สธ. คลายล็อค 'เวลเนส' รับต่างชาติจากประเทศเสี่ยงต่ำ

สธ. คลายล็อค 'เวลเนส' รับต่างชาติจากประเทศเสี่ยงต่ำ

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยกร่างข้อปฏิบัติ Wellness Quarantine (WQ) เสนอ ศบค.ชุดเล็กพิจารณาคลายล็อคธุรกิจเวลเนสให้สามารถรับลูกค้าต่างชาติจากประเทศที่มีการระบาดต่ำหรือมีความเสี่ยงต่ำในเงื่อนไขเดียวกับกลุ่มเมดิคัลโปรแกรม หวังสร้างรายได้กลับเข้าสู่ประเทศ

ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.มีมติเมื่อต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมาอนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถเดินทางเข้าไทยภายใต้โปรแกรมเมดิคัลและเวลเนส โดยเริ่มที่โปรแกรมเมดิคัลก่อนและหากไม่มีปัญหาใดๆ ก็จะขยายเพิ่มในส่วนของโปรแกรมเวลเนสซึ่งเกี่ยวกับกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพ

ในส่วนของเมดิคัลโปรแกรมซึ่งชาวต่างชาติเข้ามาตรวจรักษาโรคในสถานพยาบาล ที่ขึ้นทะเบียนทั้งโรงพยาบาลและคลินิกรวม 154 แห่ง โดยได้รักษาเสร็จสิ้นแล้ว 258 คน สร้างรายได้เกือบ 18 ล้านบาท และอยู่ระหว่างที่จะเดินทางเข้ามา 1,028 คนประมาณการรายได้ 56 ล้านบาท

ศบค.ได้ประเมินผลเบื้องต้นสำหรับชาวต่างชาติที่เข้าไทยตามเมดิคัลโปรแกรมนี้ ระบุผลเป็นที่น่าพอใจทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ ด้วยเหตุนี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงได้ยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมไปยัง ศบค.ชุดเล็ก พิจารณาคลายล็อคให้กับกิจการเวลเนส เช่น สปา ศูนย์ธรรมชาติบำบัด โดยใช้มาตรการคัดกรองที่เข้มงวดเดียวกับเมดิคัลโปรแกรมทั้งก่อนการเดินทางเข้าไทยและระหว่างพำนักในไทย

ยกตัวอย่างเช่น ชาวต่างชาติที่จะเข้ามาต้องไม่เป็นผู้ป่วยโควิด-19 มีผู้ติดตามได้ไม่เกิน 3 คน ต้องมีผลแล็บตรวจโควิดล่วงหน้า 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง เดินทางมาทางบกและทางอากาศ หากมาทางอากาศต้องลงที่สนามบินท้องถิ่นเท่านั้น และอนุญาตให้เฉพาะประเทศสีเขียวและสีเหลืองที่มีการระบาดต่ำประมาณ 140 ประเทศตามรายชื่อที่ ศบค.ประกาศอัพเดตทุกๆ 2 สัปดาห์ เป็นต้น

เสาวภา จงกิตติพงศ์ ผู้อำนวยการกองสุขภาพระหว่างประเทศ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สบส.ได้นำเสนอแนวทางปฏิบัติสำหรับ Wellness Quarantine (WQ) ให้ ศบค.ชุดเล็ก พิจารณาโดยมีรายละเอียดที่แตกต่างจากกลุ่มเมดิคัลโปรแกรม อาทิ ลูกค้าเดินทางไปสถานประกอบการโดยยานพาหนะที่จัดเตรียมไว้และไม่แวะพักกลางทาง ลูกค้าจะต้องกักตัวอย่างน้อย 14 วันห้ามออกนอกพื้นที่ ระหว่างนั้นก็มีการตรวจเชื้อโควิด-19 รวม 3 ครั้ง

ภายใน 14 วันที่ถูกกักตัว สามารถทำกิจกรรมด้านสุขภาพตามแผนการรักษาในอาณาบริเวณที่กำหนด หรือการดิลิเวอรี่เซอร์วิสในห้องพัก โดยสถานประกอบการจะต้องจัดระบบรองรับทั้งบุคลากร ระบบงานและโซนพื้นที่แยกจากส่วนให้บริการปกติ รวมทั้งจัดทีมติดตามพร้อมกับ seal ลูกค้าอย่างเคร่งครัดระหว่างทางเดิน เมื่อครบระยะ 14 วันแล้วก็สามารถออกจากโซนกักตัวไปเข้าร่วมโปรแกรมสุขภาพอื่นๆ ตามปกติ ตลอดจนออกเดินทางท่องเที่ยวได้

สถานประกอบการที่จะเข้าร่วมโปรแกรมจะต้องมีโรงพยาบาลคู่สัญญาอยู่ด้วย รวมทั้งต้องจัดให้มีอุปกรณ์ tracking/tracing ติดตามลูกค้า เช่น สมาร์ทวอทช์หรือสายรัดข้อมือที่มีจีพีเอส และที่สำคัญยังต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการ 3 อย่าง ได้แก่ ใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการจับคู่กับโรงพยาบาลเพื่อทำหน้าที่ตรวจโควิดพร้อมกับการรักษาพยาบาล

