตามปรัชญาของอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ด้วยการเปิดให้ ‘ธรรมศาสตร์ รังสิต’ เป็นลานชุมนุมทางการเมืองหลายครั้ง จนเป็นที่มาของภาพมวลชนเรือนหมื่นบริเวณหน้าสนามกีฬา

ทว่าคำว่า ‘เสรีภาพทุกตารางนิ้ว’ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กำลังถูกท้าทายว่ายังมีอยู่จริงหรือไม่ ภายหลังผู้บริหารมหาวิทยาลัยไม่ให้ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวันที่ 19 กันยายน 2563 โดยให้เหตุผลว่ากลุ่มผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข

เสียงที่เกิดขึ้นที่ตามมาภายหลังการตัดสินใจของผู้บริหารมหาวิทยาลัยมีทั้งคัดค้านและสนับสนุน ความหนักใจจึงตกอยู่ที่สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของธรรมศาสตร์คนปัจจุบัน เพราะครั้นจะให้ใช้พื้นที่ชุมนุมก็เกรงจะเกิดเหตุการณ์แบบวันที่ 10 สิงหาคม 2563 หรือหากไม่ให้ใช้พื้นที่ แน่นอนว่าคำว่าเรื่องการมีเสรีภาพทุกตารางนิ้วย่อมจะดังขึ้นมาอีก

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหนึ่งในมรดกของคณะราษฎรที่ยังหลงเหลือมาถึงปัจจุบัน ซึ่งตั้งบนพื้นฐานของการให้ราษฎรได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้น เหตุการณ์ในวันที่ 19 กันยายน นอกจากจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงทิศทางการเมืองในอนาคตแล้ว ยังบ่งบอกถึงความคงอยู่ในปรัชญาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย