‘3เอสอี’ แชร์ทางรอด 'ปรับโมเดล-แตกไลน์ธุรกิจ' ยุคเนเวอร์นอร์มอล

‘3เอสอี’ แชร์ทางรอด 'ปรับโมเดล-แตกไลน์ธุรกิจ' ยุคเนเวอร์นอร์มอล

เปิดคลังความรู้จาก 3 เจ้าของกิจกรรมเพื่อสังคมระดับแถวหน้า ร่วมแชร์ประสบการณ์ตรงฝ่าฟันวิกฤติโควิด-19 พร้อม“ฮาวทู”บทเรียนครั้งใหม่ที่ปรับใช้ได้จริง พลิกวิกฤติเป็นโอกาส มองหาช่องทางปรับเพื่อ“รอด”เปลี่ยนเพื่อ “สู้” ต่อยอดกิจการเพื่อสังคมยุคเนเวอร์นอร์มอล

เวทีสัมมนาออนไลน์ในโครงการ UpImpact by Banpu Champions for Change เติมพลังขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคมในยุค Never Normal หัวข้อ “เปลี่ยนเพื่อสู้ ปรับเพื่อรอด ต่อยอด SE” มีวัตถุประสงค์เพื่อจุดประกายไอเดียให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพสามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส หลังเผชิญความท้าทายท่ามกลางสมรภูมิโควิดภิวัฒน์

เปลี่ยนให้เป็น จะเห็นโอกาส

สมศักดิ์ บุญคำ ผู้ก่อตั้งบริษัท โลเคิล อไลค์ จำกัด (Local Alike) กิจการเพื่อสังคมด้านการท่องเที่ยวยั่งยืน  กล่าวว่า บริษัทเปิดให้บริการได้ประมาณ 7 ปี โดยนำนักท่องเที่ยวเข้าไปเรียนรู้และท่องเที่ยวในชุมชน มีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ ใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน แต่หลังจากเกิดวิกฤติครั้งนี้ส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวกลายเป็นศูนย์ จึงเกิดการระดมความคิดผ่านกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) 


160026387387

"สินทรัพย์ในมือของเราคือ “ความรู้ที่ทำงานร่วมกับชุมชน” จึงปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจจากเดิมที่เป็นการเที่ยวชุมชนและการพาชุมชนมาปรุงอาหารให้นักท่องเที่ยว ก็ถูกพับแผนกะทันหันแล้วพลิกโมเดลสู่ “โลเคิล อร่อย” (Local Aroi) ส่งความอร่อยจากท้องถิ่นถึงบ้าน โดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นนั้นๆ พร้อมกันนนี้ยังเปิดตัว “Local A lot” ขายสินค้าชุมชน

จุดเด่นที่ทำให้ประสบความสำเร็จ คือ การร่วมระดมสมอง ทดลองไอเดียที่ได้จาก Design Thinking พร้อมกับการตั้งหลักที่มั่นคงขององค์กร และบทบาทของผู้นำองค์กรในการกระตุ้นศักยภาพทีมงาน จะสามารถปลุกความเชื่อมั่นของชุมชนก้าวข้ามคอมฟอร์ตโซนได้ ประกอบกับการมองภาพในระยะยาวที่จะต้องอาศัยการผนึกกำลังของพันธมิตรอย่างภาครัฐ 

160026389394

“ในฐานะ SE จะต้องประสานกับทุกภาคส่วน เอาตัวเองไปเป็นซัพพลายเออร์ให้ภาครัฐมากที่สุด ถ้าเราไปผนึกกับกระทรวงหรือหน่วยงานที่แก้ปัญหาในสิ่งเดียวกันจะทำให้เกิดทางรอดทางหนึ่ง และสามารถดำเนินการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเราคือโซลูชั่นของเขา อีกทั้งไม่ลืมที่จะตั้งเป้าตัวชี้วัดความสำเร็จ (OKR) เช่น 1.ทีมต้องรอด 2.ชุมชนต้องรอด และ 3.ไม่มีใครถูกลดเงินเดือนหรือถูกเลิกจ้าง ก็จะทำให้สถานการณ์ภายในกลับมาเป็นปกติและยังคงเดินหน้าต่อไปได้”

