ครม.รับทราบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบรายจ่ายปี 63 หลังงบฯ 64 ล่าช้า

ครม.รับทราบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบรายจ่ายปี 63 หลังงบฯ 64 ล่าช้า

ครม. รับทราบ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ไปพลางก่อน หลังงบ 2564 ล่าช้า ไม่สามารถบังคับใช้ได้ทัน 1 ต.ค.นี้

เมื่อวันที่ 15 ก.ย.63  นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ไปพลางก่อน เนื่องจากยังไม่สามารถประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ได้ทันในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ เนื่องจากรัฐบาลมีการปรับปรุงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อรองรับสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ ทำให้กระบวนการจัดทำงบประมาณล่าช้าไป 1 - 2 สัปดาห์ โดยสำนักงบประมาณจะจัดสรรงบประมาณรายจ่ายไม่เกินหนึ่งในสี่ ของกรอบวงเงินของแผนงานและรายการตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รวมถึงที่มีการโอนงบประมาณรายจ่ายตามพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2563 การโอนตามกฎหมายอื่น และการโอนตามมาตรา 35 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ให้หน่วยรับงบประมาณทั่วไป

สำหรับหน่วยรับงบประมาณที่ตั้งขึ้นใหม่ในปีงบประมาณ 2563 ที่ได้รับโอนงบประมาณมาจากหน่วยรับงบประมาณอื่นจะได้จัดสรรงบประมาณได้เต็มจำนวนงบประมาณรายจ่ายตามแผนงานตามที่ได้รับโอนมาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ซึ่งหากไม่เพียงพอ อาจจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นได้

ส่วนกรณีเทศบาลนคร เทศบาลเมือง จัดสรรงบประมาณให้ได้เฉพาะค่าใช้จ่ายบุคลากรและเงินสงเคราะห์หรือสวัสดิการที่จ่ายแก่ประชาชน ไม่เกินหนึ่งในสี่ ของงบประมาณที่ได้รับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 สำหรับการจัดสรรงบประมาณที่นอกเหนือจากข้างต้น เช่น รายจ่ายตามข้อผูกพันสัญญาการดำเนินการตามข้อตกลงระหว่างประเทศ หรือการดำเนินการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน สำนักงบประมาณจะจัดสรรงบประมาณให้ตามความจำเป็นเฉพาะกรณีเท่านั้น

ทั้งนี้ หน่วยรับงบประมาณต้องจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณตามความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันในไตรมาสที่ 1 และให้สำนักงบประมาณภายในวันที่ 15 กันยายน 2563 นี้ด้วย

โฆษกรัฐบาล ให้ความมั่นใจว่า ทั้ง 721 หน่วยรับงบประมาณ ที่ประกอบด้วยราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน จังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด จะได้รับจัดสรรงบประมาณเพียงพอในการบริหารงานตามแผนงานโครงการที่กำหนดไว้ เพื่อไม่ให้สะดุดในการดูแลประชาชน