ย้อนรอย '19 กันยา' กับ 13 'รัฐประหาร' ไทย รอยแผลเป็น บนถนนประชาธิปไตย?

ย้อนรอย '19 กันยา' กับ 13 'รัฐประหาร' ไทย รอยแผลเป็น บนถนนประชาธิปไตย?

จากเหตุการณ์ "19 กันยา" ย้อนรอยการ "รัฐประหาร" 13 ครั้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อวันวาน ที่ทิ้งร่องรอย หรือบาดแผลอะไรไว้บ้าง บนเส้นทางประชาธิปไตยในวันนี้

ท่ามกลางเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า อาจจะเกิดรัฐประหารอีกครั้ง หลังจากที่กระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยดังถี่ขึ้น นับตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ การเกิดแฟลชม็อบในหลายพื้นที่ต่อเนื่องมาจนถึงการชุมนุมครั้งใหญ่ในเดือนกรกฎาคม กับเยาวชนปลดแอก ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับสถาบันการเมืองไทยไม่น้อย

วันที่ 19 กันยายน มีบทบันทึกทางประวัติศาสตร์ไทยระบุไว้ว่า วันนี้เคยเกิดรัฐประหาร เมื่อ 14 ปีที่แล้ว กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จึงถือโอกาสชวนย้อนมองไทม์ไลน์การรัฐประหารที่ผ่านมาตลอดทั้ง 13 ครั้งที่ผ่านมาว่า ใครทำรัฐประหาร และเกิดอะไรขึ้นบ้างในช่วงเวลานั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ย้อนอ่านประกาศ 'รัฐประหาร 2549' สู่ '19 กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร'

  • 1. รัฐประหารครั้งแรก 1 เมษายน พ.ศ. 2476

เรียกว่าเป็นปฐมบทของรัฐประหารหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 โดยครั้งนี้ ผู้ที่ทำการรัฐประหารคือ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ที่กำลังดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ออกประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร แต่งตั้งรัฐมนตรีชุดใหม่ และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา

การรัฐประหารครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความขัดแย้งของชนชั้นนำ ระหว่างกลุ่มพลังเก่า (ขุนนาง) และกลุ่มพลังใหม่ (คณะราษฎร) โดยกลุ่มพลังเก่าสร้างสถานการณ์ นำเสนอพระราชบัญญัติที่คาดว่าจะไม่ผ่านสภา สร้างวาทกรรมว่ารัฐสภาก่อความวุ่นวาย เพื่อดึงทหารเข้ามาทำให้เกิดความวุ่นวายในสภา หลังจากนั้นคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ได้อ้างเหตุนี้แถลงต่อประชาชน เป็นการช่วงชิงพื้นที่สังคมอุดมการณ์ ก่อนเข้าควบคุมพื้นที่สังคมการเมือง

 

  • 2. รัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476

หลังจากที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ทำการรัฐประหารโดยพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร และตั้งแต่รัฐบาลชุดใหม่ ไม่กี่วันหลังจากนั้น พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ก็ได้ทำการยึดอำนาจรัฐบาล โดยบังคับให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การทำรัฐประหารครั้งนี้ใช้เหตุผลที่ว่า คณะรัฐมนตรีบริหารราชการไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ขาดความชอบธรรมทางการเมือง เป็นการช่วงชิงพื้นที่อำนาจทางการเมือง การรัฐประหารครั้งนี้ได้ถูกกล่าวไว้ว่า เป็นการทำรัฐประหารที่ทำให้กลุ่มฝ่ายขุนนางอนุรักษ์นิยมต้องยุติบทบาทลง

  • 3. รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

การรัฐประหารครั้งนี้ นำโดย พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ ซึ่งเป็นกลุ่มนายทหารนอกประจำการ ใช้ชื่อว่า “คณะทหารของชาตินำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจรัฐบาล พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ การรัฐประหารครั้งนี้มีผู้สนับสนุนออกค่าใช้จ่ายในการรัฐประหารทั้งหมดคือ นายวรการบัญชา (บุญเกิด สุตันตานนท์)

การรัฐประหารครั้งนี้ คณะรัฐประหารโดยอ้างสาเหตุในการรัฐประหารคือ รัฐบาลไร้ความสามารถ เศรษฐกิจตกต่ำ ทอดทิ้งและไม่ให้เกียรติทหาร รวมถึงไม่สามารถชี้แจงกรณีการสวรรคตของ ร.8 ได้ หลังจากที่ยึดอำนาจได้คณะรัฐประหารจึงสนับสนุน จอมพล ป.พิบูลสงคราม ขึ้นเป็นหัวหน้ารัฐประหาร และประกาศเลิกใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2489 และร่างขึ้นมาใหม่ จากนั้นแต่งตั้งให้ นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี การรัฐประหารครั้งนี้ทำให้คณะราษฎร อาทิ นายปรีดี พนมยงค์ จำต้องลี้ภัยทางการเมือง

