‘อดีตนักข่าว’ เปิดใจชี้แจง สื่อช่องดังเกาะติดคดี 'น้องชมพู่' อ้างเรตติ้งพุ่ง-เม็ดเงินเข้า

‘อดีตนักข่าว’ เปิดใจชี้แจง สื่อช่องดังเกาะติดคดี 'น้องชมพู่' อ้างเรตติ้งพุ่ง-เม็ดเงินเข้า

ถกล้อมกรอบ! "อดีตนักข่าว" เปิดใจชี้แจง สื่อช่องดังเกาะติดคดี "น้องชมพู่" อ้างเรตติ้งพุ่ง-เม็ดเงินเข้า เข้าแจง “อนุกมธ.สื่อวุฒิสภา” จ่อเรียกผอ.ข่าว-กองบก. สอบต้นเดือนหน้า ด้าน “กสทช.” ยันสั่งปรับ ลั่นหากทำผิดซ้ำเจอจอดำแน่

คณะอนุกรรมธิการสิทธิเสรีภาพด้านสื่อสารมวลชนและสื่อสาธารณะ วุฒิสภา เชิญ "ทรงพล เรืองสมุทร" อดีตหัวหน้าช่างภาพข่าว "ศักดิ์ดา วรรณสุทธิ์" อดีตผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลแห่งหนึ่ง เข้าให้ถ้อยคำต่อที่ประชุม ถึงกรณีการนำเสนอข่าวติดตามคดีการเสียชีวิตของ "น้องชมพู่"

นายศักดิ์ดา ซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวที่ลงพื้นที่บ้านกกกอกนานกว่า 1 เดือน ให้ข้อมูลว่าลำบากใจในการปฏิบัติหน้าที่ จึงตัดสินใจลาออก เพราะการเข้าถึงสิทธิส่วนบุคคลระหว่างทำข่าวกับชาวบ้าน พร้อมระบุว่า "บางทีชาวบ้านไม่ได้ปฏิเสธแต่เราก็ลำบากใจ เพราะเรื่องที่ถามไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีน้องชมพู่" ขณะที่นายทรงพล ยอมรับว่าอึดอัดใจ ตนไม่ได้อยากออกมาแฉแต่อยากเปลี่ยนกระบวนการทำงานของสื่อมวลชน ไม่ให้โครงสร้างบิดเบี้ยวและอยากให้เสียงถึงผู้ใหญ่

นายศักดิ์ดา ยังยอมรับว่าลำบากใจในการนำเสนอเรื่องความเชื่อ และร่างทรง แต่ไม่สามารถปฏิเสธกองบรรณาธิการได้ ส่วนการนำเสนอข่าวที่สร้างความขัดแย้งของคนในหมู่บ้านจนแตกเป็นสองฝ่ายคิดว่าสื่อมีส่วนสร้างความแตกแยก เนื่องจากเป็นการพูดผ่านสื่อไม่ได้คุยกันโดยตรงจนนำไปสู่ความเข้าใจผิด พร้อมยอมรับว่าถูกกดดันจากทั้งนายจ้างและประชาชนในพื้นที่

ด้าน นายทรงพล กล่าวว่า มีความพยายามของกองบรรณาธิการที่จะบี้ประเด็น มากับคนทำข่าวที่ลงพื้นที่ ที่จะต้องได้มากกว่าช่องอื่นจึงเป็นการใช้เสรีภาพของสื่อมากเกินความจำเป็น ล่วงเกินเสรีภาพของบุคคล ที่เป็นแหล่งข่าว เพราะโครงสร้างสื่อปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับปากท้องมากกว่าจริยธรรม  สาเหตุที่ตนลาออกเพราะรู้สึกละอาย

นายทรงพล ยังเปิดเผยถึงกรณีการสัมภาษณ์พระในข่าว ซึ่งไม่ใช่พระในสำนักสงฆ์ ที่กองบรรณาธิการพยายามให้นักข่าวภาคสนาม ไปขอน้องให้ประแสดงอภินิหาร ไปคุยกับต้นไม้และถามว่าเห็นนิมิตรอะไรหรือไม่ ซึ่งตนมองว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่จะมาอ้างว่าคนดูชอบ แต่เป็นการแก้ตัวที่ไม่มีความรับผิดชอบ พร้อมเปิดเผยว่าเคยหารือเรื่องนี้ในองค์กรแบบไม่เป็นทางการ แต่อีกฝ่ายกลับไม่เห็นด้วย โดยบอกว่า  "ทำแล้วมีคนดู เรทติ้งสูง เม็ดเงินเข้ามา ใครจะอยากเปลี่ยนเรื่อง"

ขณะที่ตัวแทนจาก กสทช. พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ ย้ำว่าเป็นเรื่องของทุนสูงสุดในอุตสาหกรรมสื่อ ที่หากำไรกับเรื่องแบบนี้ ก่อนบอกไปยังผู้ร่วมชี้แจงว่า "น้องออกมาน่ะดีแล้ว" พร้อมเปิดเผยข้อมูลว่าในปี 2562 ช่องดังกล่าว มีเรื่องร้องเรียนเข้ามา 3 เรื่อง ส่วนปีนี้ยังไม่จบปี มี 6 เรื่องที่ร้องเรียนเข้ามา  ซึ่งโทษเป็นการปรับเงิน พร้อมอธิบายว่าการบังคับใช้กฎหมายของ กสทช. เป็นลักษณะขั้นบันได จากการปรับ สู่การพักใช้ใบอนุญาตหรือจอดำ ไปจนถึงการเพิกถอนใบอนุญาต

ทั้งนี้ เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าช่องดังกล่าวถูกร้องเรียนถึง 9 ครั้งแล้ว จะดำเนินการขั้นที่เหนือกว่าการปรับหรือไม่ ตัวแทน กสทช. ยืนยันว่าหลังจากนี้หากช่องดังกล่าวถูกร้องเรียนในเรื่องเดิมและรุนแรงกว่า จะไม่ใช้การปรับ แต่จะพิจารณาถึงบทลงโทษอื่น เช่น การพักใบอนุญาตหรือจอดำในรายการนั้นๆ พร้อมฝากถึงประชาชนให้ช่วยร้องเรียนมายัง กสทช.

อย่างไรก็ตาม ประธานอนุกรรมาธิการ ยืนยันว่าจะสรุปประเด็นในเรื่องนี้ก่อนที่ต้นเดือนหน้า(ต.ค.)จะเชิญตัวแทนกองบรรณาธิการข่าวและผู้อำนวยการฝ่ายข่าวของสถานีโทรทัศน์ช่องดังกล่าวมาสอบข้อเท็จจริง