หนังเล่าโลก: A Taxi Driver หน้าที่เพื่อประชาธิปไตย

หนังเล่าโลก:  A Taxi Driver หน้าที่เพื่อประชาธิปไตย

หากถามว่าในบรรยากาศที่นักเรียนนิสิตนักศึกษาชุมนุมต่อต้านรัฐบาลถี่ยิบโดยจะนัดชุมนุมใหญ่กันในวันที่ 19 ก.ย.ขณะที่การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนก็ถูกตั้งคำถามควรหาหนังเรื่องไหนมาดูให้เข้ากับสถานการณ์ ผู้เขียนขอแนะนำเรื่องนี้ A Taxi Driver

หนังที่สร้างจากเรื่องจริงบอกเล่าเรื่องราวของ “คิม” คนขับแท็กซี่หาเช้ากินค่ำในกรุงโซล ผู้ต้องทำทุกอย่างเพื่อหาเงินมาดูแลลูกสาว วัย 11 ขวบ ปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องแก้ให้ตกคือต้องหาค่าเช่าห้องที่ค้างมาหลายเดือนมาจ่ายให้ได้ในทันที ด้วยความกะล่อน คิมตัดหน้าเพื่อนแท็กซี่ฉกตัวลูกค้าคนพิเศษที่จ่ายค่าจ้างให้อย่างงามถึง 1 แสนวอน ให้ขับแท็กซี่ีจากสนามบินในกรุงโซลไปส่งที่เมืองกวางจู คิมคงจะรับเงินไปสบายๆ ถ้าผู้โดยสารคนนี้ไม่ใช่ “ปีเตอร์” นักข่าวจากเยอรมนี และวันนั้นไม่ใช่วันที่ 20 พ.ค.2523 หรือ 3 วันหลังจากเผด็จการชุน ดูฮวาน ประกาศกฎอัยการศึก จนนักศึกษาประชาชนออกมาต่อต้าน รวมทั้งที่กวางจู ที่นับถึงวันนี้ผ่านไปแล้ว 40 ปีแต่บาดแผลยังไม่เคยจาง

การประท้วงที่กวางจูเริ่มตั้งแต่ก่อนประกาศกฎอัยการศึก 18 พ.ค. แต่ข่าวออกไปสู่โลกภายนอกน้อยมากเพราะรัฐบาลปิดข่าว ด้วยเหตุนี้จึงเป็นหน้าที่ของปีเตอร์ นักข่าวมากฝีมือผู้ประจำการอยู่ในกรุงโตเกียวอันเงียบสงบ ในเมื่อเขาอยากทำข่าวท้าทายก็ต้องมากวางจู การเดินทางร่วมกันในช่วงแรกปีเตอร์ออกจะขัดอกขัดใจกับการทำหน้าที่ของคิม ที่พูดภาษาอังกฤษไม่ดี แถมยังดูจะเป็นแท็กซี่ขี้งก เห็นแก่เงิน ปีเตอร์จึงปรามาสคนขับแท็กซี่รายนี้อยู่ในที จนกระทั่งทั้งคู่ไปถึงกวางจู ได้เห็นความจริงปรากฏกับตา ทหารยิงนักศึกษาประชาชนล้มตายไปต่อหน้าต่อตา แต่ข่าวสารจากสื่อรัฐเป็นไปในทางตรงข้าม ทหารเป็นฝ่ายเสียหายมากกว่า ส่วนผู้ที่ก่อการนั้นคือพวกคอมมิวนิสต์

