ธุรกิจท่องเที่ยว ‘ภูเก็ต’ ดิ้น เจาะคนไทย-ลุ้นเปิดประเทศ

ธุรกิจท่องเที่ยว ‘ภูเก็ต’ ดิ้น เจาะคนไทย-ลุ้นเปิดประเทศ

ภาคเอกชนท่องเที่ยวภูเก็ตจำเป็นต้องปรับเกมรุกตลาดนักท่องเที่ยวไทยต่อเนื่อง โดยเฉพาะสนามแข่งออนไลน์ ในสถานการณ์ที่ยังมองไม่เห็นความชัดเจนว่านโยบาย “เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างจำกัด” จะเริ่มคิกออฟได้เมื่อไร ทันไฮซีซั่นไตรมาส 4 ปีนี้หรือไม่

หรือต้องเท้าคางรอกันต่อไปถึงปีหน้า?!

วิรินทร์ตรา ปภากิจยศพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ นิกรมารีนกรุ๊ป ดำเนินธุรกิจให้เช่าเรือ โรงแรม และบริการท่องเที่ยวใน จ.ภูเก็ต เล่าว่า เมื่อวิกฤติโควิด-19 เข้ามาซ้ำเติมสถานการณ์ท่องเที่ยวภูเก็ตซึ่งยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ 100% หลังได้รับผลกระทบจากเหตุเรือล่มเมื่อกลางปี 2561 บริษัทฯจำต้องปิดกิจการชั่วคราวเมื่อกลางเดือน มี.ค.2563 กระทั่งสถานการณ์ระบาดภายในประเทศคลี่คลายจนยอดผู้ติดเชื้อใหม่เป็นศูนย์ จึงตัดสินใจกลับมาเปิดกิจการอีกครั้งเมื่อต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา โดยเริ่มเปิดบางส่วนก่อนที่ 25%

“ในช่วงปกติลูกค้าของนิกรมารีนเกือบ 100% เป็นชาวต่างชาติ รับลูกค้าจากเอเย่นต์ทัวร์ต่ออีกทอด ทั้งชาวรัสเซีย จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และอื่นๆ พอนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเดินทางมาได้ ทำให้เอเย่นต์ทัวร์ต้องปิดกิจการชั่วคราว นิกรมารีนจึงต้องปรับแผนให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อบริหารฝูงเรือที่มีกว่า 100 ลำ ทั้งสปีดโบ๊ต เรือยอต์ช และอื่นๆ ให้ได้ออกแล่นเพื่อลดค่าซ่อมบำรุง ดีกว่าจอดทิ้งไว้นานๆ”

นั่นคือการจัดโปรโมชั่นเจาะตลาด “นักท่องเที่ยวไทย” ลุยโปรโมทผ่านช่องทางออนไลน์จากที่ไม่ค่อยได้รุกขนาดนี้มาก่อน ทำอย่างไรก็ได้ให้นักท่องเที่ยวไทยที่หลายคนอาจจะต้องหยุดงานชั่วคราวอยากออกมาเที่ยวทะเล ด้วยการออกโปรฯ “ทัวร์เกาะเฮ” ราคาประหยัด 199 บาท ทุกวันเสาร์ สิ้นสุดเมื่อต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา บนเงื่อนไขช่วยกดไลค์และแชร์ บอกต่อโปรฯแก่เพื่อนฝูงบนโซเชียลมีเดีย พบว่ากระแสตอบรับดีมาก จึงออกโปรฯใหม่เพิ่ม เริ่ม 16 ก.ย.นี้จนถึง 30 เม.ย.2564 อาทิ โปรฯ ซันเซ็ต ดินเนอร์ บนเรือคาตามารัน ราคา 899 บาท และโปรฯสปีดโบ๊ต 699 บาท ออกเรือทุกวัน รวมอาหารและกิจกรรมบานาน่าโบ๊ต

