ศาลรับคดีปราศรัยล้มล้างฯ ตร.ระดม 9 พันคุมม็อบ 9 ก.ย.

ศาลรับคดีปราศรัยล้มล้างฯ ตร.ระดม 9 พันคุมม็อบ 9 ก.ย.

ศาล รธน. รับคำร้อง “อานนท์-ภานุพงศ์-ปนัสยา” ปราศรัยล้มล้างการปกครอง ให้แจงภายใน 15 วัน ด้านรัฐบาล-ฝ่ายความมั่นคงถกรับมือม็อบ 19 ก.ย. ขณะที่ ตร.ระดม “นครบาล-ภูธร-ตชด.” 9,000 นาย ขอกองร้อยควบคุมฝูงชนพร้อมอุปกรณ์ประจำกาย บช.น.ใช้แผน “กรกฎ52” คุม

สถานการณ์ก่อนการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มนักศึกษา แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ในวันที่ 19 ก.ย.2563 ที่นัดหมายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ท่าพระจันทร์ ปรากฏว่า วานนี้ (16 ก.ย.) ศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับคำร้องกรณี 3 แกนนำปราศรัยในเวทีชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค.2563 ที่มธ. ศูนย์รังสิต ว่าเข้าข่ายเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ หรือไม่

โดยศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งรับคำร้องของนายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 เฉพาะในส่วนที่กล่าวหาการกระทำของนายอานนท์ นำภานายภานุพงศ์ จาดนอก และนางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ที่ขึ้นเวทีปราศรัยในการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค.2563 เข้าข่ายเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และขอให้มีคำสั่งให้คณะบุคคลดังกล่าวเลิกการกระทำดังกล่าวได้ ไว้พิจารณาวินิจฉัย

โดยมีคำสั่งให้แจ้งนายณฐพร ผู้ร้องทราบและส่งสำเนาคำร้องให้กับผู้ถูกร้องทั้งสาม เพื่อยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหามายังศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง รวมทั้งมีคำสั่งให้อัยการสูงสุดแจ้งผลการดำเนินการและส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องตามที่นายณฐพร ยื่นร้องเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2563 ต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้กรณีคดีดังกล่าวนายณฐพร ได้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกร้องซึ่งประกอบด้วยคณะบุคคลกลุ่มต่างๆ จัดการชุมนุมปราศรัยเมื่อวันที่ 3, 9, 10, 20, 21, 30 ส.ค.2563 ซึ่งเมื่อวันที่ 18 ส.ค. ตนเองได้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสองแล้ว จึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

รัฐบาล-มั่นคงถกลับรับมือม็อบ19 ก.ย.

วันเดียวกัน นาง​วิสุนี บุนนาค​ ร​องเลขาธิการนายกรัฐมนตรี​ ฝ่ายบริหาร เป็นประธานการประชุมหารือข้อราชการ​ เพื่อซักซ้อมแผนรับมือการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมในวันที่​ 19-20​ ก.ย. โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม​ อาทิ​ สภาความมั่นคงแห่งชาติ​ (สมช.)​ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร​ (กอ.รมน.)​ กองบัญชาการตำรวจนครบาล​ กองบัญชาการตำรวจสันติบาล​ โดยใช้เวลา 1​ ชั่วโมง

โดย​ พล.ต.ต.สุรชาติ​ มณีจักร​ ผู้บังคับการสันติบาล​ 3​ เปิดเผยหลังประชุมว่า​ เป็นการประชุมซักซ้อมแผน​รักษาความปลอดภัย​ และให้ผู้เกี่ยวข้องมาพูดคุยกัน​ เพื่อจะได้รู้บทบาทหน้าที่​ แต่ขอไม่เปิดเผยรายละเอียด​ เพราะถือว่ายังอยู่ในชั้นความลับ​ โดยขณะนี้ยังไม่มีเหตุ หรือสิ่งบ่งบอกที่จะเกิดความรุนแรง