จากโฮสเทลสู่แชริ่งบิซิเนส

ศานนท์ หวังสร้างบุญ ผู้ร่วมก่อตั้ง Locall Once again เดลิเวอรี่ช่วยร้านชุมชนประตูผีที่เข้าไม่ถึงแอพพลิเคชั่น กล่าวว่า ‘Once Again Hostel’ เป็นเสมือนฐานทัพ ที่มีเป้าหมายหลักในการพัฒนาเมืองอย่างมีส่วนร่วม ภายใต้แนวคิด inclusive business หรือการทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับชุมชนที่มีแกนธุรกิจชัด ส่วนอีกกลุ่มคือการทำงานด้านพัฒนาเมืองซึ่งเป็นการทำงานเชิงรุกอย่าง Trawell Thailand และ Mayday

160026391264

แต่เมื่อประสบกับสถานการณ์โควิด-19 กลุ่มเชิงรุกมีงานที่ตกค้างจากก่อนโควิด ที่ร่วมกับเอกชนและภาครัฐที่สามารถยังเดินต่อได้ แต่กลุ่มแรก หลังจากนักท่องเที่ยวหดหายและผู้คนเริ่มกักตัวอยู่บ้าน ส่งผลให้กิจการที่พักต้องปิดตัวลงชั่วคราว จึงเกิดการมองหาธุรกิจอื่นๆ ที่สามารถเข้ามาช่วยพยุงกลุ่มคน 3 กลุ่มคือ 1.กิจการเพื่อสังคม 2.ร้านค้า ร้านอาหารในชุมชน และ 3.คนที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการหรือตกงาน ดังนั้น Locall.bkk (โล-คอล) ซึ่งคล้ายกับการยกหูโทรสั่งอาหาร จึงถือกำเนิดขึ้น

“เราอาสาเป็นตัวกลางที่ทำให้ร้านในย่านประตูผี-เสาชิงช้ายังคงมีรายได้ โดยที่พวกเขาไม่ต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง แต่ใช้วิธีให้ลูกค้าเลือกเมนูร้าน Local สั่งอาหาร จ่ายเงิน จัดการขั้นตอนทั้งหมดผ่านไลน์ออฟฟิศเชียล และชำระเงินผ่าน QR Code ปัจจุบันมีร้านค้าจากประตูผี-เสาชิงช้า ทั้งหมด 20 ร้าน รวมกว่า 300 เมนู และมีการขยายพื้นที่จัดส่งไปอีก 16 พื้นที่ เช่น บางพลัด สาทร ปทุมวันและราชเทวี"

160026394346

SE ต้องเข้าถึงสภาพปัญหา

ศานนท์ กล่าวเสริมว่า วิธีการทำงานของแพลตฟอร์มส่งอาหารโลคอล เริ่มต้นที่โฮสเทลเป็นคนทำหน้าที่ประสานงาน เมื่อกลุ่มร้านค้าทำอาหารตามออเดอร์ที่เข้ามาก็จะส่งให้กับโฮสเทล หรือแจ้งทางโฮสเทลให้เข้าไปรับสินค้า และจัดการคนส่งอาหารให้ไปตามจุดต่างๆ ส่วนมากจะเป็นวินมอเตอร์ไซค์ที่ได้รับผลกระทบในย่านนั้นๆ โดยทางโฮสเทลจะดูแลระบบออนไลน์หลังบ้านทั้งหมด ซึ่งมีค่าบริหารจัดการเพียง 15%

