เอกชนชง ศบศ.พักหนี้เพิ่ม 2 ปี ส.อ.ท.คาดปี 2564 ธุรกิจยังไม่ฟื้น

เอกชนชง ศบศ.พักหนี้เพิ่ม 2 ปี ส.อ.ท.คาดปี 2564 ธุรกิจยังไม่ฟื้น

ศบศ.นัดถกเพิ่มกระตุ้นเศรษฐกิจ ส.อ.ท.ชงต่อพักหนี้ 2 ปี เพิ่มสภาพคล่อง ชี้ปีหน้าธุรกิจยังไม่ฟื้น ขอลดจ่ายดอกเบี้ย สมาคมธนาคารไทย ย้ำต้องคำนึงถึงข้อดี-ข้อเสีย “คลัง” เล็งชงของบ​ 6 หมื่นล้านบาท ค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ.ในวันนี้ (16 ก.ย.) เพื่อพิจารณามาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจเพิ่มเติม

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า การประชุม ศบศ.ครั้งนี้จะพิจารณาหลายวาระ โดยจะมีการเสนอมาตรการกระตุ้นด้านอสังหาริมทรัพย์ตามที่สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เสนอ

รวมทั้งพิจารณามาตรการส่งเสริมการขายอสังหาริมทรัพย์ประเภทคอนโดมิเนียมร่วมกับบัตรไทยแลนด์อีลิท ตามที่กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ เพื่อดึงดูดนักธุรกิจและนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาไทย ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเสนอการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลาการให้สินเชื่อสินค้า (Credit term) ในไทย

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การประชุม ศบศ.วันนี้ (16 ก.ย.) ส.อ.ท.จะนำเสนอข้อคิดเห็นขอภาคเอกชน 3 ประเด็น คือ 

1.การขอพักหนี้ให้ภาคเอกชนเป็นเวลา 2 ปี เพราะมาตรการพักชำระหนี้ 6 เดือนจะสิ้นสุดเดือน ต.ค.นี้ แต่จากภาวะโควิด-19 ที่เกิดขึ้นรุนแรงและกระทบทั่วโลกทำให้เศรษฐกิจอยู่ภาวะซบเซา ภาคเอกชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะเอสเอ็มอียังประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน

“รัฐบาลควรต่ออายุมาตรการพักชำระหนี้ต่อออกไป 2 ปี หรือสิ้นสุดเดือน ต.ค.2565 เพื่อไม่ให้ภาระหนี้บีบผู้ประกอบการเกินไป เพราะปี 2564 เอกชนเจ็บตัวมากยังฟื้นตัวได้ช้า โดยแม้ปี 2564 จะมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 จะส่งผลบวกต่อการท่องเที่ยวไทย แต่ยังมีปัญหาการกระจายวัคซีนไปทั่วโลก และยังมีการระบาดอยู่ทำให้เศรษฐกิจโลกซบเซา”นายสุพันธุ์ กล่าว

160017484438

2.ลูกหนี้ที่เข้าโครงการพักชำระหนี้ขอจ่ายดอกเบี้ย 10% ของดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายทั้งหมด โดยช่วงที่พักชำระหนี้ 2 ปีนี้ ลูกหนี้เพียงแต่ทะยอยจ่ายดอกเบี้ยแต่ควรจะไม่เกิน 10% ในช่วง 6 เดือนแรก ทั้งนี้หากในปีหน้าภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น ธนาคารอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ หากลูกหนี้เริ่มฟื้นตัวก็ส่งหนี้ได้ตามปกติ รวมทั้งหากพ้นช่วง 6 เดือน มีรายได้ไม่จ่ายดอกเบี้ย ธนาคารก็จะรู้ได้ว่าจะมีหนี้เอ็นพีแอลมากเท่าไร ก็จะช่วงวางมาตรการแก้ไขได้เร็วขึ้น

3.ให้ ธปท.ผ่อนคลายมาตรการการกันสำรองหนี้เสียสำหรับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะช่วยผ่อนคลายให้ธนาคารพาณิชย์กล้าที่จะปล่อยสินเชื่อ

นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า กรณีที่ ส.อ.ท.จะเสนอให้ออกมาตรการพักหนี้ให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิดเป็นเวลา 2 ปี และปรับเงื่อนไขให้ชำระคืนดอกเบี้ยบางส่วน เชื่อว่าเป็นข้อเสนอของภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบ และมีการเสนอเข้ามาผ่าน ส.อ.ท.เพื่อขอรับการช่วยเหลือเร่งด่วน

สำหรับการออกมาตรการมองว่า หลังจากรับทราบข้อเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็คงต้องมาหารือเกี่ยวกับรายละเอียด เพื่อพิจารณาการเข้าไปช่วยเหลือระยะถัดไป เพราะการออกมาตรการต่างๆนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาให้รอบคอบก่อนออกมาตรการถึงข้อดีและข้อเสียในมุมต่างๆ โดยเฉพาะการพักหนี้ออกไป 2ปี ซึ่งถือเป็นการพักหนี้ที่ค่อนข้างนาน

ทั้งนี้ เชื่อว่าปัจจุบัน ธปท.และสถาบันการเงินเร่งช่วยลูกหนี้อยู่แล้วผ่านมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะซอทฟ์โลนที่ให้บรรษัทค้ำประกันอุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ช่วยค้ำประกันเพิ่มเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจระยะนี้

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี กล่าวว่า กรณีที่ ส.อ.ท.เตรียมเสนอให้พักชำระหนี้เป็นเวลา 2 ปีนั้น เชื่อว่าทุกฝ่ายเข้าใจ ส.อ.ท.เป็นอย่างดี แต่คงต้องดูเรื่องความสมดุลด้วย ขณะเดียวกันยังต้องคำนึงถึงวินัยการเงิน ตลอดจนความเชื่อมั่นของประชาชนและภาคธุรกิจที่มีต่อระบบการเงิน

“ถ้าต้องเลื่อนไปอีก 2 ปี อาจจะทำให้แยกยากว่าบริษัทไหนดีหรือไม่ดี หรือบริษัทไหนที่ปรับตัวเข้ากับเศรษฐกิจในโลกใหม่ได้บ้าง ซึ่งถ้าพักไป 2 ปีจริง คนจะแยกไม่ออกว่าความเสี่ยงจริงๆ ของระบบเป็นเท่าไร อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่น ซึ่งจะกลายเป็นต้นทุนทางระบบ” นายนริศ กล่าว