'ฝ่ายค้าน' รุมชำแหละงบสำนักนายกฯ ซ้ำซ้อนหลายหน่วยงาน

'ฝ่ายค้าน' รุมชำแหละงบสำนักนายกฯ ซ้ำซ้อนหลายหน่วยงาน

"ฝ่ายค้าน" รุมชำแหละงบสำนักนายกฯ ซ้ำซ้อนหลายหน่วยงาน-ไม่มีใช้จ่ายจริง ในปีที่ผ่านมา ย้ำแผนงานสำนักนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมาล้มเหลวหลายด้าน

นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปราย มาตรา 7 งบประมาณสำนักนายกรัฐมนตรีลงไป 5% โดยยกตัวอย่างงบประมาณบางรายการที่สามารถลดลงได้ เช่น สำนักเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรีมีงบประมาณประชาสัมพันธ์ มีงบประมาณทำไลน์ ออฟฟิสเชียล 7,500,000 บาท ต้องการส่งข้อความที่มากเกินไปเพื่อให้ถึงประชาชนที่แอดไลน์ไทยคู่ฟ้ากว่า 4,700,000 คน แบ่งเป็น 4 ไตรมาส รวม 1,140 ข้อความ เทียบกับค่าบริการของไลน์ ถ้าสมัครแบบโปรอยู่ที่เดือนละ 1,500 บาท แต่ถ้าเทียบกับงบประมาณของสำนักนายกฯ เดือนละ 625,000 บาทต่อเดือน คิดตามค่าบริการของไลน์คือจะส่งข้อความได้ถึง 175 ล้านคน ซึ่งความจริงสามารถปรับลดราคาได้มาก, อีกส่วนหนึ่งคือ กอ.รมน. งบประมาณ 9,000 ล้านบาท

ส่วนใหญ่อยู่ที่งบกำลังพล ทั้งที่มีงบประมาณบุคลากรอยู่แล้ว 80 ล้านบาท แต่กลับใช้เพิ่มในส่วนนี้อีก 4,000 ล้านบาทเพื่อจ่ายเงินให้ทหาร แล้วจุดประสงค์ในการตั้ง กอ.รมน. คือเสริมสร้างความตระหนักรู้สถาบันหลักของชาติในเยาวชน ทั้งที่กระทรวงศึกษาธิการก็น่าจะทำภารกิจนี้ได้ อีกทั้งยังมีโครงการแก้ปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองกลุ่มเฉพาะ ทั้งที่มี ตม.

นอกจากนี้ยังมีโครงการแก้ไขปัญหาปฏิบัติการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา แล้วจะมีกรมทรัพย์สิทนทางปัญญาไว้ทำไม และการพัฒนาเครือข่ายมวลชนเฝ้าระวังการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งที่กระทรวง DES ก็มีอาสา DE ซึ่งเป้าหมายคือให้ประชาชนเข้าใจบทบาทของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งไม่ตรงกับชื่อของเครือข่าว, การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทั้งที่มี ปภ. อยู่แล้ว

แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดกรอบการทำงานด้านมวลชนของ กอ.รมน. ตนไม่เข้าใจว่าโครงการนี้เป็นเรื่องของการรวมพลังมวลชนหรือไม่ เพราะไม่สอดคล้องกับชื่อ นอกจากนี้ยังมีการผลิตสื่อโทรทัศน์ อยู่ที่ 17,250,000 บาท ต่องาน ซึ่งตนคิดว่าสามารถปรับลดงบประมาณลงมาได้ แต่ของ กอ.รมน. สามารถลดขนาด หรือไม่ก็ควรยุบหน่วยงานของกระทรวงต่างๆ ที่ทับซ้อนออกไป


ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย เสนอปรับลด 10% เนื่องจากหน่วยงานนี้ประสิทธิภาพในการทานยังไม่เห็นผล ได้แก่ การปฏิรูปประเทศ เช่น การปฏิรูปตำรวจล้มเหลว โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้าย บุคลากรตำรวจบางคนได้เลื่อนตำแหน่งทั้งที่ความอาวุโสในการรับราชการยังไม่ถึง หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้มาแล้ว 3 ปีแต่ยังไม่เห็นผล, การปฏิรูปการศึกษา จะเห็นชัดเจนว่าการศึกษาไทยยังไม่ไปถึงไหน ยังมีความเหลื่อมล้ำในการเรียนมัธยมยังไม่ตอบโจทย์การสอบเข้ามหาวิทยาลัย

