บ้านปูผนึกปตท.ลุยธุรกิจก๊าซ หวังต่อยอดขยาย“แวลูเชน”

“บ้านปู” หวังจับมือ “ปตท.” ช่วยต่อยอดขยาย Value Chain ธุรกิจก๊าซฯ คาดสรุปแผนชัดเจนสิ้นปีนี้ พร้อมเดินหน้าแผนลดต้นทุนผลิตถ่านหินในปีนี้และปีหน้า รับมือราคาทรงตัวระดับต่ำ 60 ดอลลาร์ต่อตัน ยันฐานะการเงินแกร่ง
นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด(มหาชน) หรือ BANPU เปิดเผยว่า การลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง บ้านปู กับ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT เพื่อศึกษาโอกาสทางการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) นั้น จะเป็นการเพิ่มโอกาสต่อยอดจากธุรกิจก๊าซฯให้กับทั้ง 2 บริษัท เพราะจะใช้ศักยภาพจากจุดแข็งของทั้ง 2 บริษัท มาสร้างโอกาสการเติบโต โดยปตท.มีจุดแข็งเป็นผู้เชี่ยวชาญธุรกิจก๊าซฯที่มีสาย Value Chain ยาวมาก ขณะที่บริษัทบ้านปู มีธุรกิจเดียว คือก๊าซฯต้นน้ำ
ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่จะขยายสู่ธุรกิจอื่นใน Value Chain ทั้งในส่วนของธุรกิจขั้นกลาง ที่เป็นเรื่องการขายก๊าซฯผ่านเข้าท่อ หรือส่งออก รวมถึง การทำเทรดเดอร์ ตลอดจนการขนส่ง แต่ในส่วนของธุรกิจขั้นปลาย บริษัทคงจะไม่เข้าไปดำเนินการเรื่องของสายธุรกิจปิโตรเคมี และการลงทุนขนาดใหญ่อื่นๆ ส่วนรูปแบบการลงทุนนั้น อาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นลักษณะของร่วมทุนก็ได้ แต่อาจใช้ ecosystem ร่วมกันก็ได้
“เรากำลังศึกษาร่วมกันอยู่ ยังตอบไม่ได้ว่าจะเป็นอะไร แต่มีความร่วมมือที่ทำงานไปด้วยกันได้ ใน Value Chain ของก๊าซฯ อยากสรุปให้ได้ภายในปีนี้ "
ส่วนการต่อยอดจากธุรกิจก๊าซฯในสหรัฐ ไปสู่ธุรกิจโรงไฟฟ้านั้น บ้านปู ไม่ได้หารือร่วมกับกลุ่ม ปตท. เพราะในธุรกิจนี้ บ้านปู มีบริษัทลูกที่ทำธุรกิจไฟฟ้าอยู่แล้ว คือ บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด(มหาชน) หรือ BPP ขณะเดียวกัน บ้านปู เพาเวอร์ ก็มองหาโอกาสลงทุนโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซฯในสหรัฐ ซึ่งจะเป็นรูปแบบของการเข้าซื้อกิจการในโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการอยู่แล้ว แม้ว่าปัจจุบันจะไม่ได้รับซื้อก๊าซฯจากแหล่งของบริษัท แต่หากสามารถเปลี่ยนการถือหุ้นมาเป็นกลุ่มบริษัท ก็จะผลักดันให้รับก๊าซฯจากแหล่งของบริษัทเป็นการทดแทนได้