“เราใช้เวลาเพียง 7 วันหลังจากมีการล็อกดาวน์ในการจัดวางระบบต่างๆ เหตุที่ทำได้เร็วเพราะมีฐานข้อมูลเดิมที่ทำงานร่วมกับคนในพื้นที่ ถือว่าช่วงโควิดได้รับผลตอบรับที่ดีมาก โดยแพลตฟอร์มของเรามีทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และสระบุรี มีย่านทั้งหมด 12 ย่าน ซึ่งกว่า 70% เป็นแพลตฟอร์มสตรีทฟู้ดที่ไม่เคยเข้าเดลิเวอรี่ แต่เมื่อช่วงนี้สถานการณ์คลี่คลายวิถีชีวิตเข้าสู่ยุค Never Normal เดลิเวอรี่จึงกลายเป็นทางเลือกรองเราจึงต้องปรับตัวทำเป็นธุรกิจจัดเลี้ยง”

160026400152

ทั้งนี้ ศานนท์มีข้อแนะนำให้กับผู้ประกอบการที่สนใจจะเริ่มต้นธุรกิจ SE ต้องเริ่มจากการ “อิน” กับปัญหาที่ต้องการจะแก้ไข เพื่อให้เกิดเป็นแพชชั่นที่จะช่วยให้สิ่งนั้นดีขึ้น อีกทั้งความพยายามแก้ไขปัญหาจะไม่ลดลง และเมื่อประสบกับวิกฤติต่างๆ ที่ไม่คาดคิดก็จะมี “ตัวแปร” ที่จะทำให้โมเดลธุรกิจขับเคลื่อนต่อไปได้ ประกอบกับการนำโซเชียลมีเดียมาช่วยสร้างการรับรู้ ก็จะเป็นการเบิกทางเข้าถึงการบริโภคได้ง่ายขึ้น นำไปสู่ “ความยั่งยืน” ของกิจการเพื่อสังคมเช่นกัน

Moreloop ชุบชีวิตเศษผ้าให้มีค่า

อมรพล หุวะนันทน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Moreloop สตาร์ทอัพรับซื้อผ้าสต็อกด้วยแพลตฟอร์มที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เป็นอีกหนึ่ง SE ที่ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ในงานดังกล่าว กล่าวว่า เมื่อ “ผ้า” คือขยะอุตสาหกรรมอันดับ 2 ของโลกจึงเกิดไอเดียที่จะแก้ปัญหาเศษผ้าจากโรงงาน โดยการสร้างตลาดผ้าออนไลน์หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ผ่าน 2 โมเดลคือ 1.ขายผ้าเป็นวัตถุดิบ 2.Upcycle ยกระดับผลิตภัณฑ์ด้วยดีไซน์แต่วิกฤติโควิดส่งผลให้การดำเนินงานหยุดชะงัก

160026402779

เราต้องเข้าใจว่าโลกหมุนเปลี่ยนไปแล้ว ต้องปรับตัวให้เร็ว ปรับความคิดใหม่ และหาความรู้เพิ่มเติม ลองอะไรใหม่ๆ ให้เร็วที่สุด ฉะนั้น สิ่งสำคัญในการทำธุรกิจให้เติบโตและอยู่รอดในยุคนี้ คือ เข้าใจและปรับตัวให้ทันโลกจึงพลิกโมเดลธุรกิจเจาะกลุ่ม B2C มากขึ้น นำวัตถุดิบจากโรงงานที่ผลิตชุด PPE มาทำผลิตภัณฑ์ป้องกันส่วนบุคคลสำหรับภาคประชาชน ที่ผสมผสานกับดีไซน์ทันสมัย”

การที่จะลงมือทำธุรกิจ SE ให้ประสบความสำเร็จมีหลักการดังนี้คือ เราต้องมีความมุ่งมั่น ความอดทน และทางผู้ประกอบการต้องมีคือ EQ ที่จะต้องสร้างช่องทางให้หลากหลายในการสื่อสารเพราะทฤษฎีการเข้าใจคนจะคงอยู่ตลอดไป พร้อมกับขยายโมเดลเจาะกลุ่มลูกค้าอื่นๆ เพิ่มขึ้น

160026405265