หุ้นBBLดิ่งพิษระดมทุน นักลงทุนผวาหนี้เสีย

หุ้นBBLดิ่งพิษระดมทุน นักลงทุนผวาหนี้เสีย

นักลงทุนแห่ขายหุ้น “แบงก์กรุงเทพ” กังวลหนี้เสียพุ่ง หลังออกขาย “หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์” เสริมฐานทุน ฉุดราคาหุ้นรูด 3.38% ด้าน โบรกเกอร์ ยันไร้กังวล เชื่อระดมทุนเพื่อเพิ่มระดับ “เทียร์1”หวังจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น

ด้าน “ทรีนีตี้” คาด NPL เพิ่มแตะ 7-8% หลังหมดมาตรการพักหนี้ กดดันผลดำเนินงานครึ่งปีหลังดิ่ง 42% ขณะ “กสิกรไทย”ระงับการขายหุ้นคืน เตรียมเปลี่ยนไปลดทุนจดทะเบียนแทน

ธนาคารกรุงเทพ(BBL) ได้ออกตราสารที่นับเป็นเงินกองทุนขั้นที่1 หรือ (Additional Tier1) ในรูปแบบ หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน (Perpetual Bond) หรือ “หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์” มูลค่า 750 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 5% โดย BBL ไม่สามารถไถ่ถอนตราสารดังกล่าวได้จนกว่าจะผ่านไป 5 ปี ซึ่งเป็นการออกภายใต้โครงการ Global medium term note โดยโครงการนี้มีวงเงินในการออกรวม 7 พันล้านดอลลาร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

ข่าวดังกล่าวสร้างแรงกดดันต่อหุ้น BBL โดยราคาหุ้นวานนี้(16ก.ย.) ปิดตลาดที่ 100 บาท ลดลง 3.50 บาท หรือ 3.38% มูลค่าการซื้อขายรวม 1,469 ล้านบาท ซึ่งแรงขายที่ออกมาในหุ้น BBL ยังกดดันหุ้นกลุ่มแบงก์อื่นๆ ปรับลดลงด้วย โดยหุ้นธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ปิดตลาดลดลง 1.54% หุ้น ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) ลดลง 1.79% หุ้นธนาคารกรุงไทย(KTB) ลดลง 2.13% 

นายภาสกร ลินมณีโชติ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)กสิกรไทย เปิดเผยว่า แผนออกหุ้นกู้ดังกล่าวโดยหลักไม่น่าจะเป็นผลจากเรื่องของหนี้เสีย (NPL) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่เป็นประเด็นของ BBL ที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนเงินทุนสำรอง Tier 1 โดยก่อนหน้านี้สัดส่วนของ BBL อยู่ที่ราว 16-17% ปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ราว 14% และหากบริษัทต้องการให้ตัวเลขดังกล่าวกลับมาที่ระดับเดิม อาจจะต้องลดเงินปันผลลงมา

“ด้วยมูลค่าหุ้นกู้ดังกล่าวน่าจะช่วยดึงสัดส่วนเงิน Tier 1 ให้เพิ่มขึ้นประมาณ 1% และเมื่อครบ 5 ปี คาดว่าบริษัทจะใช้สิทธิไถ่ถอน เนื่องจากต้นทุนที่ค่อนข้างสูง และในเวลานั้นก็คาดว่าระดับเงิน Tier 1 โดยไม่รวมส่วนของหุ้นกู้นี้น่าจะกลับไปสู่ระดับ 16% ได้ และที่สำคัญ BBL คงไม่อยากลดเงินปันผลลง เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วผู้ถือหุ้นของ BBL ต้องการถือเพื่อรับเงินปันผล”

สำหรับต้นทุนการออกหุ้นกู้ที่ 5% มองว่าเป็นระดับที่ไม่ได้สูงนัก หากพิจารณาเทียบกับการออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ในประเทศไทยซึ่งน่าจะต้องให้ผลตอบแทนในระดับ 8-9% ส่วนราคาหุ้นที่ลดลง 2-3% น่าจะเป็นผลจากประเด็นนี้ด้วย เพราะถือเป็นการใช้ตราสารผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งโดยปกติแล้วมักจะออกหุ้นกู้เพื่อสนับสนุนการเติบโต มากกว่าจะใช้เป็นเงินทุนสำรอง

“โดยภาพรวมแล้วประเด็นการออกหุ้นกู้ของ BBL ไม่น่ากังวลแต่อย่างใด ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตามคือ สถานการณ์หลังจากหมดมาตรการพักชำระหนี้ ซึ่งจะทำให้ NPL ในระบบสูงขึ้น ในเบื้องต้นมองว่าแต่ละแบงก์อาจจะออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมเอง หากไม่ได้มีการยืดอายุมาตรการช่วยเหลือออกไป”

