'ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง' โรคใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

'ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง' โรคใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง(Atopic Dermatitis) คือ อาการผื่นผิวหนังอักเสบเรื้อรัง คัน มักขึ้นตามตัวหรือบริเวณต่างๆ ของร่างกาย เป็นโรคใกล้ตัว ทุกเพศทุกวัย แต่น้อยคนที่จะตระหนักและเข้าใจถึงอาการ จึงไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ทำให้อาการเรื้อรัง

ทั้งนี้ โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง มักพบบ่อยในเด็ก โดยมีผื่นเป็นๆ หายๆ เด็กบางคนอาจยังคงมีอาการเรื้อรังต่อไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ จากปัจจัยหลากหลาย ได้แก่ พันธุกรรม กำหนดให้ผู้ป่วยมีผิวแห้งและมักมีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว เช่น จมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือมีโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังร่วมด้วย

 

ปัจจัยสำคัญอีกข้อ คือ สิ่งแวดล้อม ที่กระตุ้นให้อาการกำเริบ โดยแต่ละคนจะมีปัจจัยที่กระตุ้นที่แตกต่างกัน ปัจจัยกระตุ้นที่พบได้บ่อย เช่น อาหารในเด็กเล็ก การติดเชื้อที่ผิวหนัง สารก่อการระคาย หรือสารก่อภูมิแพ้ ผิวหนังของผู้ป่วยจะไว (sensitive) ต่อสภาพแวดล้อมรอบตัวทั้งสภาพทางกายภาพ เช่น ภาวะอากาศร้อนเกินไป เย็นเกินไป หรือสารเคมีที่ระคายผิวหนัง เป็นต้น

 

วานนี้ (16  กันยายน) รศ.พญ. รัตนาวลัย นิติยารมย์ อาจารย์สาขาโรคผิวหนัง ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวในงานเสวนาออนไลน์ World Atopic Dermatitis Day 2020  “โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคใกล้ตัวที่ถูกมองข้ามของคนไทย” ณ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี ว่า ข้อมูลในประเทศไทยจากการศึกษา พบว่า อายุที่หายจากโรคแปรผันตามความรุนแรงของโรค โดย รุนแรงน้อย เฉลี่ย 3.4 ปี รุนแรงปานกลาง 3.5 ปี รุนแรงมาก 7 ปี และ 2 ใน 3 ของผู้ป่วยหายจากโรค ทั้งนี้ ข้อมูลจากวารสารทางการแพทย์ พบว่า ผู้ป่วยร้อยละ 80 ไม่มีอาการเมื่ออายุ 8 ปี น้อยกว่าร้อยละ 6 มีผื่นจนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่

 

ในปัจจุบัน โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่เมื่อโตอาการจะดีขึ้น ส่วนใหญ่จะหายได้ และสามารถควบคุมการกำเริบของโรคได้ ดังนั้น เป้าหมายของการรักษาโรคนี้จึงอยู่ที่ การพยายามควบคุมอาการของโรคและให้อยู่ในช่วงสงบนานที่สุดเท่าที่จะทำได้

160028268981

 

"หลายคนถามว่า หากแม่เป็นภูมิแพ้ทำอย่างไรเพื่อลดความเสี่ยง ส่วนมากคุณแม่เมื่อตั้งครรภ์จะลดอาหารกลุ่มเสี่ยง แต่ความจริงไม่แนะนำ ควรทานอาหารให้ครบถ้วน และลูกไม่จำเป็นต้องงดอาการในกลุ่มเสี่ยงเช่นกัน ในประเด็น ที่หลายคนกังวลว่า โรคจะหายหรือไม่ เด็กส่วนใหญ่สามารถหายขาดได้เอง จากการรักษาผิวที่ดี ควบคุมโรคที่ดี คนไข้ที่เป็นไม่เยอะช่วง 3 ขวบกว่า สามารถหายได้ แต่ก็มีส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถหายได้ และหากเป็นตอนโตโอกาสหายก็จะน้อยลง แนะนำว่า การอาบน้ำควรใช้สบู่ที่เหมาะสม ไม่ขัดนานเกินไป" 

ภูมิแพ้ผิวหนัง อาจทำให้ซึมเศร้า

 

ศ.พญ.ศิริวรรณ วนานุกูล ประธานชมรมแพทย์ผิวหนังเด็กแห่งประเทศไทย ระบุว่า โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง หลายคนมักมองข้าม แต่หากปล่อยไว้นานอาจก่อให้เกิดภาวะรุนแรงหรือเรื้อรังโดยอุบัติการณ์ของโรคนี้ขึ้นอยู่กับกลุ่มอายุ ในเด็กไทยพบประมาณร้อยละ 10-20 ส่วนผู้ใหญ่พบน้อยกว่าประมาณร้อยละ 2-10 เด็กที่เป็นโรคนี้ส่วนใหญ่เริ่มมีอาการตั้งแต่ยังเป็นทารกอายุ 3 เดือนขึ้นไป ส่วนใหญ่อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นเมื่อเติบโตขึ้น แต่มีผู้ป่วยประมาณร้อยละ 2 ที่ไม่เคยปรากฏอาการในวัยเด็ก แต่เริ่มมีอาการในวัยผู้ใหญ่

160028269096

 