นางสมฤดี กล่าวอีกว่า สำหรับธุรกิจถ่านหินที่เป็นธุรกิจหลักของบริษัท คาดว่า ราคาจะยังอยู่ในระดับต่ำจากผลกระทบโควิด-19 โดยปัจจุบัน ราคาลงมาเคลื่อนไหวอยู่ที่ประมาณ 60 ดอลลาร์ต่อตัน และน่าจะยังทรงตัวในระดับนี้ต่อไปในระยะยาว ดังนั้น ในปีนี้ บริษัทจะพยายามรักษาระดับการขายถ่านหินจากแหล่งผลิตของบริษัทไว้ที่ 42 ล้านตันต่อปี ซึ่งมาจากเหมืองออสเตรเลีย 13 ล้านตัน อินโดนีเซีย 22 ล้านตัน และจีน 7 ล้านตัน แต่หากราคาถ่านหินปรับขึ้นเกิน 75 ดอลลาร์ต่อตัน บริษัทก็พร้อมจะเพิ่มเป้าหมายการขายกลับไปสู่ระดับ 45 ล้านตันต่อปีตามเดิม
อย่างไรก็ตาม ราคาถ่านหินที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้บริษัทมุ่งเน้นที่จะลดต้นทุนการผลิตถ่านหิน โดยปีนี้ปรับลดลงประมาณ 20% และจะลดลงต่อเนื่องในปีหน้า รวมถึงจะเพิ่มการทำเทรดดิ้งธุรกิจถ่านหินให้มากขึ้น โดยเฉพาะตลาดจีนที่ยังเติบโต
นอกจากนี้ แผนการลงทุนของบริษัทในปีนี้ คาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 600 ล้านดอลลาร์ ลดลงจากเดิมที่ตั้งงบลงทุนไว้ 930 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากสามารถเจรจาต่อรองราคาการเข้าซื้อแหล่งก๊าซฯบาร์เนตต์(Barnett) ในสหรัฐ เหลือประมาณ 570 ล้านดอลลาร์ และยังได้ปรับแผนไม่ซื้อโครงการโรงไฟฟ้าที่ยังไม่ได้จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ทั้งในออสเตรเลียและเวียดนาม หลังจากได้เข้าไปศึกษาก่อนหน้านี้
โดยช่วงครึ่งแรกของปีนี้ บริษัทใช้เงินลงทุนไปแล้วบางส่วน และคงเหลือที่จะใช้อีก 400 ล้านดอลลาร์สำหรับการจ่ายเงินก้อนสุดท้ายเพื่อปิดดีลซื้อแหล่งก๊าซฯบาร์เนตต์ และอีก 66 ล้านดอลลาร์ สำหรับการเข้าซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานลม เอลวิน หมุย ยิน ในเวียดนาม ซึ่งจะทำให้รับรู้ผลการดำเนินงานของทั้ง 2 กิจการภายในไตรมาส 4ปีนี้
สำหรับกระแสเงินสดของบริษัท อยู่ในระดับที่แข็งแรง มีเงินทุนหมุนเวียนอยู่ในระดับที่ดี โดยปัจจุบันกลุ่มบริษัทมีเงินเทียบเท่าเงินสดคงเหลือ 800 ล้านดอลลาร์ ขณะที่มีภาระหนี้สุทธิภายหลังการเข้าซื้อแหล่งบาร์เนตต์ แม้จะเพิ่มเป็นราว 3,900 ล้านดอลลาร์ แต่อัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ยังอยู่ระดับไม่เกินเป้าหมาย โดยอยู่ที่ 1.34 เท่า และมีเป้าหมายจะลด D/E เหลือ 1.1 เท่า
'คนละครึ่ง' ลงทะเบียน 20 ม.ค.นี้ ใครไม่มีสิทธิ์รับเงิน 3,500 บาทบ้าง?
‘เราชนะ’ วันนี้ลุ้น! ครม. อนุมัติหลักเกณฑ์จ่าย 'เงินเยียวยา' 31 ล้านคน
'คนละครึ่งเฟส 2' รอบเก็บตก เคยถูกตัดสิทธิ 14 วัน ลงได้อีกหรือไม่?
'ทรัมป์' ร่วง รีพับลิกันล่ม ประชาธิปไตยรุ่ง
เปิดเหตุผล 'เราชนะ' จ่ายเยียวยา โควิดรอบใหม่กระทบพื้นที่เศรษฐกิจ 75%
'ตลาดหุ้น' ที่ไหนจะรุ่ง ที่ไหนจะร่วง ในปี 2021