  • 4. รัฐประหาร 6 เมษายน พ.ศ. 2491

การทำรัฐประหารครั้งนี้ กลุ่มคนที่ทำก็คือ คณะนายทหารที่ทำรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน นำโดย พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ ที่เข้าเรียกร้องให้นายควง อภัยวงศ์ จ่ายเงินจำนวน 28 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายการเดินทางกลับหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งนายควงไม่ยอมจ่าย คณะรัฐประหารจึงบังคับลาออกจากตำแหน่ง และแต่งตั้งให้ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีแทน

  • 5. รัฐประหาร 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494

การทำรัฐประหารครั้งนี้กระทำโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่รัฐประหารตัวเองเพื่อกระชับอำนาจ ซึ่งได้ให้เหตุผลว่าถูกภัยคอมมิวนิสต์คุกคาม รวมถึงมีการทุจริต และคอร์รัปชันมากขึ้น และรัฐบาลไม่สามารถจัดการได้ คณะรัฐประหารจึงประกาศยุบคณะรัฐมนตรี และรัฐสภา แต่ตั้งคณะบริหารประเทศขึ้นมาชั่วคราวที่มี จอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ การทำรัฐประหารครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา

 

  • 6. รัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ. 2500

จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ อาศัยสถานการณ์การชุมนุมไฮปาร์คที่ท้องสนามหลวงที่โจมตีรัฐบาลขณะนั้น ทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยใช้ชื่อว่า “ผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร โดยอ้างเหตุผลว่า รัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้บริหารราชการแผ่นดินไม่เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน และไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้ นอกจากนั้นการทำรัฐประหารครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจาก สหรัฐอเมริกา อีกด้วย

 

  • 7. รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501

จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับคณะรัฐประหารเดิมของตนเองได้เข้ายึดอำนาจรัฐบาล จอมพล ถนอม กิตติขจร ที่ได้ตกลงกันไว้แล้ว โดยใช้ชื่อว่า คณะปฏิวัติ และได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2475 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับ พ.ศ.2495 ยกเลิกพรรคการเมือง ยกเลิกรัฐสภา ออกกฎหมายควบคุมหนังสือพิมพ์ และประกาศห้ามชุมนุมทางการเมือง

เรียกได้ว่า การรัฐประหารครั้งนี้ คณะรัฐประหารที่เรียกตัวเองว่า คณะปฏิวัติมีอำนาจเต็มที่ในการบริหารประเทศ และประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรไม่มีกำหนด การรัฐประหารครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนด้วยเงินจำนวนมากจากสหรัฐอเมริกา เพื่อขับเคลื่อนวาทกรรมการพัฒนาที่นับเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนด

  160017521072

  • 8. รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514

การรัฐประหารครั้งนี้ จอมพลถนอม กิตติขจร ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้กระทำการรัฐประหารรัฐบาลของตนเอง โดยให้สาเหตุว่ารัฐบาลไม่สามารถควบคุมเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งได้ จึงประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2511 ยกเลิกวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร และคณะรัฐมนตรี หัวหน้ารัฐประหารเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด ประกาศใช้กฎอัยการศึก และประกาศห้ามมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ยกเลิก พ.ร.บ.พรรคการเมือง 2511 จัดตั้งสภาบริหารคณะปฏิวัติ เพื่อบริหารประเทศ การทำรัฐประหารครั้งนี้มีเพื่อกระชับอำนาจของจอมพลถนอมฯ เพื่อจัดการกลุ่มพลังในรัฐสภา ที่ไม่สามารถควบคุมได้ จึงใช้อำนาจของตนเองเข้าควบคุมพื้นที่ทางการเมือง

  • 9. รัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519

ภายหลังเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2514 สถานการณ์การเมืองไทยมีประชาธิปไตยมากขึ้น กลุ่มตัวแทนของผู้ที่ถูกดขี่ออกมาเรียกร้องความยุติธรรมมากขึ้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ออกนโยบายกระชับมิตรกับต่างประเทศมากขึ้น และยังให้ทหารอเมริกาย้ายฐานทัพออกจากไทยไป ทำให้ฝ่ายขวาไม่พอใจ และได้จัดตั้งกลุ่มต่อต้าน เช่น กลุ่มนวพล กลุ่มกระทิงแดง ฯลฯ ขึ้นมาเพื่อสร้างความรุนแรง กลายเป็นแรงประทุในการเมือง ในวันที่ 19 กันยายน 2519 ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่ จอมพลถนอม กิตติขจร ที่กลับมาจากบวชพระทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงไล่ในหลายพื้นที่