สำหรับลักษณะผื่นของโรคภูมิแพ้ผิวหนังในผู้ป่วย มี 3 แบบ ได้แก่ ระยะเฉียบพลัน คือ มีผื่นบวมแดงที่มีตุ่มน้ำขนาดเล็ก บางรายอาจมีน้ำเหลืองไหลซึมออกมา มีอาการคันมาก ถัดมา คือ ระยะกึ่งเฉียบพลัน คือ ผื่นแดง ตุ่มน้ำ แห้งเป็นสะเก็ด มีขุยบ้าง มีอาการคันมาก และ ระยะเรื้อรัง คือ ผื่นจะมีสีไม่แดงมากหรือออกสีน้ำตาล อาจนูนหนา และเห็นร่องผิวหนังชัดเจน มีอาการคันมาก

"ผู้ป่วยภาวะเรื้อรังบางรายมีอาการคันรุนแรงจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตและครอบครัว ตลอดจนกระทบความมั่นใจและการเข้าสังคม ผู้ป่วยบางรายอาจเลือกที่จะใส่เสื้อผ้าปกคลุมผิวหนังหลายๆ ส่วนของร่างกาย เนื่องจากความอาย จนนำไปสู่ผลกระทบต่อสภาพจิตใจ เกิดความเครียด กังวล และอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ในที่สุด"

 

 ด้าน รศ.พญ.ปภาพิต ตู้จินดา หัวหน้าสาขาวิชาโรคภูมิแพ้ผิวหนังและอิมมูโนวิทยา ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งสำคัญ คือ แพทย์ควรให้ความรู้กับคนไข้ ถึงการดำเนินโรค อะไรคือตัวกระตุ้น อาการสำคัญ คือ ผิวแห้ง จากการสร้างไขมันไม่สมบูรณ์ ทำให้มีการระเหยของน้ำมากขึ้น และการกระตุ้นปัจจัยภายนอก ควรทาครีมบำรุงผิวให้ได้ชุ่มชื่นทันทีหลังอาบน้ำเสร็จ ครีมต้องไม่มีน้ำหอม สารกันเสีย โดยเด็กสามารถทาได้ตั้งแต่แรกเกิด

 

นอกจากนี้ ในเรื่องของการอาบน้ำก็สำคัญเช่นกัน น้ำที่อาบไม่ควรร้อนเกินไป ไม่ควรอาบนานเกินไป และทาครีมบำรุงทันที ขณะที่ หลายคนใช้เบบี้ออยล์ผสมน้ำให้ลูกแช่ แต่ความจริงช่วยได้เพียงเล็กน้อย แนะนำให้ใช้โลชั่นจะดีกว่า หากอาการค่อนข้างเยอะ ต้องรักษาโดยมียาทาทั้งกลุ่มสเตียรอยด์ และไม่มีสเตียรอยด์ แต่มีส่วนน้อยที่รักษาด้วยการทายาแล้วไม่ดีขึ้น อาจจะต้องทานยา หรือใช้ยาฉีด โดยให้ในคนที่รุนแรงและไม่สามารถควบคุมโรคได้

160028268916

  • ใช้ยาสเตียรอยด์ตามคำแนะนำของแพทย์

 

สำหรับความกังวลของผู้ป่วยเกี่ยวกับการใช้ยาสเตียรอยด์นั้น "ผศ.นพ.เทอดพงศ์ เต็มภาคย์" อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนังเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า สเตียรอยด์ เป็นยาชนิดแรกที่แพทย์ เลือกใช้ เพราะคุณภาพดี ราคาถูก แต่ต้องเลือกให้เหมาะสม ทั้งความเข้มข้น บริเวณที่ทา และอายุ เพื่อลดอาการแดงอักเสบ แต่ไม่แก้ต้นเหตุ เพราะเป็นโรคที่มาจากโครงสร้างผิวหนังไม่สมบูรณ์ ดังนั้น ยาแต้มจึงเป็นการรักษาปลายเหตุ ต้องใช้ในเมื่อจำเป็น หายต้องเลิก อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์มักไม่มีปัญหา

 

ทั้งนี้ ข้อเสียของการใช้ยาสเตียรอยด์ มีหลายรูปแบบ คือ ทาแล้วด่าง ขนขึ้น ผิวหนังฝ่อ ผิวหนังปริแตก ฯลฯ ดังนั้น ต้องใช้ด้วยความเข้มข้นที่เหมาะสม หากอาบน้ำ ทายาเหมาะสม มักจะหายไม่เกิน 1-2 สัปดาห์ หากไม่ดีขึ้นต้องประเมินอีกรอบ เพื่อดูว่าอะไรเป็นปัจจัยกระตุ้น หรือความเข้มข้นของยา แต่ด้วยหลักการไม่เกิน 1-2 สัปดาห์

160028268957

 

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษา เรื่องการใช้จุลินทรีย์สุขภาพ ในหญิงตั้งครรภ์ จนหลังคลอด พบว่า ได้ผลในแค่บางสายพันธุ์เท่านั้น ซึ่งมีความแตกต่างกันของข้อมูล ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน

 

“ขณะที่ คุณแม่หลายคน มักใช้แป้งทาเพราะคิดว่าสามารถลดอาการระคายเคือง แต่ความจริงไม่แนะนำ เพราะอาจทำให้ปอดอักเสบจากสารเคมี แต่หากทาแล้วต้องล้างให้สะอาด โดยเฉพาะบริเวณข้อพับ ขณะที่เด็กผู้หญิงไม่แนะนำให้ทาอวัยวะเพศ เพราะเสี่ยงโรคมะเร็งรังไข่เพิ่มมากขึ้น หากใช้ ต้องล้างออกให้หมด”  ผศ.นพ.เทอดพงศ์ อธิบาย