ปูมประวัติ 'อภิรัชต์-ณรัชต์' ได้รับโปรดเกล้าฯเป็นรองเลขาธิการพระราชวัง

ปูมประวัติ 'อภิรัชต์-ณรัชต์' ได้รับโปรดเกล้าฯเป็นรองเลขาธิการพระราชวัง

ประวัติและปูมหลัง พล.อ.อภิรัชต์ และ พ.ต.อ.ณรัชต์ ได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นรองเลขาธิการพระราชวัง ระดับ 11 โอนเป็นข้าราชการในพระองค์ฝ่ายพลเรือน และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นพิเศษเฉพาะราย

มีคำสั่งสำนักพระราชวังที่ 182 / 2563 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุมัติรับโอนข้าราชการทหารและข้าราชการพลเรือนสามัญ มาบรรจุเป็นข้าราชการในพระองค์ฝ่ายพลเรือนและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นพิเศษเฉพาะรายจำนวน 2 ราย

โดยอาศัยอำนาจตามความใน มาตรา 6 มาตรา 14 มาตรา 15 แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ 2560 ข้อ 12 ข้อ 13 ข้อ 15 แห่งระเบียบส่วนราชการในพระองค์ว่าด้วยการบริหารข้าราชบริพารในพระองค์ 2560 ข้อ 11 แห่งระเบียบส่วนราชการในพระองค์ว่าด้วยการบริหารข้าราชบริพาร ในพระองค์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 2563 ข้อ 29 แห่งระเบียบส่วนราชการในพระองค์ว่าด้วยรถราชการและค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่ง 2560 และข้อ 4 แห่งระเบียบส่วนราชการในพระองค์ว่าด้วยรถราชการและค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งแก้ไขเพิ่มเติม 2563

จึงให้รับโอนข้าราชการทหารและข้าราชการพลเรือนสามัญมาบรรจุเป็นข้าราชการในพระองค์ฝ่ายพลเรือนและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นพิเศษเฉพาะราย จำนวน 2 ราย ตามบัญชีแนบท้าย คือ พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก เป็นรองเลขาธิการพระราชวังระดับ 11 พันตำรวจเอกณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นรองเลขาธิการพระราชวังระดับ 11

ตั้งแต่ 30 กันยายน 2563 เป็นต้นไป โดย พลอากาศเอก สถิตพงษ์ สุขวิมล เลขาธิการพระราชวัง ลงนามในเอกสาร ดังกล่าว ลงวันที่ 12 กันยายน 2563

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งพล.อ.อภิรัชต์ และ พ.ต.อ.ณรัชต์ เป็นเพื่อนเตรียมทหารรุ่น 20 (ตท.20) ที่จะเกษียณราชการ 30 ก.ย.2563 พร้อมกัน

โดยในส่วนของพล.อ.อภิรัชต์นั้น ป็นบุตรชายคนโตของ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด และหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ในเหตุการณ์รัฐประหารปี 2534 

ขณะที่ชีวิตราชการเติบโตมาในสายงานและคุมกองกำลังสำคัญ ทั้งผู้บังคับกองพันที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ,ในปี2553 ดำรงดำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11ซึ่งถือเป็นหน่วยงานมีมีบทบาทสำคัญต่อสถานการณ์การเมือง ณ ขณะนั้น  

เช่นเดียวกับเหตุการณ์การเมืองในปี57 ขณะนั้น พล.อ.อภิรัชต์ ดำรงตำแหน้งเป็นเป็นผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.) ก่อนก้าวขึ้นตำแหน่งสำคัญทั้งรองแม่ทัพภาคที่ 1, แม่ทัพน้อยที่ 1, แม่ทัพภาคที่ 1 และดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก 

ก่อนจะได้รับพระราชบรมโองการฯ แต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการทหารบก เริ่มปฏิบัติหน้าที่ในวันที่1ต.ค.2561 ซึ่งถือเป็นตำแหน่งสุดท้ายก่อนได้รับพระราชทานพระบรมราชานุมัติรับโอนข้าราชการ เป็นข้าราชการในพระองค์ฝ่ายพลเรือนในตำแหน่งรองเลขาธิการพระราชวัง

ส่วนพ.ต.อ.ณรัชต์นั้น  นอกเหนือจะเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 20 รุ่นเดียวกับ พล.อ.อภิรัชต์ แล้วยังเป็นโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 36 (นรต.36)รุ่นเดียวกับ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) เคยรับราชการตำรวจ กระทั่งดำรงตำแหน่งสุดท้ายที่ตำแหน่งผู้กำกับการฝ่ายตำรวจสากล กองการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ก่อนโอนย้ายมารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนในกระทรวงยุติธรรม ตั้งแต่ พ.ศ. 2546  ในตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ,ผู้บัญชาการสำนักคดีการเงินและการธนาคาร กรมสอบสวนคดีพิเศษ , ผู้บัญชาการสำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา กรมสอบสวนคดีพิเศษ ,รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ, ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม

อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และอธิบดีกรมคุมประพฤติอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียรอายุราชการในวันที่30ก.ย.นี้

นอกจากนี้พ.ต.อ.ณรัชต์ยังเคยได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งทางการเมืองทัั้งสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ)อีกด้วย