บสย.ห่วง‘หนี้เสีย’เอสเอ็มอี หลังก.ย.ส่อเพิ่ม‘2แสนล้าน’

บสย.ห่วง‘หนี้เสีย’เอสเอ็มอี  หลังก.ย.ส่อเพิ่ม‘2แสนล้าน’

บสย.ประเมินหนี้เสียเอสเอ็มอีอาจพุ่ง10%หรือ 2 แสนล้านบาท หลังพ้นระยะพักหนี้ในสิ้นก.ย.นี้ แนะใช้แนวทางฟื้นฟูตามกฎหมายล้มละลายฉบับที่ 9เพื่อให้ลูกหนี้มีระยะเวลาในการฟื้นฟูและชำระหนี้ในอีก 3 ปีข้างหน้า

นายสุรชัย กำพลานนท์วัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงินเอสเอ็มอี บรรษัทค้ำประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.)ประเมินว่า ลูกหนี้เอสเอ็มอี ที่เข้าโครงการพักหนี้ทั้งหมดในระบบจำนวนประมาณ 1.1 ล้านราย มูลหนี้ 2 ล้านล้านบาท อาจจะกลายเป็นหนี้เสีย หลังพ้นระยะพักหนี้ในสิ้นเดือนก.ย.นี้ หากสถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด-19

“หากสถานการณ์เศรษฐกิจ ยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบดังกล่าว อาจต้องมีเอสเอ็มอีกลายเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้นอีก และอาจถูกเจ้าหนี้ฟ้องเพื่อยึดทรัพย์”

ปัจจุบันมีเอสเอ็มอีที่เป็นหนี้เสียแล้ว 4.9 แสนล้านบาท หากหลังพ้นโครงการพักหนี้ของเอสเอ็มอีแล้ว ลูกหนี้เหล่านั้น กลายเป็นหนี้เสีย 10%ก็จะเพิ่มหนี้เสียในระบบอีก 2 แสนล้านบาท ถ้า 20%ก็อีก 4 แสนล้านบาท

เขากล่าวว่า เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว และให้โอกาสเอสเอ็มอีที่ยังสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ไม่ให้ถูกเจ้าหนี้ยึดทรัพย์ ควรที่จะต้องใช้แนวทางของ พ.ร.บ.ล้มละลายฉบับที่ 9ที่ออกมาใช้บังคับในปี2559 เพื่อเปิดโอกาสให้เจ้าหนี้หรือลูกหนี้ สามารถเสนอแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อเสนอต่อศาลล้มละลายกลางได้ ซึ่งหากแผนฟื้นฟูได้รับการอนุมัติจากศาล ลูกหนี้ก็จะมีเวลาดำเนินการตามแผนเพื่อฟื้นฟูกิจการนำเงินมาชำระเจ้าหนี้ได้ภายใน 3 ปี

ที่ผ่านมามีลูกหนี้และเจ้าหนี้เพียง 2 รายเท่านั้นที่ใช้กระบวนการฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฉบับที่ 9ซึ่งออกแบบกฎหมายเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี รายเล็ก ซึ่งสาเหตุที่มีการใช้กระบวนการของกฎหมายฉบับนี้น้อยมาก อาจเป็นเพราะตัวลูกหนี้ ไม่มีความรู้ ขณะที่ตัวเจ้าหนี้ ไม่มีความเชื่อมั่นกับแผนที่ลูกหนี้จะดำเนินการ ทำให้เจ้าหนี้ส่วนใหญ่ ใช้วิธีดำเนินคดีเพื่อยึดทรัพย์จากลูกหนี้รายย่อย

ทั้งนี้ พ.ร.บ.ล้มละลายฉบับที่ 9มีกระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ เช่นเดียวกับ พ.ร.บ.ล้มละลายฉบับที่ 11 แตกต่างกันตรงที่ ฉบับที่ 9 กำหนดมูลหนี้ของลูกหนี้ไม่เกิน 10 ล้านบาท ขณะที่ ฉบับที่ 11 มูลหนี้ต้องมากกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไปและฉบับที่ 9 มีค่าใช้จ่ายในการจัดทำแผนต่ำกว่าเพียง 1 พันบาท และมีเงินวางค้ำประกันแผนอีก 1 หมื่นบาท โดยจะให้เจ้าหนี้หรือลูกหนี้เป็นผู้บริหารแผนก็ได้ ขณะที่ การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูฉบับที่ 11 ต้องใช้เงินเพื่อดำเนินการหลายล้านบาท และต้องจ้างผู้บริหารแผนฟื้นฟู

เมื่อเข้าสู่กระบวนการของศาลล้มละลายแล้ว กระบวนการก็เช่นเดียวกันกับการจัดทำแผนฟื้นฟูของกิจการขนาดใหญ่ คือ จะเข้าสู่Mode Automatic Stayกล่าวคือ เจ้าหนี้จะมาบังคับคดี เพื่อยึดทรัพย์หรือตัดสาธารณูปโภคไม่ได้

ทั้งนี้ หนี้ของลูกหนี้เอสเอ็มอีรายย่อย จะต้องเป็นหนี้ที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจ กรณีเป็นหนี้บัตรเครดิต ก็จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า นำมาใช้เพื่อธุรกิจโดยหากเป็นหนี้ของบุคคล ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย จะต้องมากกว่า 2 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งสามารถเข้าสู่กระบวนการของกฎหมายฉบับที่ 9 นี้ได้

ส่วนกรณีเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือคณะบุคคล จะต้องมีหนี้ตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไป และกรณีเป็นบริษัทจำกัด จะต้องมีหนี้มากกว่า 3 ล้านบาทแต่ไม่เกิน 10 ล้านบาททั้งนี้ การโหวตเพื่อรับแผนฟื้นฟู ก็ใช้มติ 75%ของมูลหนี้ ในการอนุมัติ เช่นเดียวกับการอนุมัติแผนฟื้นฟูของกิจการขนาดใหญ่

เขากล่าวว่า บสย.ในฐานะผู้ค้ำประกันสินเชื่อให้เอสเอ็มอีผ่านสถาบันการเงินในประเทศ 18 แห่ง อาจเป็นหนึ่งในเจ้าหนี้ และ บสย.สามารถเป็นคนกลางในการช่วยเจรจาเพื่อจัดทำแผนฟื้นฟูระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ได้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย

“แนวทางนี้น่าจะเป็นทางเลือกสุดท้ายของSMEsเพื่อไม่ให้ต้องถูกยึดกิจการและเลิกกิจการไป”นายสุรชัยกล่าว