GISTDA ร่วมเป็นสมาชิกองค์กรอวกาศโลก แสดงศักยภาพทัดเทียมนานาชาติ

GISTDA ร่วมเป็นสมาชิกองค์กรอวกาศโลก แสดงศักยภาพทัดเทียมนานาชาติ

GISTDA ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ISECG ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของ 24 องค์กรอวกาศทั่วโลก ส่งสัญญาณให้กับประเทศอื่นว่า ประเทศไทยมีความพร้อม และมีศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศทัดเทียมกับนานาประเทศ

หากกล่าวถึงเทคโนโลยีอวกาศ หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับการใช้ข้อมูลจากดาวเทียม เพื่อติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ ในประเทศไทย เช่น สถานการณ์น้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟป่า ตลอดจนใช้ในการติดตามการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ เช่น ป่าไม้และแหล่งน้ำ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีอวกาศไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการประยุกต์ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเท่านั้น แต่หากหมายรวมถึงภารกิจที่เกี่ยวข้องกับอวกาศอื่นๆ เช่น การวิจัยในอวกาศ การสำรวจอวกาศ และการบริหารจัดการสิ่งที่อยู่นอกโลกร่วมกันในระดับนานาชาติด้วย

160017278726

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม International Space Exploration Coordination Group (ISECG) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของ 24 องค์กรอวกาศทั่วโลก เพื่อดำเนินกิจกรรมด้านภารกิจอวกาศ (Spaceflight) ร่วมกัน

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า กลุ่ม ISECG จัดตั้งขึ้นเพื่อประสานความร่วมมือในระดับนานาชาติด้านการสำรวจอวกาศ เพื่อก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการพัฒนาความรู้ร่วมกัน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจอวกาศในแต่ละประเทศให้เติบโตมากยิ่งขึ้น การร่วมเป็นส่วนหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม ISECG ไม่เพียงประเทศไทยจะได้รับโอกาส และได้รับการยอมรับจากหน่วยงานอวกาศชั้นนำระดับโลก แต่ยังเป็นการให้สัญญาณกับประเทศอื่นว่าประเทศไทยมีความพร้อมและมีศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศทัดเทียมกับนานาประเทศอีกด้วย

160017257264

ภาพ ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA

ที่ผ่านมา GISTDA ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมการสำรวจอวกาศ หลายโครงการ แม้ว่าจะเป็นระดับเริ่มต้น (Space emerging) แต่การได้มีโอกาสเข้าร่วมกลุ่ม ISECG จะทำให้ศักยภาพในการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีอวกาศ และการสำรวจอวกาศของประเทศไทยเพิ่มขึ้นไปอีกขั้น สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนรุ่นใหม่ที่สนใจในเทคโนโลยีได้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในอนาคต

ท้ายนี้จะเห็นว่า การวิจัยในอวกาศ การสำรวจอวกาศ หรือแม้แต่การที่ประเทศไทยจะมีนักบินอวกาศเพื่อเดินทางสำรวจดวงจันทร์หรือสำรวจดาวดวงอื่น หรือการดำรงชีวิตในอวกาศไม่ใช่เรื่องไกลตัวหรือเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป ประเทศไทยจะพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศไปพร้อมกับหลายประเทศทั่วโลก การศึกษาวิจัย การพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศไทยจะมีการขยายตัวมากยิ่งขึ้นอนาคต ซึ่งจะช่วยยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยได้ต่อไป

ส่วนโครงการพัฒนาดาวเทียมเล็ก หรือ THEOS-2 SmallSAT ซึ่งเป็นอีก 1 ในภารกิจสำคัญที่อยู่ภายใต้ระบบ THEOS-2 ของประเทศไทย ได้เริ่มออกแบบและพัฒนา ตั้งแต่ต้นปี 2562 โดยมีวิศวกรไทยเข้าร่วมตั้งแต่ต้น จนปัจจุบันมีวิศวกรไทยปฏิบัติงานอยู่ ณ เมืองกิลฟอร์ด ประเทศอังกฤษ จำนวน 19 คน

160017266964

ขั้นตอนการพัฒนาดาวเทียมเล็กได้ผ่านขั้นตอนการออกแบบที่สำคัญมาแล้ว อาทิ การออกแบบเบื้องต้น Preliminarily Design Review (PDR) และการออกแบบละเอียด Critical Design Review (CDR) ตลอดจนการผลิต และทดสอบอุปกรณ์ย่อย (Sub-system) จนผ่านการทดสอบในด่าน Module Readiness Review (MRR) เพื่อมั่นใจว่าพร้อมในการประกอบเป็นดาวเทียมหนึ่งดวง ในอาคารประกอบและทดสอบดาวเทียม ณ สหราชอาณาจักร (Assembly Integration and Test : AIT) ทั้งนี้ โครงการฯ มีแผนจะส่งดาวเทียมมาประกอบและทดสอบ ณ อาคาร AIT ในประเทศไทยด้วย ช่วงปลายปี 2564 เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ทั้งศักยภาพและความพร้อมในการพัฒนาดาวเทียมดวงต่อไปในประเทศไทย >>>