การลุกฮือของนักศึกษาที่กวางจูก็เหมือนกับในหลายๆ ประเทศ ที่แม้ผ่านไปหลายสิบปีความจริงยังไม่ปรากฏ จำนวนผู้เสียชีวิตเป็นเท่าใดกันแน่ยังไม่ทราบแน่ชัด หน่วยงานทางการรายงานยอดผู้เสียชีวิตราว 160 คน รวมทหารและตำรวจ สูญหายอีกกว่า 70 คน แต่นักกิจกรรมกล่าวว่า ผู้เสียชีวิตอาจมากกว่านี้ถึง 3 เท่า กองทัพสลายการชุมนุมยืดเยื้อถึง 10 วันนับตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค. หลังจากนั้นทหารยังอยู่ในอำนาจต่ออีก 8 ปี จึงมีโอกาสทำลายหลักฐานได้มาก

เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาช่วงครบรอบ 40 ปีกวางจู สำนักข่าวเอเอฟพีสัมภาษณ์ผู้ได้รับผลกระทบจากการทหารใช้กำลังปราบประชาชน หนึ่งในนั้นคือ ชเว จุงจา เธอเล่าว่า ในวันนั้นสามีวัย 43 ปีออกจากบ้านในเมืองกวางจูออกไปซื้อน้ำมันใส่ฮีทเตอร์ แต่เกิดเหตุรุนแรงขึ้นเสียก่อน เธอพยายามออกไปตามหาตัวเขา ถึงขนาดต้องสุ่มเปิดโลงศพคลุมด้วยธงชาติเปื้อนเลือดตามท้องถนนเพื่อให้ได้พบหน้าสามี

ภาพแบบนี้มีปรากฏในหนัง เมื่อคนในครอบครัวออกไปตามหาลูกหลานในโรงพยาบาล การได้พบพวกเขาในสภาพยังมีชีวิตนับเป็นข่าวดีอย่างที่สุด ส่วนตัวละครหลักอย่างปีเตอร์และคิมนั้น แน่นอนว่า ด้วยหน้าที่ปีเตอร์จะต้องเก็บภาพความรุนแรงในกวางจูให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อนำไปบอกเล่าต่อโลกว่าเกิดอะไรขึ้นที่นี่ เหตุการณ์ที่รัฐบาลปกปิดความจริงแม้แต่กับคนในชาติด้วยกันเอง

ส่วนคิมนั้นเล่า หน้าที่ของเขาแค่ขับรถมาส่งผู้โดยสารถึงที่หมาย รับเงินค่าจ้างก็จบแล้ว ลูกสาวต่างหากคือเป้าหมายที่เขาต้องกลับไปหา ไม่ใช่การเรียกร้องยกเลิกกฎอัยการศึกหรือโค่นเผด็จการอย่างที่คนกวางจูกำลังทำ ปีเตอร์เข้าใจสถานการณ์ความยุ่งยากในกวางจูจึงจ่ายค่าจ้างทั้งหมด 100,000 วอนให้คิมกลับโซลไปหาลูกอย่างสบายใจเพราะหน้าที่ของคิมจบแล้ว แต่เอาเข้าจริงด้วยจิตสำนึกความเห็นอกเห็นใจคนที่ตกทุกข์ได้ยากด้วยกัน แทนที่คิมจะยอมกลับโซลคนเดียวอย่างที่ปีเตอร์อนุญาต เขากลับทำหน้าที่ที่ควรทำให้จบอย่างสุดความสามารถ บอกได้คำเดียวว่า การตัดสินใจของคิมเล่นเอาคนดูน้ำตาซึม

นอกจากบทบาทของคิมกับความจริงที่กวางจูแล้ว อีกคนหนึ่งที่ต้องปรบมือให้คือปีเตอร์ เขาทำหน้าที่นักข่าวอย่างดีที่สุด นักข่าวไม่ต้องปกป้องอะไรทั้งนั้น แต่ต้องรายงานเหตุการณ์ ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบ ทั้งคิมและปีเตอร์ร่วมกันทำหน้าที่ของตนอย่างสุดชีวิต อย่างที่เรียกได้ว่า เป็นหน้าที่เพื่อประชาธิปไตย A Taxi Driver จึงเป็นหนังน่าชมในช่วงการเมืองแบบนี้