ความท้าทายหลังโควิด ธุรกิจเช่าพื้นที่ค้าปลีกในอีอีซี

ความท้าทายหลังโควิด ธุรกิจเช่าพื้นที่ค้าปลีกในอีอีซี

วิกฤติโควิด-19 ความท้าทายครั้งใหญ่ของ EEC โดยการลงทุนภาคธุรกิจ จากเดิมช่วงปี 2014-2018 ที่มีการเติบโตราว 9% ต่อปี รวมถึงธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งที่เติบโตอย่างต่อเนื่องราว 800 กิจการต่อปีช่วงปี 2014-2019 ซึ่งได้รับผลกระทบจากการบริโภคในประเทศหดตัว

การเติบโตของการลงทุนภาคธุรกิจใน EEC ส่งผลให้เกิดการจ้างงานและการขยายตัวของเมืองมากขึ้น โดยในช่วงปี 2014-2019 การจ้างงานใน EEC เพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 0.8% หรือ 16,000 ตำแหน่งต่อปี ซึ่งสวนทางกับภาวะการจ้างงานรวมทั้งประเทศที่ลดลง 

นอกจากนี้ข้อมูลของกรมการปกครองพบว่าจำนวนประชากรในพื้นที่ 3 จังหวัดของ EEC ขยายตัวเฉลี่ย 1.5% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าอัตราการขยายตัวของประชากรทั้งประเทศ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสสำหรับการขยายพื้นที่ค้าปลีกใน EEC 

ทั้งนี้ก่อนวิกฤติ COVID-19 จากข้อมูล GPP (Gross Provincial Product) ในช่วง 2014-2018 พบว่าภาคค้าปลีกใน EEC เติบโตราว 9% ต่อปี เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ โดยเฉพาะชลบุรีและระยอง ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลรายได้จากการซื้อสินค้าและของที่ระลึกใน EEC ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาที่มีมูลค่าราว 5 หมื่นล้านบาท 

อีกทั้งจากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่าก่อนวิกฤติ COVID-19 จำนวนธุรกิจค้าปลีก/ค้าส่งสุทธิเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องถึงราว 800 กิจการต่อปีในช่วงปี 2014-2019 มาอยู่ที่ราว 17,000 บริษัท ส่งผลให้อุปทานพื้นที่ค้าปลีกให้เช่าภายใน EEC มีแนวโน้มขยายตัวตาม สะท้อนจากยอดการขออนุญาตก่อสร้างโครงการพาณิชยกรรมที่เติบโตกว่า 9 แสนตารางเมตรต่อปีในช่วงเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ภาคค้าปลีกได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างจากมาตรการ lockdown ในช่วง COVID-19 เนื่องจากการบริโภคในประเทศหดตัวลงและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป ทำให้พื้นที่ค้าปลีกให้เช่าเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมาก แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาเจ้าของโครงการค้าปลีกมีการปรับลดค่าเช่าเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบของผู้เช่า แต่พบว่าอัตราการเช่ายังมีแนวโน้มลดลงจากการปิดกิจการที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งการออกนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐอาจกระตุ้นการใช้จ่ายในพื้นที่ได้ในระยะสั้นเท่านั้น 

เนื่องจากธุรกิจท่องเที่ยวใน EEC พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก และอาจใช้เวลานานกว่าธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่จะกลับสู่ภาวะปกติ นอกจากนี้ การชะลอตัวของภาคค้าปลีกยังเป็นความท้าทายต่ออุปทานพื้นที่ค้าปลีกที่จะเข้ามาในอนาคต 

โดย EIC คาดว่า COVID-19 อาจส่งผลให้เจ้าของโครงการเผชิญกับความเสี่ยงด้านอุปทานส่วนเกิน เนื่องจากความต้องการพื้นที่ค้าปลีกอาจเติบโตช้ากว่าอุปทานจากจำนวนธุรกิจค้าปลีก/ค้าส่งสุทธิในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2020 ที่ลดลงไปกว่า 201 บริษัท 

อีกทั้งผลกระทบจาก COVID-19 ยังส่งผลให้โครงการค้าปลีกใหม่จำนวนมากชะลอออกไปและทำให้เจ้าของโครงการต้องแบกรับภาระต้นทุนรวมถึงภาระหนี้จากการลงทุนโดยมูลค่าสินเชื่อคงค้างธุรกิจอาคารศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าเพื่อการขายและให้เช่าพื้นที่ในจ.ชลบุรี ในช่วงปี 2015-2019 เฉลี่ยอยู่ที่ราว 1,500 ล้านบาท ซึ่งสูงเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศเป็นรองเพียงกรุงเทพฯ เท่านั้น สำหรับเจ้าของโครงการที่มีแผนเปิดให้บริการในช่วงนี้อาจต้องจับตามองสัญญาณการฟื้นตัวของการบริโภคและการท่องเที่ยวในระยะข้างหน้า

แม้ว่า COVID-19 จะส่งผลกระทบต่อภาคค้าปลีกใน EEC ค่อนข้างสูง แต่ในระยะต่อไปหากสถานการณ์คลี่คลาย EEC ยังคงเป็นพื้นที่ศักยภาพสูงสำหรับธุรกิจค้าปลีก 

ทั้งนี้นอกจากมาตรการด้านความปลอดภัยและสุขอนามัยแล้ว เจ้าของโครงการจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้บริโภค เช่น การปรับปรุงพื้นที่โครงการ การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดเก็บข้อมูลพฤติกรรมของผู้บริโภคเพื่อนำไปวิเคราะห์และออกแบบสินค้า/บริการให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค ตลอดจนการทำการตลาดให้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้นเพื่อรองรับผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวที่จะกลับมาใช้บริการในอนาคต