ถัดมา ต้องได้รับใบอนุญาตสถานประกอบการเพื่อสุขภาพประเภทสหคลินิก เช่น กิจการประเภทเวลบีอิ้ง การแพทย์ทางเลือก เวชศาสตร์ชะลอวัย การรักษาในกลุ่มที่เป็น Cell therapy และ Precision Medicine ตลอดจนศูนย์การพยาบาลแบบองค์รวมและใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.โรงแรม ซึ่งครอบคลุมถึงที่พักในรูปแบบวิลลา รีสอร์ท ที่ไม่ใช่โรงพยาบาล หากผู้ประกอบการมี 3 ใบอนุญาตนี้ก็สามารถลงทะเบียนกับ สบส.เพื่อเข้ามาสู่โปรแกรม WQ นี้ได้

"สำหรับ WQ  เราประมาณการว่าจะมีชาวต่างชาติเข้าไทยมากกว่า 3,000 คน และเป็นผู้สูงอายุบำนาญอีกประมาณ 1,000 คนสำหรับ long term care  เบื้องต้นจากการคำนวณค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยวหลังจากกักตัวครบ 14 วันก็จะอยู่ท่องเที่ยวต่ออีก 9 วัน พบว่าทั้งเมดิคัลโปรแกรมและเวลเนสโปรแกรมจะสร้างรายได้ทั้งสิ้นถึง 538 ล้านบาท"

คอนเซปต์หลักของ WQ คือ ชาวต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาแล้ว จะต้องเข้าโปรแกรมกักตัวไม่น้อยกว่า 14 วัน ต่ำกว่านี้ไม่ได้โดยเด็ดขาดในสถานที่ที่กำหนดไว้เท่านั้น และระหว่างการกักตัวจะไม่ได้อยู่เฉยๆ เหมือน state quarantine ทั่วไปแต่ต้องทำกิจกรรมบำบัดรักษาพร้อมไปด้วยในโซนกำหนด จากนั้นเมื่อกักกันตัวครบ 14 วันแล้วตรวจไม่พบโควิด-19 ก็สามารถออกไปข้างนอกพื้นที่ได้ โดยจะมีหนังสือรับรองการกักกันตัว

จากการสำรวจพบว่า แพกเกจกิจกรรมด้านเวลเนสส่วนใหญ่ใช้เวลา 7-14 วัน แต่หากเป็น long term care ก็จะอยู่ระยะยาวขึ้นหรืออย่างน้อยใช้เวลาหลายเดือน ดังนั้น หากรัฐบาลเห็นภาพการขับเคลื่อนก็จะมองเห็นโอกาสในธุรกิจเวลเนสกับเมดิคัล ขณะเดียวกันกลุ่มกิจการที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ด้านสมุนไพร ก็ต้องหาช่องทางที่จะเข้ามาปลั๊กอินกับโปรแกรมนี้

ส่วนการเดินทางเข้าไทยของชาวต่างชาติกลุ่มเมดิคัลและเวลเนส ศบค.ยังจำกัดเฉพาะทางอากาศและทางบก ในส่วนของทางอากาศก็ไม่ซับซ้อนโดยกำหนดให้เข้ามาทางสนามบินท้องถิ่น ขณะที่ทางบกกำหนดให้ผ่านเข้ามาทางด่านตรวจคนเข้าเมือง (ต.ม.) ที่ขณะนี้ได้รับอนุญาตแล้ว 9 จุดและจะเปิดเพิ่มในอนาคต เช่น ด่าน ต.ม.สะพานมิตรภาพไทยลาว จ.หนองคาย ด่าน ต.ม.แม่สาย จ.เชียงราย โดยจะจัดหารถไปรับที่ด่านแล้วเดินทางมายังสถานที่เป้าหมาย ส่วนการเดินทางเข้าไทยทางน้ำหรือทางเรือนั้นยังอยู่ระหว่างศึกษาในรายละเอียด 

“เรากำลังตามหากลุ่มที่ให้บริการด้านคมนาคมขนส่ง ที่เป็นมินิบัสหรือบัสที่มีฉากกั้นระหว่างคนขับกับผู้โดยสาร มีห้องน้ำในตัวเพราะตามข้อกำหนดคือห้ามแวะพักระหว่างทางใดๆ ทั้งสิ้นแม้จะเป็นระยะทางไกลจากแม่สายมากรุงเทพฯ โดยเร็วๆนี้จะเชิญผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทรถโดยสารต่างๆ เข้ามาหารือต่อไป ”