ส่วนที่ผู้ชุมนุมอาจมีการเคลื่อนการชุมนุมมายังทำเนียบรัฐบาล ตอนนี้ยังไม่มีข้อห่วงใยเพราะยังไม่มีสิ่งบอกเหตุว่าการชุมนุมจะเกิดความรุนแรง เบื้องต้นเป็นเพียงการคาดการณ์และเตรียมการ

เมื่อถามว่า เจ้าหน้าที่มีแผนเตรียมการ หากเกิดกรณีความรุนแรงหรือมีมือที่สามอย่างไร พล.ต.ต.สุรชาติ กล่าวว่า ขออนุญาตไม่ตอบ เนื่องจากเป็นแผนในชั้นความลับของการเตรียมการ ยืนยันว่าวันนี้เพียงแค่ให้หน่วยงานที่จะมาร่วมและรับผิดชอบได้มาพูดคุยกันเท่านั้น และเพื่อให้รู้ว่าบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานราชการ จะต้องทำหน้าที่อะไรบ้าง ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง

ทั้งนี้ สำหรับแผนรับมือโดยรอบทำเนียบรัฐบาลนั้น โดยปกติหน่วยงานของทำเนียบรัฐบาล จะมีแผนหลักในเรื่องการรักษาความปลอดภัยอยู่แล้ว รวมถึงแผนของตำรวจนครบาล ที่มีแผนรับมืออยู่แล้วในเรื่องของการชุมนุมต่างๆ

งัดแผนกรกฎ-ตรึงกำลังจุดสำคัญ

ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล(บชน.) พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.)เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา บชน.ได้ระดมกวาดล้างอาวุธต่างๆ ปิดล้อมตรวจค้นสถานที่ต้องสงสัย เนื่องจากเกรงจะมีบุคคลอื่นมาก่อเหตุ ป่วนในพื้นที่ชุมนุม

สำหรับการจัดกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยก็จะพิจารณา ตามสัดส่วนของผู้ร่วมกิจกรรม การจัดกำลังตำรวจเป็นการเตรียมพร้อมในการดูแลความสงบเรียบร้อย ไม่ใช่เพื่อจับกุม หรือปราบปรามผู้ทำกิจกรรม ส่วนแผนการดูแลผู้ชุมนุม ยังยืนยันว่าเป็นแผนกรกฎ 52 เพราะจะนำมาใช้เป็นกรอบในการปฏิบัติให้ตำรวจ ในกรณีที่มีสถานการณ์ต่างๆ ไม่ใช่นำมาใช้ในการชุมนุมประท้วงเพียงอย่างเดียว

ขณะเดียวกัน บชน.ได้ประสานขอกำลังจาก กองบัญชาการตำรวจภูธร (บช.ภ.)ใกล้เคียงมาช่วย โดยเน้นสถานที่หลักๆ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท้องสนามหลวง และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่จะต้องมีการ ตั้งจุดตรวจจุดสกัดเพื่อเป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณรอบพื้นที่การชุมนุม

ตร.ระดม 9,000 นายดูแลม็อบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. มีหนังสือวิทยุในราชการศูนย์ปฏิบัติการตร. เลขที่ 0007.33/160 ลงวันที่ 16 ก.ย.ถึง ผบช.น., ภ.1-8, และ ตชด. ใจความว่า 1.อ้างถึงหนังสือ บช.น. ลง 14 ก.ย.2563 ขอรับการสนับสนุนกองร้อยควบคุมฝูงชน จำนวน 57 กองร้อย จาก ตร. เพื่อปฏิบัติภารกิจการรักษาความปลอดภัยและรักษาความสงบเรียบร้อยการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ในวันที่ 19 ก.ย.63 ตั้งแต่ 14.00 น. เป็นต้นไป ณ มธ.ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ

ทั้งนี้เพื่อให้การดูแลการชุมนุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ และสนับสนุนภารกิจของ บช.น. ตามข้อ 1 จึงให้หน่วยต่างๆ ดำเนินการดังต่อไปนี้

1.ให้หน่วยงานจัดกำลังควบคุมฝูงชนพร้อมเครื่องมืออุปกรณ์ประจำกาย สนับสนุน บช.น. โดยมีบัญชีรายชื่อที่ใช้ยอดกำลังพลดังต่อไปนี้ ตชด. 9 กองร้อย ภ.1 จำนวน 10 กองร้อย ภ.2 จำนวน 7 กองร้อย ภ.3 จำนวน 6 กองร้อย ภ.4 จำนวน 6 กองร้อย ภ.5 จำนวน 1 กองร้อย ภ.6 จำนวน 8 กองร้อย ภ.7 จำนวน 8 กองร้อย และ ภ.8 จำนวน 2 กองร้อย รวมทั้งหมด 57 กองร้อย กว่า 8,550 นาย

2.ให้ บช.น.จัดเตรียมสถานที่สำหรับรองรับดูแล คฝ.ที่สนับสนุนภารกิจและดำเนินการในการจัดกำลังดูแลการชุมนุมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

3.ให้กำลังควบคุมฝูงชนที่สนับสนุน บช.น.รายงานตัวในวันศุกร์ที่ 18 ก.ย.2563 โดยให้สอบถาม เวลา สถานที่ และประสานการปฏิบัติกับ พ.ต.ต.อนันต์ จันทร์ศรี สว.ฝอ.3 บก.อก.บช.น.

4.ให้หน่วยจัดสรรงบเดินทางของหน่วยไปก่อน แล้วแจ้งรายละเอียดมายัง ตร.เพื่อจัดสรรให้ต่อไป

สำหรับหน่วยสนับสนุนกองร้อยควบคุมฝูงชน ที่จะมาร่วมปฏิบัติในวันที่ 19 ก.ย.ประกอบด้วย กก.ตชด.ที่ 11,12,13,14,21,24,31,34 และ บก.สอ. ภ.1 ปทุมธานี สมุทรปราการ ลพบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สระบุรี ภ.2 ตราด ชลบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา จันทบุรี นครนายก ปราจีนบุรี ภ.3 ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ กาฬสินธุ์ ศรีสะเกษ

ภ.4 มหาสารคาม ขอนแก่น ร้อยเอ็ด เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี ภ.5 แพร่ ภ.6 นครสวรรค์ ตาก พิจิตร อุทัยธานี เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ ภ.7 นครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และราชบุรี ภ.8 ชุมพร ระนอง

ถกงบวาระ2กมธ.หั่น1.7หมื่นล้าน

ขณะที่การประชุมสภาฯ ซึ่งพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ พ.ศ.2564 วงเงินไม่เกิน 3.3 ล้านล้านบาท วาระสองและวาระสาม หลังจากที่ กมธ.วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะประธาน กมธ.รายงานผลการพิจารณาตอนหนึ่งว่า กมธ.ได้ปรับลดงบ เพื่อจัดสรรให้กับส่วนราชการตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอตามความเหมาะสมและจำเป็น 17,419 ล้านบาท จัดสรรให้หน่วยงานรัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ และองค์กรอัยการ 509 ล้านบาท ทำให้เหลืองบฯ 2564 รวม 3.28 ล้านล้านบาท

ยืนยันว่า การปรับลดหรือเพิ่ม กมธ.​ให้ความสำคัญกับความพร้อมและศักยภาพของหน่วยงานตามเป้าหมาย ดำเนินการ ภารกิจเพื่อแก้ไขสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 และเพื่อประโยชน์ประชาชน

จากนั้นสมาชิกได้สลับกันอภิปรายโดยมุ่งเน้นไปที่ความคุ้มค่า และความจำเป็นในการจัดสรร