รัฐสภาอังกฤษเมินอียูผ่านร่างกม.ปมขัดแย้ง

รัฐสภาอังกฤษเมินอียูผ่านร่างกม.ปมขัดแย้ง

ดูเหมือนว่า สหราชอาณาจักรจะได้แยกตัวอย่างเป็นทางการออกจากกลุ่มสหภาพยุโรป(อียู)โดยไร้ข้อตกลง เพราะจนถึงขณะนี้ ทั้งสองฝ่ายยังมีปัญหาขัดแย้งกันในเรื่องร่างกฏหมาย Internal Market Bill หรือกฏหมายการค้าภายในของฝ่ายสหราชอาณาจักร

ล่าสุด สมาชิกสภานิติบัญญัติของอังกฤษลงมติรับร่างกฎหมาย Internal Market Bill แล้วด้วยคะแนนเสียง 340 ต่อ 263 เสียงแล้ว ซึ่งจะเปิดทางให้มีการอภิปรายรายละเอียดของร่างกฎหมายดังกล่าวต่อไปเป็นเวลา 4 วันในสัปดาห์นี้และสัปดาห์หน้า

ร่างกฎหมายใหม่นี้จะมาแทนที่ข้อตกลงบางส่วนของสนธิสัญญาการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิท) ที่อังกฤษทำไว้กับอียูในปีที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับอียูและถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งยังทำให้มีโอกาสน้อยลงที่อังกฤษและอียูจะสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกันก่อนครบกำหนดเส้นตายเบร็กซิทในเดือนธ.ค.ปีนี้

"บอริส จอห์นสัน" นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาที่สังกัดพรรคอนุรักษ์นิยมให้การสนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อปกป้องเอกภาพด้านการเมืองและเศรษฐกิจของอังกฤษ แต่อียู แสดงความไม่พอใจต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ และขู่ที่จะยื่นฟ้องต่อศาล เนื่องจากร่างกฎหมายดังกล่าวมีเนื้อหาที่ขัดต่อข้อตกลงเบร็กซิทที่อังกฤษทำไว้กับอียู

อียู ได้แจ้งให้อังกฤษยกเลิกร่างกฎหมาย Internal Market Bill แต่อังกฤษปฏิเสธที่จะปฏิบัติตาม โดยระบุว่า ร่างกฎหมาย Internal Market Bill มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความชัดเจนต่อประเด็นที่ยังคงมีความกำกวมในข้อตกลงการแยกตัวออกจากอียู โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับไอร์แลนด์เหนือ

สมาชิกรัฐสภาของอียู ระบุว่า หากอังกฤษให้การอนุมัติร่างกฎหมายดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการเจรจาการค้าระหว่างอังกฤษและอียู ซึ่งจะทำให้อังกฤษแยกตัวอย่างเป็นทางการออกจากอียูในปลายปีนี้โดยไม่มีการทำข้อตกลง (no-deal Brexit)

ก่อนหน้านี้ อังกฤษและอียู กำหนดเส้นตายในการบรรลุข้อตกลงการค้าภายในสิ้นเดือนต.ค. และให้รัฐสภาของทั้งสองฝ่ายอนุมัติข้อตกลงก่อนสิ้นปีนี้ ซึ่งหากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถบรรลุข้อตกลง ก็จะสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายต่อการค้าระหว่างอังกฤษและอียูในช่วงเริ่มต้นปี 2564 และจะซ้ำเติมเศรษฐกิจ ซึ่งในขณะนี้ได้รับผลกระทบอยู่แล้วจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

“มิเชล บาร์นิเยร์” หัวหน้าผู้แทนการเจรจาการค้าฝ่ายอียู กล่าวว่า อียู เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ no-deal Brexit หลังจากเจรจาการค้ากับเดวิด ฟรอส ผู้แทนการเจรจาฝ่ายอังกฤษ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นการเจรจาเป็นรอบที่ 8 แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าใดใด

บาร์นิเยร์ ย้ำว่า อียูแสดงความยืดหยุ่นต่ออังกฤษเกี่ยวกับข้อเรียกร้องด้านการประมง และในด้านอื่นๆ แต่ฝ่ายอังกฤษไม่ได้แสดงท่าทีตอบรับแต่อย่างใด

“ทุกคนไม่ควรประเมินต่ำเกินไปเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากสถานการณ์ no-deal Brexit” บาร์นิเยร์ กล่าว

สหราชอาณาจักร เสนอร่างกฎหมายการค้าภายใน ว่าด้วยระเบียบการเกี่ยวกับไอร์แลนด์เหนือในข้อตกลงถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปซึ่งร่างกฎหมายนี้ เสนอให้ไม่มีด่านตรวจสอบสินค้าที่จะเคลื่อนย้ายจากไอร์แลนด์เหนือเข้าสู่สหราชอาณาจักร และจะให้อำนาจรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรปรับเปลี่ยน หรือ ไม่บังคับใช้ กฎระเบียบที่เกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายสินค้า ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค.ปี2564 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์แบบใหม่ระหว่างสหราชอาณาจักรและอียู

แต่อียูเห็นว่านี่เป็นการทำลายความเชื่อมั่นอย่างร้ายแรง ในเมื่อร่างกฎหมายนี้เป็นการแก้ข้อตกลงถอนตัวออกจากอียูบางส่วน ที่ลงนามกันไปแล้ว ส่วนรัฐบาลสหราชอาณาจักรอ้างว่า รัฐสภามีอำนาจสูงสุดและสามารถผ่านกฎหมายที่ฝ่าฝืนข้อตกลงนานาชาติได้

ความขัดแย้งล่าสุด ทำให้เกิดความไม่แน่นอนแล้วว่าสหราชอาณาจักรจะเจรจาการค้ากับอียูให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 15 ต.ค. ตามที่ต้องการ ซึ่งเป็นกำหนดวันประชุมสุดยอดของอียูหรือไม่

เมื่อถึงวันที่ 31 ธ.ค. หากสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงการค้า ก็จะเริ่มต้นความสัมพันธ์แบบใหม่กันในเดือน ม.ค. แต่หากว่าตกลงกันไม่ได้ สหราชอาณาจักรก็จะออกจากช่วงเปลี่ยนผ่านโดยไร้ข้อตกลงทางการค้า ซึ่งหมายความว่า สหราชอาณาจักรต้องทำการค้ากับอียูภายใต้เงื่อนไขขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ซึ่งจะทำให้สินค้าส่วนใหญ่ของสหราชอาณาจักรต้องถูกเรียกเก็บภาษีศุลกากรจนกว่าจะมีการนำข้อตกลงการค้าเสรีมาใช้