ทั้งนี้ หากพิจารณาโดยภาพรวม จะเห็นว่าราคาหุ้นกลุ่มแบงก์วานนี้ (16 ก.ย.) โดยเฉพาะแบงก์ใหญ่ส่วนมากอ่อนตัวลง โดย BBL ลดลง 2.9% บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ลดลง 1.4% บมจ.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ลดลง 1.2% และบมจ.ธนาคารกรุงไทย (KTB) ลดลง 2.6%

นายธนภัทร ฉัตรเสถียร ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ มองว่า การปรับตัวลงของหุ้นแบงก์ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลดลงตามหุ้นแบงก์ต่างประเทศ จากความกังวลในเรื่องของผลประกอบการช่วงครึ่งปีหลังมากกว่า ส่วนการออกหุ้นกู้ของ BBL โดยส่วนตัวมองว่าไม่ได้เป็นประเด็นลบแต่อย่างใด เพราะการออกหุ้นกู้ดังกล่าวจะช่วยเพิ่มเงินสำรอง Tier 1 และทำให้อัตราส่วนเงินกองทุนสุทธิเทียบสินทรัพย์เสี่ยง (CAR) เพิ่มขึ้น

“ส่วนประเด็นของดอกเบี้ยจ่ายที่ระดับ 5% ซึ่งสูงกว่าต้นทุนของเงินทุนโดยเฉลี่ยของ BBL ในปัจจุบัน จะไม่กระทบกับส่วนของงบกำไรขาดทุน เพราะการออกหุ้นกู้แบบ Perpetual Bond จะกระทบส่วนของผู้ถือหุ้นแทน”

สำหรับความกังวลในเรื่องของ NPL หลังจากหมดมาตรการพักชำระหนี้ เราประเมินว่า NPL โดยภาพรวมน่าจะเพิ่มไปถึงระดับ 7-8% เมื่อแบงก์เริ่มกลับมาจัดชั้นลูกหนี้ตามความเป็นจริงมากขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อกำไรของกลุ่มแบงก์ในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ด้วยระดับเงินกองทุนสำรองส่วนเกิน น่าจะช่วยให้แบงก์ยังสามารถบริหารจัดการได้อยู่ และแบงก์น่าจะมีการออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมด้วย อย่างไรก็ตาม หากตัวเลข NPL พุ่งขึ้นไปเกินกว่า 10% หรือ 20% อาจจะทำให้แบงก์เริ่มมีปัญหาในส่วนของเงินทุนสำรอง

ด้าน บล.ยูโอบีเคย์เฮียน ระบุว่า คุณภาพยอดโอนที่ด้อยลงเป็นปัจจัยที่กดดันหุ้นกลุ่มธนาคารแม้ราคาหุ้นในเชิงมูลค่าอยู่ในจุดที่ค่อนข้างถูก โดยราคาหุ้นปรับตัวลง 32 - 46% จากต้นปี 2563 สะท้อนตัวเลขกำไรสุทธิที่อ่อนแอและยอด NPL ที่เพิ่มสูงขึ้น 

ทั้งนี้ คาดว่ากำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารในช่วงครึ่งปีหลังจะหดตัวลง 42% จากปีก่อน และหดตัวลง 27% จากครึ่งปีแรก ซึ่งจะฉุดให้กำไรทั้งปีลดลง 34.5% จากปีก่อน ก่อนที่ปีหน้าคาดว่าจะฟื้นตัว 5%

ฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส ระบุว่า การออก Perpetual Bond ของ BBL ทำให้ Tier1 เพิ่มขึ้น 0.9% มาอยู่ที่ 14.8% และ CAR เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 17.4% ส่วนภาระดอกเบี้ยจ่ายจะถูกบันทึกในส่วนของผู้ถือหุ้น จึงไม่กระทบต่องบกำไรขาดทุน แต่คาดว่า อาจส่งผลให้เงินปันผลต่อหุ้นลดลง เนื่องจากกำไรบางส่วนถูกนำไปจ่ายดอกเบี้ยให้กับ Perpetual Bond

บล.เอเซียพลัส ยัง “คง ”น้ำหนักการลงทุนในหุ้น BBL “น้อยกว่าตลาด” ตามแนวโน้มคุณภาพสินทรัพย์ที่ยังมีความเสี่ยงมากพอสมควร

ธนาคารกสิกรไทย แจ้งว่า กรณีที่ธนาคารได้ทำโครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงินจำนวน 23,932,600 หุ้น คิดเป็น 1%ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของธนาคาร โดยมีระยะเวลาขายหุ้นที่ซื้อคืน ระหว่างวันที่ 31 ส.ค.-16 ก.ย.นั้น  ขณะนี้ได้ครบกำหนดระยะเวลาการขายหุ้นที่ซื้อคืนแล้ว โดยธนาคารมีจำนวนหุ้นที่ซื้อคืนยังไม่ขาย จำนวน 23,932,600 หุ้น ซึ่งธนาคาจะดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อลดทุนชำระแล้ว โดยตัดหุ้นที่ซื้อคืน