โควิดเล่นงานทั่วเอเชียจีดีพีจ่อหดตัวรอบ60ปี

โควิดเล่นงานทั่วเอเชียจีดีพีจ่อหดตัวรอบ60ปี

รายงานล่าสุดจากเอดีบีคาดปีนี้เขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนาในเอเชียเติบโตลดลง 0.7% ผลพวงจากโควิด-19 ระบาด เป็นการถดถอยครั้งแรกในรอบเกือบ 60 ปีของภูมิภาคนี้

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ที่มีสำนักงานใหญ่ในกรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์ เผยรายงานคาดการณ์การพัฒนาเอเชีย วานนี้ (14 ก.ย.) ชี้ให้เห็นว่า ภูมิภาคเอเชียเสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็วจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ทำให้รัฐบาลหลายประเทศต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด แต่กลายเป็นว่าภาคธุรกิจและการค้าต้องเสียหายไปด้วย

เมื่อเดือน เม.ย.เอดีบีปรับลดคาดการณ์การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ภูมิภาคเอเชียในปีนี้ไว้ที่ 2.2% จากนั้นปรับลดต่อในเดือน มิ.ย. เหลือ 0.1% ล่าสุดคาดว่าลดเหลือ 0.7% ทั้งๆ ที่ก่อนโควิดระบาด เศรษฐกิจเอเชียสดใสมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ปี 2562 ขยายตัว 5.1% เอดีบีคาดว่าภูมิภาคนี้จะฟื้นตัวในปีหน้าเศรษฐกิจขยายตัว 6.8%

ยาสุยุกิ ซาวาดะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์เอดีบี กล่าวว่า เขตเศรษฐกิจส่วนใหญ่ในเอเชียและแปซิฟิกจะเติบโตอย่างยากลำบากในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้

“ภัยคุกคามทางเศรษฐกิจการระบาดของโควิด-19 ยังมีพลัง ไม่ว่าจะเป็นการระบาดระลอกแรกยืดเยื้อ หรือเกิดการระบาดซ้ำๆ ที่อาจกระตุ้นให้ต้องใช้มาตรการสกัดโรคต่อไปอีก” นายซาวาดะกล่าวและว่า ดังนั้น มาตรการที่ต่อเนื่องและการร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดโดยลำดับความสำคัญของนโยบายไปที่การปกป้องชีวิตและการดำรงชีวิตของกลุ่มที่เปราะบางที่สุด จะทำให้พวกเขามั่นใจว่าสามารถกลับมาทำงานได้อย่างปลอดภัยและสามารถเริ่มต้นกิจกรรมทางธุรกิจได้ และนี่จะเป็นจุดสำคัญที่ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทุกภาคส่วน และมีการเติบโตอย่างยั่งยืนในที่สุด

รายงานเผยด้วยว่า การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อเป็นเวลานานยังคงเป็นความเสี่ยงในเชิงลบที่ใหญ่ที่สุดต่อแนวโน้มการเติบโตของภูมิภาคในปีนี้และปีหน้า รัฐบาลในภูมิภาคได้ดำเนินนโยบายในวงกว้างเพื่อลดความเสี่ยง ซึ่งรวมถึงชุดมาตรการต่างๆ เพื่อสนับสนุนรายได้ของผู้ได้รับผลกระทบเป็นหลัก โดยมีจำนวนเงินสูงถึง 3.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 15 ของจีดีพี ในภูมิภาค

ปัจจัยเชิงลบอื่น ๆ ได้แก่ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งรวมถึงความขัดแย้งทางการค้าและเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่เพิ่มมากขึ้น และความผันผวนทางการเงินที่อาจทวีความรุนแรงขึ้นจากการระบาดที่ยาวนาน

ในภาพรวมเศรษฐกิจเอเชียเข้าสู่ขาลงเป็นวงกว้าง เกือบ 3 ใน 4 ของภูมิภาคคาดว่าจะหดตัวในปีนี้ คิดเป็นสัดส่วนสูงสุดในรอบ 60 ปี แต่ปีหน้าจะฟื้นตัวกันได้เป็นส่วนใหญ่ คาดการณ์เอเชียโต 6.8% แต่ตัวเลขนี้ก็ยังน้อยกว่าที่เอดีบีเคยประเมินไว้ก่อนโควิด-19 ระบาด

“ดังนั้นการฟื้นตัวของเอเชียจะเป็นรูปตัวแอลหรือเครื่องหมายถูก มากกว่าฟื้นตัวเป็นรูปตัววี” รายงานระบุพร้อมชี้ว่า การระบาดยืดเยื้อยังคงเป็นภัยคุกคามใหญ่ต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ การออกข้อจำกัดควบคุมโควิดอีกรอบยิ่งซ้ำเติมการฟื้นตัว เผลอๆ อาจถึงขั้นความวุ่นวายทางการเงิน

หากพิจารณาเป็นรายเขตเศรษฐกิจ จีนที่รายงานโควิดระบาดที่แรก เป็นหนึ่งในบรรดาเขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนา 12 แห่งใน 46 แห่งของเอเชีย ที่มีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจไม่ติดลบในปีนี้ เอดีบีคาดว่า ปีนี้เศรษฐกิจจีนโต 1.8% ลดลงจากมากจาก 6.1% ในปี 2562 และจะฟื้นตัว 7.7% ในปีหน้า ทั้งนี้ มาตรการด้านสาธารณสุขที่ประสบความสำเร็จจะเป็นฐานในการเติบโตต่อไปของจีน