ขณะเดียวกันยังอาศัย “ลูกขยัน” ให้ทีมงานจากบริษัททัวร์ 2 แห่งในเครือดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ผ่านโครงการกำลังใจ ด้วยการลงพื้นที่ 6 จังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ พังงา กระบี่ ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานีมาเที่ยวภูเก็ต โดยส่วนใหญ่ไม่ต้องการควักเงินจ่ายเพิ่ม จึงต้องคำนวณต้นทุนให้ครอบคลุมงบฯที่รัฐให้ 2,000 บาทต่อคน และออกแบบโปรแกรมตอบจริตลูกค้า เช่น มีคาราโอเกะทั้งบนรถ เรือ และโรงแรม

กระทั่งเริ่มได้ลูกค้ากรุ๊ปทัวร์ อสม.เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา คาดได้ลูกค้าโครงการกำลังใจที่จะหมดเขตสิ้นเดือน ต.ค.นี้รวม 3,000 กว่าคน โดยได้ลูกค้าพ่วงซึ่งเป็นคนในครอบครัวสมาชิก อสม.และจ่ายค่าเดินทางด้วยตัวเองด้วย ทั้งนี้เตรียมลงพื้นที่เจาะตลาดในภาคเหนือและอีสานเพิ่มเร็วๆ นี้

เมธินี รอดเศวก รองประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท สกายเวิลด์ จำกัด เจ้าของธุรกิจ “หนุมานเวิลด์” ซึ่งมีกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงผจญภัยทั้งซิปไลน์ โรลเลอร์โคสเตอร์ และสกายวอล์คบนพื้นที่ 50 ไร่ เล่าว่า ต้องปรับตัวรุกตลาดคนไทยอย่างหนักเช่นกัน ด้วยการออกโปรฯลดราคามากกว่า 50% แก่ลูกค้านักท่องเที่ยวทั่วไป เหลือแพ็คเกจละ 1,200-1,500 บาท เพื่อจูงใจให้คนไทยออกเที่ยวและเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ ในสถานการณ์ที่กำลังซื้อจำกัดเพราะวิกฤติโควิด-19

พร้อมวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อปรับโปรฯต่อเนื่อง เพิ่มโอกาสการตัดสินใจซื้อ เช่น ขายแพ็คเกจสกายวอล์คราคา 99 บาท เหมาะกับคนไทยที่มีเวลาไม่มาก รวมถึงกลุ่มสูงวัยที่ต้องการสัมผัสธรรมชาติแต่ไม่ต้องการกิจกรรมที่ผจญภัยมากนัก นอกจากนี้ยังรุกทำตลาดเจาะฐานกลุ่ม อสม.ผ่านโครงการกำลังใจด้วยการออกแบบโปรแกรมให้สอดรับกับงบฯที่รัฐกำหนด

“ยอดนักท่องเที่ยวเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมาเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น นิยมเดินทางช่วงวันหยุดยาวและสิ้นเดือนรับเงินเดือนออก ปัจจุบันอยู่ที่ 100-200 คนต่อวัน แต่ยังไม่เท่าช่วงปกติที่ได้ลูกค้าหมุนเวียนรวม 600-700 คนต่อวัน กว่า 70% เป็นชาวต่างชาติจากจีน รัสเซีย และเกาหลี จึงอยากให้รัฐบาลประกาศวันหยุดยาวเพิ่ม เพราะส่งผลดีต่อตลาดคนไทยอย่างมาก”

ส่วนมุมมองเรื่อง “การเปิดประเทศ” ผู้ประกอบการต่างพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และกลับมาเปิดให้บริการสักระยะแล้ว มั่นใจว่าสามารถควบคุมได้ เพราะมีมาตรการด้านสุขอนามัยคุมเข้มรองรับเป็นอย่างดี

“มองว่าหากเริ่มที่ภูเก็ตโมเดล ต้องทำให้นักท่องเที่ยวไทยมั่นใจ ไม่กลัวที่จะมาเที่ยวภูเก็ต ด้วยการมุ่งสื่อสารว่าการเปิดประเทศนั้น ทำให้ลูกจ้างคนไทยได้รับผลประโยชน์ ทำให้คนไทยได้กลับมาทำงาน กลับมามีรายได้เหมือนเดิมอีกครั้ง หลังภาคท่องเที่ยวภูเก็ตเจอวิกฤติโควิด-19 ลากยาวมาตั้งแต่ต้นปี”