‘ชริ้งเฟล็กซ์’ จ่อขายไอพีโอ เผยรายได้-กำไรครึ่งปี 2563 โตสวนวิกฤติโควิด

‘ชริ้งเฟล็กซ์’ จ่อขายไอพีโอ เผยรายได้-กำไรครึ่งปี 2563 โตสวนวิกฤติโควิด

‘ชริ้งเฟล็กซ์’ จ่อขายหุ้นไอพีโอ หลัง ก.ล.ต. เริ่มนับหนึ่งไฟลิ่ง ผู้บริหารเผยผลประกอบการครึ่งปี 2563 เติบโตจากปีก่อน สวนทางวิกฤติโควิด วางแผนใช้เงินลงทุน 331 ล้านบาท ขยายกำลังการผลิตเพิ่ม

นายคมกฤต มีคำสัตย์ กรรมการผู้จัดการ สายงานตลาดทุน บริษัทหลักทรัพย์ อาร์ เอช บี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า หลังจาก บมจ.ชริ้งเฟล็กซ์ (ประเทศไทย) หรือ SFT ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อขอเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชน (IPO) ล่าสุด สำนักงาน ก.ล.ต. ได้นับหนึ่งแบบไฟลิ่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 9 ก.ย. ที่ผ่านมา

บริษัทฯ มีทุนจดทะเบียนจำนวน 220 ล้านบาท แบ่งเป็น 440 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท โดยเป็นทุนที่ออกและเรียกชำระแล้วจำนวน 160 ล้านบาท และจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 120 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 27.27 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ

จากข้อมูลตามไฟลิ่ง SFT มีแผนจะใช้เงินลงทุนราว 331 ล้านบาท โดยมีแผนลงทุนในโรงงานผลิตแห่งใหม่ เพื่อขยายกำลังการผลิตในตลาดฟิล์มหดรัดรูป (Shrink Sleeve Label) ที่ทางบริษัทดำเนินการในปัจจุบัน คาดว่าจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างโรงงาน รวมถึงระบบไฟฟ้า แสงสว่าง และสาธารณูปโภคต่างๆ ประมาณ 100 ล้านบาท และมูลค่าที่ดินที่บริษัทซื้อจากบุคคลที่เกี่ยวข้องจำนวน 71.84 ล้านบาท

โดยบริษัทคาดว่าจะใช้งบลงทุนในเครื่องจักรระยะแรกรวม ประมาณ 60 ล้านบาท บริษัทคาดว่าจะลงทุนในโครงการโรงงานผลิตแห่งใหม่และเครื่องจักรในระยะแรกนี้ ในช่วงปี 2563-2564 ทั้งนี้ เมื่อโรงงานแห่งใหม่ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมลงเครื่องจักรในระยะแรกภายในปี 2564 และสามารถเปิดดำเนินการได้ในต้นปี 2565 บริษัทจะมีกำลังการผลิตสูงสุดเพิ่มขึ้นจาก 137.83 ล้านเมตรต่อปี ในปี 2563 เป็นประมาณ 185 ล้านเมตรต่อปี ในปี 2565

สำหรับการลงทุนในเครื่องจักรระยะที่ 2 บริษัทมีแผนที่จะซื้อเครื่องลามิเนตและเครื่องเคลือบฟิล์ม (Combi) รวมถึงมีแผนจะซื้อเครื่องพิมพ์ดิจิตอล (HP Indigo 20000) เพื่อรองรับตลาดงานพิมพ์ดิจิตอลในอนาคต โดยบริษัทคาดว่าลงทุนในช่วงปี 2565 โดยใช้งบลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท  ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตของบริษัท ในส่วนของระบบการพิมพ์ดิจิตอล เพิ่มขึ้นจากเดิมในปี 2563 อีกกว่า 60% ในปี 2566 ซึ่งระบบการพิมพ์ดิจิตอล จะเป็นระบบที่เป็นที่นิยมสูงขึ้นในอนาคต

นายซุง ชง ทอย ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SFT เปิดเผยว่า แนวโน้มการเติบโตของตลาดฉลากผลิตภัณฑ์ในไทยยังเติบโตได้อีกมาก โดยลูกค้าหลักของบริษัทจะอยู่ในกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอาง ซึ่งมีการคาดการกันว่าจะเติบโตได้โดยทั่วไปประมาณ 10% ต่อปี ในช่วง 6-7 ปีต่อจากนี้ ขณะที่การเติบโตของบริษัทก็น่าจะทำได้ในระดับเกินกว่า 10%

“ในปี 2564 บริษัทจะใช้กำลังการผลิตได้เต็มที่มากขึ้น อย่างน้อย 85% ของกำลังการผลิต และจะก่อสร้างโรงงานใหม่แล้วเสร็จ ส่วนปี 2565 ถ้าเศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาได้ โรงงานของบริษัทจะพร้อมรองรับการขยายของตลาด ทำให้การเติบโตในระดับ 2 ดิจิต ไม่ได้เป็นเรื่องยากสำหรับบริษัทเท่าใดนัก”

ทั้งนี้ มาร์เก็ตแชร์ของบริษัทในปัจจุบัน ผลิตอยู่ที่ราว 2,000 กว่าตันต่อปี จากตลาดรวมที่ผลิตอยู่ประมาณ 8,000-10,000 ตันต่อปี

นางรสสุคนธ์ ศานติกุลวงศ์ ผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน SFT เปิดเผยว่า สำหรับผลประกอบการ 6 เดือน ปี 2563 แม้จะมีโควิด-19 แต่รายได้ของบริษัทยังเติบโตได้ 12.05% จากปีก่อน มาอยู่ที่ 330 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 8% มาอยู่ที่ 34.96 ล้านบาท โดยหลักมาจากกลุ่มอาหารเป็นหลักซึ่งเติบโตค่อนข้างสูง สอดคล้องกับวิถีชีวิตผู้บริโคที่เปลี่ยนแปลงช่วงโควิด-19 แต่กลุ่มเครื่องดื่มและเครื่องสำอางชะลอตัวลง เพราะการเดินทางออกนอกบ้านน้อยลง

ขณะที่การเติบโตของรายได้โดยเฉลี่ยช่วงปี 2560 – 2562 อยู่ที่ 22.4% ต่อปี จาก 391.48 ล้านบาท มาเป็น 586.40 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิเติบโตเฉลี่ย 70% จาก 19.54 ล้านบาท มาเป็น 56.90 ล้านบาท