ยุทธศาสตร์ชาติ เขียนไม่ทันสถานการณ์โควิด ไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ทั้งที่มีสถาพัฒน์ฯ ยังไม่มีการปรับแก้ยุทธศาสตร์ชาติ, ความปรองดอง เห็นชัดเจนว่ารัฐบาลไม่สามารถสร้างให้เกิดขึ้นในประเทศ เกิดจากการบริหารที่ขาดตกบกพร่อง ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ บุคลากรบางส่วนเข้าถึงทรัพยากรได้ บางกลุ่มเข้าถึงไม่ได้ เห็นได้จาก การชุมนุมของนักศึกษา และการชุมนุมเรียกร้องราคาพืชผลการเกษตร, และการจัดการน้ำ การจัดสรรงบประมาณแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างไม่เป็นธรรม ในจังหวัดเดียวกัน บางอำเภอได้ บางอำเภอไม่ได้ เป็นต้น

160026776280

ขณะที่นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ เสนอปรับลดงบประมาณ 10% โดยเน้นที่ พ.ร.บ.เงินกู้ 4 แสนล้านบาท โดย สภาพัฒน์ฯ เป็นประธานในการกลั่นกรอง และมีระเบียบการใช้จ่ายเงินกู้ให้สภาพัฒน์จัดทำกรอบนโยบายในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศด้วย

ซึ่งตั้งแต่ลงพระราชกิจจานุเบกษารวมแล้ว 150 วัน มีโครงการเสนอเข้ามากว่าสี่หมื่นโครงการ แต่ยังเหลือเงินที่ยังไม่อนุมัติกว่าอีกสามแสนล้านบาท และเบิกจ่ายไปได้เพียงกว่าหนึ่งพันล้านบาท ทั้งที่ต้องเร่งใช้จ่าย แต่ผ่านไป 5 เดือน อนุมัติไปได้เพียง 45,000 ล้านบาท เพราะเหตุผลว่าโครงการมีปัญหาไม่เข้าเงื่อนไขตามท้าย พ.ร.ก. และไม่เข้ากรอบที่กำหนด สภาพัฒน์ทำตัวเป็นอาจารย์ตรวจข้อสอบ โครงการไม่ผ่านตีกลับ

จึงไม่แปลกว่าทำไมตอนนี้คนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ยังเดือดร้อน เพราะโครงการยังไม่เกิด อีกทั้งในการศึกษาของสภาพัฒน์บอกว่าโครงการเหล่านี้จะจ้างงานได้กว่าแสนคน ทั้งที่มีคนตกงานหลายล้านคน ตนฝากไปถึงรัฐบาลว่าถ้าเหตุการณ์ยังเป็นแบบนี้รัฐบาลต้องตัดสินใจเรื่องการเบิกจ่ายและการตัดสินใจอนุมัติโครงการ ไม่เช่นนั้นสิ้นปีนี้คนได้รับผลกระทบจะอยู่ไม่ได้

น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงงบประมาณพิมพ์ใบประกาศนียบัตร ของบเข้ามาปีละ 9,000,000 บาท และการสร้างซ่อมเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปี 2561 ใช้จ่ายเงิน 515 ล้านบาท ปี 2562 ใช้จ่ายเงิน 131 ล้านบาท

แต่มีข้อสังเกตคือการเบิกจ่ายเงินจริงของทั้งสองปี คือ 646 ล้านบาท ในขณะที่เอกสารประกอบการชี้แจงกลับระบุว่าปีดังกล่าวไม่มีการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และในปีนี้หน่วยงานรับงบมีการตั้งงบมาอีกครั้ง ตนจึงตั้งคำถามว่าจะมีการพระนราชทานจริงหรือไม่ ถ้าไม่มีขอให้ตัดงบออกไปก่อน  ค่าใช้จ่ายในการส่งกำลังบำรุงม้าทรงประจำพระองค์ 1,825,000 บาท

ขณะที่ซ้ำซ้อนกับงบประมาณกองทัพบก และสำนักราชเลขานุการประจำพระองค์ที่ถวายงานเรื่องการทรงม้าอยู่แล้ว, ค่าซ่อมเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง 1,969,441,400 บาท เป็นงบประมาณที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานที่ดูแลอยู่แล้ว และมีการเพิ่มงบประมาณขึ้นเรื่อยๆ ปีละ 13% ตนจึงตั้งข้อสังเกตว่างบประมาณเหล่านี้อาจจะมีความซ้ำซ้อนและมีการตั้งข้อสงสัยของประชาชนได้ ตนคิดว่าหน่วยงานรับงบควรทำให้โปร่งใสตรวจสอบได้ เพื่อป้องกันไม่ให้คนที่ไม่หวังดีเอาไปหาผลประโยชน์แอบอ้างให้เสื่อมเสียพระเกียรติ

ดังนั้นจึงควรแจกแจงงบประมาณให้เหมือนกับหน่วยรับงบประมาณอื่นๆ ตนไม่ได้ทำเกินหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ และไม่ต้องการให้คนเอางบประมาณนี้มาแอบอ้างทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ


ทั้งนี้ที่ประชุมเห็นชอบตามที่กรรมาธิการเสนอ ด้วยคะแนนเสียง 256 ต่อ 87 งดออกเสียง 31 ไม่ลงคะแนน 2