รัฐระดมสมอง ต้องนำไปปฏิบัติ

รัฐระดมสมอง ต้องนำไปปฏิบัติ

นอกจากมาตรการที่ออกมาช่วยเหลือประชาชนแล้ว รัฐบาลยังเปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มได้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนประเทศ เช่นเมื่อเร็วๆ นี้ได้เชิญนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรต่างๆ มาแลกเปลี่ยน แต่สิ่งสำคัญคือข้อมูลในการนำเสนอจะเป็นประโยชน์ก็ต่อเมื่อนำไปปฏิบัติเป็นรูปธรรม

การประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบศ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบใช้วงเงิน 5.1 หมื่นล้านบาท ดำเนินมาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ด้วยการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและประชาชนทั่วไปรวม 24 ล้านคน ใช้งบประมาณจากเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในกรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาท กำหนดเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันอังคารที่ 22 ก.ย.นี้ ก่อนเปิดให้ประชาชนที่ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เริ่มลงทะเบียนเข้าโครงการในวันที่ 16 ต.ค.2563

การดำเนินการครั้งนี้แม้จะเป็นการแจกเงินเพื่อไปใช้จ่าย ไม่ใช่ลงทุนหรือสร้างงาน แต่ก็ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท เพิ่มสภาพคล่องในระบบ ปั๊มหัวใจไม่ให้เศรษฐกิจแน่นิ่ง นอกจากประชาชนและกลุ่มผู้มีรายได้น้อยจะได้ประโยชน์ ร้านค้ารายย่อยคือกลุ่มเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการดูแล ศบศ.จึงกำหนดเงื่อนไขไม่ให้ร้านค้าที่เป็นนิติบุคคล แฟรนไชส์ รวมทั้งร้านสะดวกซื้อเข้าโครงการนี้

วันเดียวกันยังมีเหตุการณ์ที่น่าสนใจ แสดงให้เห็นถึงการเปิดใจกว้างให้คนทุกกลุ่มได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศ นั่นคือการประชุมวานนี้ (16 ก.ย.) ศบศ.ได้เชิญนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรวิจัยอิสระ สถาบันการเงินและมหาวิทยาลัย เข้ามาแลกเปลี่ยนข้อมูล มีการนำเสนอและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ ทั้งนโยบายการเงินการคลัง ระบบภาษี การกระตุ้นการจ้างงาน และการปรับทักษะแรงงาน โดยที่ประชุมมีความเห็นตรงกันหลายเรื่องโดยเฉพาะนโยบายทางด้านการคลัง

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นว่ากระทรวงการคลังสามารถออกมาตรการและโครงการเพิ่มเติมได้อีก ภายใต้โจทย์ทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ตรงจุดหรือเกาให้ถูกที่คัน เราเห็นว่ารัฐบาลต้องนำความเห็นที่ตกผลึกในที่ประชุมครั้งนี้ ไปบรรจุไว้ในนโยบายของประเทศ เพราะเชื่อว่าผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนที่ได้รับเชิญทำการบ้านมาอย่างดี แต่ข้อมูลในการนำเสนอจะเป็นประโยชน์ก็ต่อเมื่อรัฐบาลนำไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม

เราสนับสนุนแนวคิดรัฐบาลที่โฟกัสความช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม หมุนเวียนสลับกันไปให้ทั่วถึงเป็นธรรม ยิ่งการช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อยที่วันนี้ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การใช้งบประมาณทุกบาททุกสตางค์ต้องมีความหมาย รัฐบาลต้องมุ่งไปที่การสร้างอาชีพ การลงทุนที่งอกเงย สนับสนุนให้ภาคธุรกิจไม่เอาเปรียบคนตัวเล็ก ไม่เพียงสร้างระบบเศรษฐกิจที่มั่นคง แต่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในระยะยาว นอกจากนี้ การดำเนินมาตรการที่รวดเร็วและทันเหตุการณ์คือเรื่องใหญ่ ไม่ใช่เพราะคนไทยกำลังจะอดตาย แต่ความล่าช้าในการเบิกจ่ายใช้เงิน เนื่องจากการทำงานที่ขาดประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่รัฐ จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน