สหรัฐห้ามบ.จีนจดทะเบียนฉุดรายได้วาณิชธนกิจมะกัน

สหรัฐห้ามบ.จีนจดทะเบียนฉุดรายได้วาณิชธนกิจมะกัน

สหรัฐห้ามบ.จีนจดทะเบียนฉุดรายได้วาณิชธนกิจมะกัน ทำให้ตอนนี้ วาณิชธนกิจจีนมีส่วนแบ่งตลาดด้านค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนที่ตลาดหุ้นเพิ่มมากที่สุดเมื่อเทียบกับวาณิชธนกิจตะวันตก

คำขู่ของสหรัฐที่จะห้ามบริษัทสัญชาติจีนนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นอเมริกันอาจจะทำให้ค่าธรรมเนียมที่มีมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ไหลไปอยู่ที่บรรดาวาณิชธนกิจจีนแผ่นดินใหญ่ ในช่วงที่บริษัทต่างๆในจีนเริ่มมองหาลู่ทางที่จะนำหุ้นออกขายแก่สาธารณชนครั้งแรก (ไอพีโอ)ในฮ่องกงและในจีนมากขึ้น

ล่าสุด บรรดาโบรกเกอร์ที่มีฐานดำเนินงานในฮ่องกงมีส่วนแบ่งตลาดค่าธรรมเนียมในการให้คำปรึกษาแก่บริษัทจีนเพิ่มขึ้นและมากกว่าวาณิชธนกิจชั้นนำสัญชาติอเมริกัน

บรรดาธนาคารจีนและบริษัทโบรกเกอร์ ซึ่งรวมถึง ไชนา อินเตอร์เนชั่นแนล แคปิตัล คอร์ป ซิติก ซิเคียวริตี้ส์ และอะกริคัลเจอรัล แบงก์ ออฟ ไชนา อยู่ในกลุ่มอันเดอร์ไรเตอร์รายใหญ่สุดของบริษัทจีนที่จดทะเบียน ขณะที่แบงก์ต่างประเทศ สูญเสียส่วนแบ่งตลาดไปเรื่อยๆแม้แต่ในฮ่องกง ที่ถือเป็นศูนย์กลางทางการเงินโลก

“ตอนนี้ บรรดาวาณิชธนกิจจีนมีส่วนแบ่งตลาดด้านค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนที่ตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับวาณิชธนกิจตะวันตก เนื่องจากสถานการณ์การเมือง ที่มีปมขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีน ทำให้บริษัทจีนบางแห่งลังเลใจที่จะใช้บริการด้านการให้คำปรึกษาจากบริษัทชั้นนำโลก”ฟิลิปเป เอสปินาสเซ ที่ปรึกษาด้านตลาดทุนและอดีตหัวหน้าแผนกการลงทุนตลาดหุ้นของโนมูระ ให้ความเห็น

เรฟินิทีฟ บริษัทที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ ระบุว่า วาณิชธนกิจชื่อดังระดับโลกอย่าง มอร์แกน สแตนลีย์ และโกลด์แมน แซคส์ ไม่ได้เป็นบริษัทที่บริษัทจีนเรียกใช้บริการเมื่อต้องการทำไอพีโอในฮ่องกงทำให้สูญเสียส่วนแบ่งตลาดในส่วนของค่าธรรมเนียมมาตลอด4ปีที่ผ่านมา ขณะที่บทบาทในการขายหุ้นบริษัทจีนของวาณิชธนกิจชั้นนำของอเมริกาก็ถูกจำกัด

ที่ผ่านมา บริษัทจีนจ่ายค่าที่ปรึกษาและค่าธรรมเนียมอันเดอร์ไรท์แก่วาณิชธนกิจอเมริกันเมื่อต้องจดทะเบียนในสหรัฐโดยเฉลี่ยคิดเป็นมูลค่าปีละ 260 ล้านดอลลาร์ แต่การเคลื่อนไหวของรัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์และผู้ควบคุมกฏระเบียบของสหรัฐ กำลังทำให้รายได้ส่วนนี้หายไป

เมื่อเดือนที่แล้ว ทางการสหรัฐประกาศแผนที่จะกำจัดบริษัทจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐแล้วภายในเดือนม.ค.ปี 2565 พร้อมทั้งสกัดบริษัทจีนที่ต้องการทำไอพีโอในตลาดหุ้นสหรัฐทันทีหากบริษัทเหล่านี้ไม่ยอมให้คณะผู้คุมกฏของสหรัฐเข้าถึงบันทึกทางการเงินที่ได้รับการตรวจสอบเป็นประจำ 160022197184

บริษัทจีนปฏิเสธที่จะแชร์ข้อมูลในส่วนนี้ โดยให้เหตุผลว่าเป็นไปตามข้อบังคับของกฏหมายภายในประเทศที่ห้ามการเข้าถึงบันทึกทางการเงินดังกล่าวเนื่องจากข้อมูลดังกล่าวอาจจะมีความลับของทางราชการรวมอยู่ด้วย

คำขู่ของรัฐบาลวอชิงตันมีขึ้นในช่วงเวลาที่ทางการฮ่องกง ซึ่งถือเป็นตลาดที่มีการทำไอพีโอใหม่มากที่สุดในโลกตลอด7เดือนที่ผ่านมาและจีนแผ่นดินใหญ่ผ่อนคลายกฏระเบียบด้านการขายหุ้น ภายใต้แผนปฏิรูปตลาดหุ้นของทางการจีนเพื่อดึงดูดบริษัทต่างๆให้เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง

ดีลลอจิก ระบุว่า ในปีนี้ บริษัทจีนระดมทุนในตลาดหุ้นฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ และเสิ่นเจิ้นผ่านการทำไอพีโอ คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 70,000 ล้านดอลลาร์ถือเป็นคู่แข่งที่ตามมาติดๆของมูลค่าทำไอพีโอที่ตลาดหุ้นนิวยอร์กและแนสแด็ก ซึ่งมีมูลค่ารวมกันอยู่ที่ 75,000 ล้านดอลลาร์

ตอนนี้ บริษัทที่มีฐานดำเนินงานอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งทำไอพีโอในสหรัฐแล้ว ตัดสินใจเข้าจดทะเบียนครั้งที่2ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง และตั้งแต่เดือนพ.ย.ปีที่แล้ว กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของจีน อย่างอาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิง เจดี.ดอท คอม ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมค้าปลีกทางออนไลน์ เน็ตอีสต์ บริษัทพัฒนาเกม ยัม ไชนา บริษัทซึ่งดำเนินธุรกิจเคเอฟซีในจีนแผ่นดินใหญ่ ระดมทุนรวมกันได้มากกว่า20,000 ล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม บริษัทอื่นๆ ซึ่งรวมถึงแอนท์ กรุ๊ป บริษัทในเครืออาลีบาบา ตัดสินใจที่จะขายหุ้นในสตาร์ มาร์เก็ต ตลาดหุ้นสไตล์แนสแด็กที่ตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อปีที่แล้ว และที่ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงแทนที่จะเป็นตลาดหุ้นนิวยอร์ก

เมื่อปี 2557 อาลีบาบา ระดมทุนจากการทำไอพีโอที่ตลาดหุ้นนิวยอร์กได้ 25,000 ล้านดอลาร์ ถือเป็นการทำไอพีโอได้มากที่สุดในโลกในเวลานั้น ทำให้วาณิชธนกิจชั้นนำทั้งหลายทั้งซิตี้กรุ๊ป เครดิต สวิส ดอยทช์ แบงก์ เจพีมอร์แกน และมอร์แกน สแตนลีย์ ได้ค่าธรรมเนียม 300ล้านดอลลาร์และเมื่ออาลีบาบาจดทะเบียนครั้งที่2ที่ตลาดหุ้นฮ่องกงเมื่อปีที่แล้ว มีมูลค่าไอพีโอราว 11,300 ล้านดอลลาร์ ราคาหุ้นของอาลีบาบาทะยานกว่า 6% โดยอยู่ที่ 176 ดอลลาร์ฮ่องกง/หุ้น

เรฟินิทีฟ ระบุว่า นับจนถึงปีนี้ บรรดาบริษัทจีนจ่ายค่าธรรมเนียมในการทำไอพีโอในสหรัฐคิดเป็นมูลค่า 338 ล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับ 4.9% เทียบกับค่าธรรมเนียมมูลค่า 234 ล้านดอลลาร์หรือ 2.3% ของการระดมทุนในตลาดหุ้นฮ่องกง

นอกจากนี้ แบงก์จีนและบริษัทโบรกเกอร์ติดท็อป 20 ของแบงก์ที่เก็บค่าธรรมเนียมจากการทำไอพีโอได้สูงสุดในฮ่องกง โดยมีสัดส่วนของการเก็บค่าธรรมเนียมในส่วนนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2559 โดยเก็บค่าธรรมเนียมได้ 55% ของจำนวนค่าธรรมเนียมโดยรวมของบริษัทชั้นนำ 20 แห่งในปีดังกล่าวและปัจจุบัน สามารถเก็บค่าธรรมเนียมได้เพิ่มขึ้นเกือบ3 ใน4

“สภาพทางภูมิศาสตร์และการเมืองระหว่างประเทศ บ่งชี้ว่า บริษัทจีนที่ต้องการทำไอพีโอตัดสินใจที่จะทำไอพีโอในตลาดหุ้นฮ่องกงและในจีนแผ่นดินใหญ่มากขึ้น”เบนจามิน ควินแลน ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ)บริษัทควินแลน แอนด์ แอสโซซิเอท ซึ่งให้บริการทางการเงินในฮ่องกง ให้ความเห็นทิ้งท้าย