ไต้หวันที่ได้รับคำชมว่ารับมือวิกฤติสาธารณสุขได้ดีเยี่ยม มีแนวโน้มขยายตัว 0.8% จาก 2.7% ในปี 2562 ส่วนปีหน้าคาดว่าเติบโต 3.5% เวียดนาม ที่สามารถสกัดโควิด-19 ระบาดได้ดี คาดว่าเติบโต 1.8% ลดลงจาก 7.0% ในปี 2562 แล้วจะเติบโตต่อเนื่อง 6.3% ในปี 2564

ขณะที่อินเดีย เขตเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของภูมิภาคยังคงสาละวนอยู่กับจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่พุ่งไม่หยุด ก่อนหน้านี้ต้องใช้มาตรการปิดเมืองและส่งผลต่อการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคและการดำเนินธุรกิจ คาดว่าจีดีพีจะติดลบมากสุดเท่าที่เคยมีมาที่ 23.9% ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ โดยทั้งปีคาดว่าติดลบที่9% ในปีงบประมาณ 2563 ก่อนจะกระเตื้องขึ้นมาอยู่ที่8% ในปีงบประมาณหน้า

ฮ่องกงที่เจอการประท้วงต่อต้านรัฐบาลหลังจีนบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ คาดว่าเศรษฐกิจปีนี้หดตัว 6.5% ก่อนจะฟื้นตัว 5.1% ในปี 2564

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่บางประเทศเศรษฐกิจถดถอยหนักสุดในไตรมาส 2 มีแนวโน้มหดตัว 3.8% ในปีนี้ ก่อนจะเติบโต 5.5% ในปีหน้า เทียบกับการเติบโต 4.4% ในปี 2562

เอเชียกลางปีนี้ส่อเค้าหดตัว 2.1% ก่อนเติบโต 3.9% ในปี 2564 ขณะเดียวกันอนุภูมิภาคแปซิฟิก ที่หลายประเทศพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวอย่างหนัก ส่อเค้าเศรษฐกิจปีนี้หดตัว 6.1% จากนั้นจึงขยายตัว 1.3% ในปี 2564

รายงานฉบับล่าสุดนี้ ยังคาดว่าประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียทุกประเทศจะฟื้นตัวปีหน้า ยกเว้นบางประเทศในแปซิฟิก ได้แก่ หมู่เกาะคุก ไมโครนีเซีย เกาะมาแชล ปาเลา ซามัว และตองกา

สำหรับประเทศไทย แม้ว่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดี ทำให้มีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด และกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัว แต่ผลกระทบจากการแพร่ระบาดดังกล่าวส่งผลต่อเศรษฐกิจมากกว่าที่เคยคาดกาณ์ไว้เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา

รายงานล่าสุดของเอดีบี ระบุว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอน แม้จะมีแรงสนับสนุนจากนโยบายการคลังและนโยบายการเงินก็ตาม โดยคาดว่าจีดีพีในปีนี้จะหดตัวที่ 8.0% ซึ่งหดตัวมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนเม.ย. ที่หดตัว 4.8% สำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัว 4.5% ปรับเพิ่มจาก 2.5% ที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนเม.ย. อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะติดลบในปีนี้อยู่ที่ 1.6% จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะงักงัน การหดตัวสูงของราคาพลังงาน และเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ รวมถึงมาตรการรัฐบาลที่ช่วยลดค่าสาธารณูปโภคด้วย ก่อนจะปรับตัวเป็นบวกที่ 0.8% ในปีหน้า

สำหรับปัจจัยเสี่ยงภายนอกยังคงเป็นสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในทั่วโลก การกีดกันทางการค้า และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ส่วนปัจจัยเสี่ยงภายใน ได้แก่ การกลับมาระบาดซ้ำของ โควิด-19 ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือน

เงินเฟ้อของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียคาดว่าจะปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.9% ในปีนี้ จากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 3.2% เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากราคาน้ำมันและความต้องการที่ลดต่ำลง เงินเฟ้อในปี 2564 คาดว่าจะอยู่ที่ 2.3%

รายงานยังเตือนถึงความยากจนที่เพิ่มมากขึ้น การที่เศรษฐกิจเอเชียหดตัวในปีนี้ส่งผลให้คนจนเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างน้อย 78 ล้านคน ลบเลือนความพยายามลดความยากจนในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อคาดว่าอ่อนตัวลงเนื่องจากความต้องการหดหาย และราคาน้ำมันถูกลง อีกด้านหนึ่งที่ค่อนข้างดีคือการค้า แม้การส่งออกของเอเชียหดตัว แต่ก็ดีกว่าส่วนอื่นๆ ของโลก อานิสงส์จากความต้องการสูงมากในสินค้าสุขภาพเกี่ยวข้องกับโควิดและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์

รายงานฉบับล่าสุดของเอดีบียังมีบทความพิเศษ เรื่อง Wellness in Worrying Time ระบุถึง ความสำคัญของการมีสุขภาพดี ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญของชุมชนที่ช่วยในการฟื้นตัวจากโควิด-19 และเป็นเครื่องมือในการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบองค์รวม หากภูมิภาคสามารถนำวิถีการมีสุขภาพดีแบบดั้งเดิมมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมกับการสนับสนุนนโยบายที่เหมาะสมโดยรัฐบาล