ในส่วนของเมดิคัลโปรแกรม เสาวภา กล่าวว่า มียื่นเสนอขอเข้ามาวันละประมาณ 30-50 คน ส่วนใหญ่เป็นการทำหัตถการทั้งผ่าตัดใหญ่ ผ่าตัดเล็กและผ่าตัดแปลงเพศ ซึ่งเฉพาะชาวญี่ปุ่นยื่นขอทำการรักษานี้ประมาณ 80 คนทั้งผ่าตัดแปลงเพศจากผู้หญิงเป็นผู้ชายและผู้ชายเป็นผู้หญิง ซึ่งต้องอยู่เมืองไทยมากกว่า 14 วัน เมื่อแอดมิดผ่าตัดที่โรงพยาบาลเสร็จ ก็ต้องตรวจติดตามเป็นรอบๆ อีกทั้งต้องเข้ารับการประเมินด้านสุขภาพจิต กายภาพและฮอร์โมนด้วย เช่นเดียวกับการรักษาภาวะมีบุตรยากก็ต้องเข้ามาทั้งสามีและภรรยา ใช้เวลามากกว่า 14 วันเช่นกันตั้งแต่เตรียมร่างกาย เก็บไข่และฝังตัวอ่อน

“การขับเคลื่อนโปรแกรมเศรษฐกิจที่ต้องคลายล็อกประเทศเปิดรับชาวต่างชาติ เราให้ความสำคัญกับการบาลานซ์ระหว่างการควบคุมโรคระบาดกับเศรษฐกิจโดยดูรายได้รวมทั้งหมด อีกทั้งแสดงให้เห็นบทบาทของ สธ.ในการช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศ" เสาวภา กล่าว

  • มาตรฐานสถานกักกันรพ.ทางเลือก   

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสุนนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ได้อยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ ในขั้นต่อไปในการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและสังคม ภาครัฐได้มีการผ่อนปรนให้บุคคลบางประเภทเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ซึ่งประเทศไทยนั้นนับได้ว่าเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางด้านสุขภาพเป็นอันดับต้นๆ ของโลก จึงมีผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพและจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องประสงค์จะเข้ามารับการรักษาพยาบาลในไทย 

ดังนั้น เพื่อการตรวจคัดกรอง และเฝ้าระวังโรคโควิด-19 ตามหลักเกณฑ์และแนวทางการควบคุมป้องกันโรคอย่างเป็นระบบ กรม สบส. จึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำโครงการสถานกักกันในโรงพยาบาลทางเลือก (Alternative Hospital Quarantine) ขึ้น เพื่อกักกันตัวผู้ป่วยชาวต่างชาติรวมถึงผู้ติดตาม ซึ่งจะต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลตามที่ได้มีการนัดหมายไว้ล่วงหน้า และไม่มีอาการป่วยด้วยโรคโควิด-19

โดยใช้สถานพยาบาลเอกชนที่รัฐกำหนดเป็นสถานที่กักกัน เฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคโควิด-19 พร้อมกับการรักษาพยาบาลตามกลุ่มโรค/ อาการ/ หัตถการที่นัดหมาย ตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่รัฐกำหนด และจะต้องชำระค่าใช้จ่ายเองทั้งหมดระหว่างการรักษาพยาบาลและกักกันตน โดยพิจารณาการนัดหมายจากผู้ป่วยและผู้ติดตาม ในกลุ่มประเทศสีเขียวและสีเหลืองเท่านั้น จะไม่มีการนัดหมายผู้ป่วยและผู้ติดตามจากกลุ่มประเทศสีแดง

ซึ่งการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยผู้ป่วยและผู้ติดตามจะต้องแสดงเอกสารและหลักฐานตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กำหนด อาทิ ใบรับรองแพทย์ กรมธรรม์ที่ครอบคลุมโรคโควิด-19 ที่มีวงเงินไม่น้อยกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ ผลตรวจโรคโควิด-19 ที่ออกให้ก่อนเดินทางล่วงหน้าไม่เกิน 72 ชั่วโมง ฯลฯ และเมื่อเดินทางเข้ามาในประเทศแล้วสถานพยาบาลจะมารับตัวผู้ป่วยและผู้ติดตามไปกักกันตัว ณ สถานพยาบาลเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน ในระบบปิด 

พร้อมทำการตรวจคัดกรองโรคโควิดตามระยะเวลาที่กำหนด รวม 3 ครั้ง (ก่อนรักษา ระหว่างรักษา และหลังการรักษา) และรายงานอาการของผู้ป่วยและผู้ติดตามทุกวัน หากพบอาการของโรคโควิด-19 จะมีการแจ้งไปยังสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง และกรมควบคุมโรคในพื้นที่โดยทันที

ทังนี้ ได้มีการประเมินสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่อง หากพบว่าผู้ป่วยและผู้ติดตามจากประเทศใดมีความสุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการของโรคโควิด-19 ก็จะมีการแจ้งเวียนไปยังสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการให้ชะลอการรับผู้ป่วยและผู้ติดตามจากประเทศนั้นๆ 

ซึ่งล่าสุดก็ได้มีการแจ้งเวียนให้ชะลอการรับผู้ป่วยและผู้ติดตามจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่าในช่วงนี้ เนื่องด้วยมีสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 จึงขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าการดำเนินงานของสถานกักกันในโรงพยาบาลทางเลือก จะไม่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างแน่นอน ด้วยทั้งภาครัฐและเอกชนมีการดำเนินการป้องกัน ควบคุมโรคตามมาตรฐานอย่างเคร่งครัด 

160020155668