บอร์ดกทพ.โยกบัญชีพิพาทบีอีเอ็มเข้ารายได้คาดทำปีนี้กำไร 5 พันล้าน

บอร์ดกทพ.โยกบัญชีพิพาทบีอีเอ็มเข้ารายได้คาดทำปีนี้กำไร 5 พันล้าน

บอร์ด กทพ.คาดปีนี้กวาดกำไร 5 พันล้าน เผยปิดบัญชีข้อพิพาทร่วม “บีอีเอ็ม” ทยอยบันทึกคืนเป็นรายได้เฉลี่ยปีละ 300 ล้านบาท ตลอด 15 ปี 8 เดือน พร้อมสั่งผู้ว่าการ กทพ.เร่งสรุปโครงการใช้เงินกองทุนทีเอฟเอฟ หวังลดปัญหาจ่ายดอกเบี้ย

นายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.เมื่อวันที่14ก.ย.ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติการลงบัญชีผลประกอบการของ กทพ.แบบไม่เป็นหนี้ ตามคำนิยามของสภาวิชาชีพบัญชี กรณียุติข้อพิพาทระหว่าง กทพ. และ บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็มมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 1.37 แสนล้านบาท แลกกับสัมปทาน 15 ปี 8 เดือน

“บอร์ดพิจารณาและเล็งเห็นว่าการยุติข้อพิพาททั้งหมดได้ ก็ทำให้มูลค่าความเสียหายระหว่างบีอีเอ็ม ยังไม่ได้อยู่ในสถานะ หรือสภาพความเป็นหนี้ บอร์ดจึงอนุมัติให้ลงบัญชีแบบไม่เป็นหนี้ได้ ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งทำให้ กทพ.สามารถปิดความเสี่ยงความเป็นหนี้ทั้งหมดได้”

ส่วนกรณีการลงบัญชีความหนี้ตั้งแต่ปี 2561 ที่ กทพ.แพ้คดีสร้างทางแข่งขันกับบีอีเอ็ม มูลค่า4,200 ล้านบาท ขณะนี้ก็ถือว่าข้อพิพาทจบทุกกรณีแล้ว จึงไม่ต้องบันทึกลงบัญชีหนี้ ดังนั้นจากนี้ไปจะมีการลงบัญชีส่วนนี้คืนเป็นรายได้ให้ กทพ.เฉลี่ยตามอายุสัญญาสัมปทานใหม่ 15 ปี 8 เดือน หรือปีละประมาณ 300 ล้านบาท ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อ กทพ.ที่จะทำให้มีบัญชีที่เป็นรายได้กลับคืนมา

ขณะที่คดีความระหว่าง กทพ.กับบีอีเอ็มยังมีเหลือค้างอยู่อีก 1 คดีที่ กทพ.ฟ้องบีอีเอ็ม แต่ไม่ใช่ประเด็นข้อพิพาท อยู่ระหว่างการรอศาลตัดสิน อย่างไรก็ดี หากศาลยกฟ้องก็ถือว่าคดีความที่มีร่วมกันสิ้นสุดลง ซึ่งที่ผ่านมาติดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 จึงทำให้กระบวนการล่าช้า เบื้องต้นคาดว่าจะได้ข้อยุติเร็วๆ นี้

“จากนี้ไปถือเป็นการเริ่มต้นใหม่ระหว่าง กทพ.กับบีอีเอ็ม และถือว่าเป็นจังหวะที่ดี คาดการณ์ว่าปีนี้จะมีกำไรประมาณ 5 พันล้านบาท ซึ่งกำไรอาจลดลงบ้าง แต่ไม่เยอะ ในภาพรวมยังถือว่าอยู่ในสภาพทางการเงินที่แข็งแกร่ง”

160017049385

นายสุรงค์ ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้ กทพ.มีปัญหาที่ต้องเร่งจัดการเพียงประเด็นการบริหารเงินกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย(ไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์) หรือทีเอฟเอฟ เนื่องจาก กทพ.ได้รับเงินส่วนดังกล่าวมาแล้ว แต่ยังไม่ได้นำมาจัดใช้ เพราะโครงการก่อสร้างยังล่าช้า ส่งผลให้เกิดภาระเสียดอกเบี้ยส่วนต่างอยู่ประมาณ 3 พันล้านบาทต่อปี เพราะดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ได้เพียง 1.6% ต่อปีเท่านั้น ทำให้ส่วนต่างของดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายคืนผู้ลงทุนยังติดลบ

ทั้งนี้ ปัจจุบัน กทพ.อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาแก้ระเบียบข้อบังคับของเงินกองทุนทีเอฟเอฟไม่ใช่แค่เงินฝากเท่านั้น แต่ให้สามารถนำไปซื้อกองทุนหรือพันธบัตรรัฐบาลได้ หรือสามารถให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ของรัฐ เช่น กรุงไทย เข้ามาบริหารเพื่อให้ได้ดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และเพียงพอกับที่จะต้องจ่ายส่วนต่างให้กับผู้ลงทุน

นอกจากนี้ที่ประชุมบอร์ด กทพ.ได้สั่งการให้ผู้ว่าการ กทพ.เร่งดำเนินโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอนN2เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก และส่วนทดแทนตอนN1 ให้จบโดยเร็วเพื่อประโยชน์ของประชาชน รวมถึงให้เร่งดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมเรื่องการบริหารจราจรทั้งระบบเพื่อนำเงินกองทุนทีเอฟเอฟออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์

ขณะที่โครงการทางพิเศษสายพระราม3 -ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ระยะทาง18.7กิโลเมตร (กม.) จำนวน5สัญญา ราคากลางรวม30,029ล้านบาท ในสัญญาที่3งานโยธาก่อสร้างทางยกระดับ จากโรงพยาบาลบางปะกอก9อินเตอร์เนชั่นแนล-ด่านดาวคะนอง) ระยะทาง5กม. ตามที่ กทพ.ได้ประกาศยกเลิกผลการประกวดราคา ขณะนี้อยู่ในกระบวนการศาลพิจารณา

จากเดิมให้กิจการร่วมค้าไชน่าเรลเวย์-ซีวิล-บุญชัย ประกอบด้วยบริษัทChina Railway 11 th Bureau Group Corporation,บริษัท ซีวิล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ผู้เสนอราคาต่ำสุด6,098ล้านบาท เป็นผู้ชนะ และมีเอกชนได้ยื่นอุทธรณ์ จึงยังอยู่ระหว่างขั้นตอนของการอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดซึ่ง กทพ.ได้ทำคำแย้งส่งไปให้ศาลแล้วอยู่ระหว่างการพิจารณาตัดสินว่าจะรับคำแย้งหรือไม่

ส่วนสัญญาที่1 งานโยธาก่อสร้างทางยกระดับจากแยกต่างระดับบางขุนเทียน – เซ็นทรัลพระราม2ระยะทาง6.4กม. ปัจจุบันยังรอคำวินิจฉัยของศาลเมื่อได้ข้อสรุป กทพ.จะดำเนินการตามขั้นตอน เช่น การเจรจากับผู้เสนอราคาต่ำสุดรายต่อๆ ไป และหากไม่มีรายใดผ่านคุณสมบัติก็อาจนำไปสู่การเปิดประมูลใหม่