กระทรวงพาณิชย์ประกาศห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ... แต่ยังคงต้องจับตาการนำเข้าอิเล็กทรอนิกส์ใช้แล้วที่อาจกลายเป็นขยะต่อไป

กระทรวงพาณิชย์ประกาศห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ...  แต่ยังคงต้องจับตาการนำเข้าอิเล็กทรอนิกส์ใช้แล้วที่อาจกลายเป็นขยะต่อไป

ประกาศกระทรวงพาณิยชย์ว่าด้วยเรื่องการห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ตามพิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 84 และตอนที่ 85 เฉพาะรหัสสถิติ 899 หรือก็คือการห้ามนำเข้าของเสียอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้อนุสัญญาบาเซล โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2563 เป็นต้นไป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ประกาศดังกล่าวเป็นการห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ แม้ว่าจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมของไทย แต่กระนั้นก็ดี หากจะลดการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างแท้จริง ทางการต้องเพิ่มความเข้มงวดในการนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ใช้แล้ว (มือสอง) ที่รัดกุมให้สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นการนำเข้ามาใช้ประโยชน์จริงๆ ก็จะทำให้ไทยลดต้นทุนการกำจัดขยะและสร้างผลบวกต่อสิ่งแวดล้อมไทยได้ในระยะยาว เพราะสินค้ามือสองเหล่านี้มีมูลค่านำเข้าสูงถึง 59.1 ล้านดอลลาร์ฯ มีอายุการใช้งานสั้น และสุดท้ายก็จะกลายเป็นขยะที่ไทยต้องกำจัดทิ้งอยู่ดี

จากประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง “กำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2563” โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2563 เป็นต้นไป ซึ่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ในที่นี้ คือ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หรือเศษที่มีส่วนประกอบ (ไม่รวมเศษจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า) ได้แก่ ตัวเก็บประจุไฟฟ้า และแบตเตอรี่อื่นๆ สวิทซ์ที่มีปรอทเป็นองค์ประกอบในการทำงาน เศษแก้วจากหลอดรังสีแคโทด และแอกติเวเต็ดกลาสอื่นๆ ตัวเก็บประจุไฟฟ้าที่มีสารพีซีบี หรือที่ปนเปื้อนด้วยแคดเมียม ปรอท ตะกั่ว โพลีคลอริเนทเต็ดไบฟีนิลซึ่งเป็นของเสียเคมีวัตถุ ตามบัญชี 5.2 ลำดับที่ 2.18 ของประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ.2556 ตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย ทั้งนี้ ข้อกำหนดังกล่าวครอบคลุมขยะอิเล็กทรอนิกส์ตามพิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 84 และตอนที่ 85 เฉพาะรหัสสถิติ 899 ของเสียอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้อนุสัญญาบาเซล เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร

ในปัจจุบันไทยนำเข้าอิเล็กทรอกนิกส์ที่ใช้ประโยชน์ได้ไม่มากนัก ทั้งอิเล็กทรอนิกส์ใช้แล้ว (สินค้ามือสอง) (HS code 84 และ HS code 85 เฉพาะรหัสสถิติ 800) และอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นของเสียหรือขยะอิเล็กทรอนิกส์ (HS code 84 และ HS code 85 เฉพาะรหัสสถิติ 899) โดย 2 กลุ่มนี้ไทยนำเข้าจากต่างประเทศรวมเป็นมูลค่า 59.7 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2562 อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบว่า

  • สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เรียกได้ว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างแท้จริง ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศห้ามนำเข้าดังกล่าว กลุ่มนี้เป็นของเสียภายใต้อนุสัญญาบาเซลที่ไม่สามารถใช้งานได้และมีสารพิษ สารอันตราย ไทยนำเข้ามามีมูลค่าไม่สูงนักเพียง 0.6 ล้านดอลลาร์ฯ (คิดเป็นประมาณ 345 ตัน) ในปี 2562 และมีทิศทางที่ลดลงเรื่อยมาจากปี 2560 ที่มีมูลค่านำเข้าขยะกลุ่มดังกล่าวสูงถึง 13.9 ล้านดอลลาร์ฯ โดยของที่นำเข้ามาหลักๆ ได้แก่ หลอด LED แผงควบคุมกระแสไฟฟ้า วงจรรวม หลอดไดโอท อุปกรณ์ทำความร้อน และส่วนใหญ่เป็นของที่มาจากจีนถึงร้อยละ 81 ของมูลค่าการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ตามมาด้วยสหภาพยุโรปร้อยละ 7 และญี่ปุ่นร้อยละ 5 ตามลำดับ อีกทั้ง หากจะมองกันตามจริง ของเหล่านี้ล้วนเป็นของเสียและแทบไม่มีประโยชน์ในการใช้งาน ทั้งยังนำสร้างมูลค่าเพิ่มจากการนำไปรีไซเคิลได้ค่อนข้างน้อย เพราะส่วนใหญ่เป็นสารพิษ สารอันตรายที่ต้องเข้าสู่กระบวนการทำลายอย่างถูกวิธีเพื่อไม่เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม

  • ขณะที่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ใช้แล้วหรือสินค้ามือสองเป็นกลุ่มที่น่าสนใจ เนื่องจากมีมูลค่านำเข้าสูงถึง 1 ล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้แม้ว่าจะสามารถนำไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มได้ โดยบางส่วนยังใช้งานได้ก็จะเข้าสู่ตลาดสินค้ามือสอง หรือเข้าสู่ตลาดอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ทดแทนสินค้าเดิม (REM) และมีบางส่วนที่เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลโดยผ่านการคัดแยกโลหะมีค่าอย่างทองแดง เงิน ทองคำ อะลูมิเนียมและโลหะต่างๆ ออกมาใช้ใหม่ได้ อย่างไรก็ดี สินค้ามือสองเหล่านี้เมื่อนำเข้ามาก็มีอายุการใช้งานสั้น สุดท้ายก็ต้องกลายเป็นขยะที่มีต้องทุนในการกำจัดอยู่ดี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การออกมาตรการห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ดังกล่าวนับว่าส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมของไทย ช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อมที่ตามมาได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี การจะลดปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มาจากนอกประเทศได้อย่างแท้จริงนั้น คงต้องเพิ่มความเข้มงวดในการนำเข้าอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ใช้แล้ว (สินค้ามือสอง HS code 84 และ HS 85 เฉพาะรหัสสถิติ 800) ซึ่งยังมีการนำเข้าในปริมาณที่สูง และสุดท้ายก็จะกลายเป็นขยะอยู่ดี ดังนั้น การวางมาตรการการนำเข้าที่รัดกุมกับสินค้ามือสองเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญในระยะต่อไป เพื่อไม่ให้ต่างชาติใช้ช่องว่างนี้ใช้ไทยให้กลายเป็นที่ทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้ อาทิ ผู้นำเข้าต้องสามารถพิสูจน์ได้ว่านำเข้ามาใช้ประโยชน์สร้างมูลค่าเพิ่มได้จริงๆ