ต่อมา ได้พบศพชาย 2 คน ถูกแขวนคอที่นครปฐม โดยมีความเชื่อว่าเป็นฝีมือของตำรวจ นักศึกษาจึงนำไปแสดงละครที่ ม.ธรรมศาสตร์ จากนั้นหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ และดาวสยามได้ลงภาพการแสดงละคร ทางฝ่ายขวาสร้างข้อกล่าวหาว่า เป็นหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะในภาพมีการแต่งหน้าคล้ายองค์รัชทายาท หลังจากนั้นจึงมีการติดอาวุธเข้าไปล้อมธรรมศาสตร์ เกิดความรุนแรงมีนักศึกษาเจ็บและตายจำนวนมาก

คณะปฏิรูปการปกครองที่นำโดย พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ จึงเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2517 จากนั้นคณะรัฐประหารจึงมอบอำนาจให้นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี และเชื่อกันอีกว่าการรัฐประหารนี้ได้งบสนับสนุนจากสหรัฐฯ ผ่าน กอ.รมน.และตำรวจ

  • 10. รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520

คณะ รสช. ในขณะนั้นอึดอัดกับนโยบายรัฐบาลของ ธานินทร์ กรัยวิเชียร จึงทำให้เกิดรัฐประหารจากคณะปฏิวัติโดย พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ เข้ายึดอำนาจ โดยอ้างว่าการปฏิวัติว่า สถาบันพรมหากษัตริย์ตกอยู่ในภาวะที่ประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกกังวล การบริหารราชการไม่มีความคืบหน้า ประชาชนเกิดความแตกแยกทางความคิดเห็น เสรีภาพในการมีส่วนร่วมถูกปิดกั้น ด้านเศรษฐกิจการลงทุนลดลง ค่าครองชีพสูงขึ้น การว่างงานเพิ่มขึ้น

เมื่อทำการรัฐประการจนสำเร็จ คณะรัฐประหารจึงตั้งแต่ง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี และประกาศยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2519 แต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2530 แทน และเชื่อกันอีกว่า การรัฐประหารนี้ได้งบสนับสนุนจากสหรัฐฯ เพราะพล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ มีความใกล้ชิดกับสหรัฐฯ อย่างมาก

  • 11. รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534

คณะ รสช. โดย พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ จากนั้นคณะรัฐประหารได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2534 แทน และแต่งตั้งให้นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี จากนั้นรัฐบาลของอานันท์ ได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคสามัคคีธรรมชนะการเลือกตั้ง จึงเสนอให้นายณรงค์ วงศ์สุวรรณ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ว่าไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากอีกฝ่ายให้เหตุผลว่า ถูกสหรัฐฯ งดออกวีซ่าให้เข้าประเทศ เพราะสงสัยว่าพัวพันกับการค้ายา

ทำให้พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งเสนอ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี นำไปสู่การชุมนุมคัดค้านนายกรัฐมนตรีคนนอกยาวต่อเนื่อง เรียกร้องให้ พล.อ.สุจินดา ลาออกจากตำแหน่ง จนเกิดเป็นเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” 

 

  • 12. รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549

การรัฐประหารครั้งนี้ นำโดน พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้ายึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร โดยอ้างเหตุผลว่า การยึดอำนาจในครั้งนี้เกิดจากการบริการราชการแผ่นดินของรัฐบาลดังกล่าวได้ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ขาดความสามัคคีอย่างที่ไม่เกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย และการบริหารราชการแผ่นดินไปในทางทุจริตอย่างกว้างขวาง และหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

หลังจากนั้นทางคณะรัฐประหารได้ประกาศใช้กฎอัยการศึก และยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ทำให้วุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรี และศาลรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง และต่อมาจึงได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2549 และมอบให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

มีการวิเคราะห์ว่า การทำรัฐประหารครั้งนี้อาจจะได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ไม่มากก็น้อย เพราะไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลทักษิณฯ พยายามตีตัวออกจากสหรัฐฯ และร่วมมือกับจีน

  • 13. รัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

พรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งในปี 2554 และเสนอนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมามีการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ จึงมีเสียงต่อต้านจากกลุ่ม กปปส. ทำให้ยิ่งลักษณ์ ประกาศยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่ว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้ยังดำเนินการไม่เรียบร้อย เพราะได้รับแรงต้านจากกลุ่ม กปปส. ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้การเลือกตั้งในปี 2557 เป็นโมฆะ รวมถึงยิ่งลักษณ์ ถูกตัดสินว่าขาดคุณสมบัติเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายโดยมิชอบ ทำให้ต้องแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีรักษาการ

ทำให้คณะ คสช. นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำการรัฐประการ ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 จัดทำรัฐธรรมนูญชั่วคราว

อ้างอิง: ประชาไท, รัฐประหารกับการเมืองไทย, ย้อนรอยรัฐประหารในประวัติศาสตร์ไทย , รายงานวิจัย รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2519 กับการเมืองไทย