ปธ.ศาลฎีกาผลักดันกฎหมายพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม ปลื้มเคลียร์พื้นที่ปัญหาป่าแหว่งจบแล้ว

ปธ.ศาลฎีกาผลักดันกฎหมายพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม ปลื้มเคลียร์พื้นที่ปัญหาป่าแหว่งจบแล้ว

ปธ.ศาลฎีกา ผลักดันกฎหมายพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม รับแรงบันดาลใจนโยบายศาลสีเขียวมาจากปมบ้านป่าแหว่ง สบายใจที่ได้คืนบ้านแล้ว

เมื่อวันที่ 16 ก.ย.63  นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา เปิดเผยภายหลังการประชุมหัวข้อ “การพัฒนาระบบยุติธรรมสิ่งแวดล้อมตามแผนการปฏิรูปประเทศ” ซึ่งเป็นการประชุมร่วมกันกับนายปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด, คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า ในฐานะสถาบันศาล ไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรมห รือศาลปกครองมีท่าทีชัดเจนว่า เราต้องร่วมกันทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งตนก็ได้พูดกับผู้พิพากษาที่อยู่ในแผนกคดีสิ่งแวดล้อมให้ได้ศึกษาวิจัยเรื่องนี้มาโดยตลอด ส่วนนี้มีความสำคัญที่ทำให้ตนผลักดันนโยบายที่ได้ประกาศไว้ตอนขึ้นดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา ในเรื่องการสร้างศาลสีเขียว (GREEN COURT) ไม่ได้คิดว่าจะทำให้มันต้องดูยิ่งใหญ่ แต่ทำในเชิงสัญลักษณ์ขององค์กรตุลาการ ที่เราจะสร้างสัญลักษณ์ให้สังคมเห็นว่าศาลให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เราให้ความสำคัญในเรื่องการบริหารจัดการภายในศาลด้วย

"การสร้างศาลให้เป็นสีเขียว ยอมรับว่าแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งเรามาจากเรื่องบ้านป่าแหว่ง ที่มีการชี้นิ้วมาที่เราว่าศาลทำลายทรัพยากร แต่จริงๆ แล้วผู้พิพากษานั้นไม่เกี่ยวข้องเลย เพราะเราก็มีหน้าที่ตัดสินคดี ฝ่ายธุรการก็มีหน้าที่จัดหาบ้านพักให้ผู้พิพากษา ซึ่งวันดีคืนดีไปขอพื้นที่ทหารมาได้ ทหารก็ส่งมอบพื้นที่มาให้ กระบวนการก่อสร้างก็ทำตามระเบียบขั้นตอนทุกอย่าง แต่ปรากฏว่าเราขาดความละเอียดรอบคอบในขั้นตอนการก่อสร้าง ทุกอย่างที่ผู้รับเหมาก่อสร้างเข้าไปในพื้นที่หรือการตัดต้นไม้ในพื้นที่ ก็กลายเป็นภาพที่ปรากฏที่เขาเรียกกันว่าป่าแหว่ง ประกอบกับสถานะทางการเมืองที่มันมีความขัดแย้งในพื้นที่เชียงใหม่ ศาลก็ก็ตกอยู่ในสถานะที่สะท้อนความขัดแย้งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นจำเลยในขั้นต้น แต่ว่าเมื่อเรื่องมันเกิดขึ้นและมันจบแล้ว เราสบายใจที่ได้คืนบ้านที่เรียกว่าป่าแหว่งให้กับกรมธนารักษ์เรียบร้อยแล้ว"

นายไสลเกษ กล่าวอีกว่า เมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ ตนได้มีโอกาสเดินทางไปก็พบว่าต้นไม้ได้เจริญเติบโตขึ้นจนแทบไม่เห็นบ้าน สิ่งที่ตนสะท้อนเรื่องป่าแหว่ง ตนเสียใจแทนคนเชียงใหม่ที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ถอนศาลอุทธรณ์ภาค 5 ออกจากจังหวัดเชียงใหม่ไปยังจัดหวัดเชียงราย ซึ่งก็ดีใจแทนคนเชียงราย เพราะสิ่งที่ทำเป็นเรื่องการระงับความรู้สึกความขัดแย้งในเบื้องต้น ไม่ใช่การแก้ปัญหาระยะยาว แต่เหตุการณ์นี้ทำให้เราต้องส่งเสริมการปลูกต้นไม้หรือศาลสีเขียวขึ้นมา

“ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาสำคัญที่ทุกภาคส่วนควรร่วมมือและให้ความสำคัญร่วมกัน ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรจะมีวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมที่มีมาตรฐาน เพื่อบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ศาลฎีกาพร้อมให้การสนับสนุนให้มีพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม และนำไปสู่การตัดสินใจของรัฐบาลในการพิจารณาจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมต่อไป” ประธานศาลฎีกา กล่าว