'ปิยบุตร' เรียกร้องมธ.เปิดพื้นที่ชุมนุม

'ปิยบุตร' เรียกร้องมธ.เปิดพื้นที่ชุมนุม

"ปิยบุตร" เรียกร้องมธ.เปิดพื้นที่ชุมนุม จี้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเอาให้ชัดไม่สบายใจเรื่องอะไร

นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นต่อท่าทีของผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ไม่ให้พื้นที่ในการชุมนุมโดยระบุว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นหน่วยงานของรัฐ ใช้งบประมาณของรัฐซึ่งเป็นภาษีของประชาชน ดังนั้นพอเป็นหน่วยงานของรัฐ จึงไม่ควรคิดว่าฉันเป็นเจ้าของมีอำนาจกำหนดให้ใช้หรือไม่ให้ใช้ งบประมาณก็มาจากภาษีของประชาชน ควรคิดว่าเปิดกว้างให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์ เพื่อสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นมหาวิทยาลัย เป็นหน่วยงานทางวิชาการซึ่งควรจะเป็นพื้นที่ที่เปิดให้มีเสรีภาพในการแสดงออกมากที่สุด มากกว่าหน่วยราชการอื่นอยู่แล้ว

"ทาง มธ. ได้กำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นมา ซึ่งจากการติดตามข่าวผู้ชุมนุมก็ยอมทำตามกฎเกณฑ์ มีอาจารย์ที่ปรึกษารับรองเรียบร้อย และทางนักศึกษาก็รออยู่ว่าเมื่อไหร่จะมาตกลงกัน ผมคิดว่าปฏิกิริยาของผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ไม่ให้ใช้พื้นที่ชุมนุม 19 กันยายน รวมทั้งอดีตศิษย์เก่าจำนวนมากที่ออกมาคัดค้าน พวกเขากล้าที่จะพูดตรงไปตรงมาหรือไม่ว่า ที่ไม่อยากให้แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมใช้สถานที่ชุมนุมนั้น เพราะไม่สบายใจที่นักศึกษาจะมาใช้พื้นที่ มธ. ในการปราศรัยเรื่องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์"

“ผมเห็นว่าอันนี้ชัดเจนที่สุด เพียงแต่คุณไม่กล้าพูดออกมาตรงๆ ก็เลยมาบอกว่าไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ เพราะเห็นว่า 10 สิงหาคม นักศึกษาไปพูดเรื่องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์บนเวที ผมเอง ก็มีบางประเด็นที่ไม่เห็นด้วยกับท่าทีในการแสดงออกบางอย่างในการชุมนุม แต่เราต้องพยายามแยกเนื้อหากับท่าทีการแสดงออกออกจากกัน เนื้อหาเหล่านี้พูดได้ ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ สามารถทำได้ เป็นเสรีภาพในการแสดงออก ข้อเสนอของนักศึกษาอยู่ภายใต้กรอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ เป็นการเสนอให้แก้ไขกฎหมายต่างๆ แต่ไม่ได้เกินกรอบระบอบการปกครองเลย

"โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์ทางการเมืองมายาวนาน แต่ถ้าคุณมาปิดกั้นเสียเอง นักศึกษามหาวิทยาลัยของคุณเองอยากจะแสดงออก หากไม่ให้เขาใช้พื้นที่จะให้เขาไปใช้พื้นที่ไหน จะไม่เหลือพื้นที่ปลอดภัยให้นักศึกษาแสดงออกได้เลย ผมคิดว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องเอาให้ชัดว่าคุณไม่สบายใจเรื่องนี้ใช่หรือไม่ คุณไม่สบายใจเพราะกังวลว่ากลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุมจะใช้เวทีนี้ในการพูดเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ใช่หรือไม่ แต่เท่าที่เป็นอยู่ไม่มีใครกล้าหาญมาพูดความจริงเลย”

สำหรับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นญัตติเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่จะเข้าสภาในวันที่ 23-24 กันยายนนี้ มีทั้งของรัฐบาลและของฝ่ายค้าน ของรัฐบาลเป็นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญให้ง่ายขึ้นคือ 3 ใน 5 ของรัฐสภา พร้อมให้มี สสร. จากการเลือกตั้งและอีกส่วนให้ ส.ส. ส.ว. และที่ประชุมอธิการบดี เลือกกัน ส่วนของฝ่ายค้านมีแก้วิธีการแก้ ให้มี สสร. เลือกตั้ง 200 คน ยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ ยกเลิก ม. 279 และแก้ระบบเลือกตั้ง อีกร่างคือของ iLaw ซึ่งแก้หลายเรื่อง แต่กว่าจะล่ารายชื่อครบ กว่าจะตรวจสอบรายชื่อ น่าจะใช้เวลานาน แต่ปัญหาว่าอันไหนจะแก้ได้ไม่ได้ จนถึงตอนนี้ยังไม่แน่ใจว่าจะหา ส.ว. 84 คนครบถ้วนหรือไม่ และ ส.ว. 84 คนจะมาโหวตให้การแก้รัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่ ปิยบุตรเห็นว่าต้องอาศัยพลังของพี่น้องประชาชนนิสิตนักศึกษาที่อยู่นอกสภา เพราะการแก้รัฐธรรมนูญกลับมาเป็นเรื่องที่ทุกคนให้ความสำคัญจนรัฐบาลยอมเสนอให้แก้ ก็เริ่มต้นมาจากการชุมนุมเรียกร้องกดดัน

“ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าหากไม่มีการชุมนุมเรียกร้องกดดันอย่างที่ผ่านมา รัฐบาลไม่มีทางเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญแน่นอน ดังนั้นหากเราต้องการแก้รัฐธรรมนูญให้สำเร็จ ให้ ส.ว. ยอมเปิดทางให้แก้ เหลือทางเดียวคือประชาชนนิสิตนักศึกษาต้องกดดันต่อ แบบการ์ดอย่าตก ถ้าการ์ดตกเมื่อไหร่เขาไม่ยอมแก้แน่นอน เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือกล่องดวงใจของการสืบทอดอำนาจ”

ปัญหาของประเทศไทยวนอยู่ที่เดิม สุดท้ายอยู่ที่ว่าสถาบันการเมืองใช้อำนาจในการตอบสนองความต้องการของประชาชนหรือไม่ ถ้าเรายืนยันว่าประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ บรรดาสถาบันการเมืองต่างๆ ซึ่งเป็นตัวแทนการใช้อำนาจของประชาชน หากไม่สนองตอบต่อความต้องการก็เป็นธรรมดาที่ประชาชนจะเรียกร้องมากขึ้น ถึงเวลาหรือยังที่ประเทศไทยพร้อมจะยอมรับว่าระบอบเผด็จการสืบทอดอำนาจที่ยึดอำนาจตั้งแต่ 2549 และ 2557 ไปต่อไม่ได้ ถึงเวลาที่ต้องหันหน้ามาพูดคุยกันโดยประกันเสรีภาพในการแสดงออกให้พูดได้ทุกเรื่องแล้วมาออกแบบร่วมกัน

“ความคิดริเริ่มในการยอมให้มีการแก้รัฐธรมนูญของรัฐบาลเป็นเพียงการซื้อเวลาและลดกระแสการชุมนุมเท่านั้น การทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับที่มาจากฉันทามติของพี่น้องประชาชนจำเป็นต้องเกิดจากพื้นที่ที่พร้อมให้ประชาชนทุกฝั่กทุกฝ่ายมาแสดงออกและหาฉันทามติร่วมกันว่าประเทศนี้จะเอาอย่างไรต่อไป คนที่จะทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้ไม่ใช่รัฐบาลสืบทอดอำนาจแบบ คสช. แน่นอน ดังนั้นนอกจากคิดเรื่องการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว ยังต้องคิดเรื่องว่าการจะให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากฉันทามติของประชาชนได้นั้น ต้องเอาระบอบเผด็จการสืบทอดอำนาจออกไปก่อน ไม่อย่างนั้นไม่มีพื้นที่ปลอดภัยให้คนได้คุยกัน มีอย่างที่ไหนคนเรียกร้องเรื่องแก้รัฐธรรมนูญก็ไปตามจับเขา จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้คนพูดคุยกัน หากปัญหาต้นตอไม่ได้รับการแก้ไข จะแก้รัฐธรรมนูญอีกกี่ครั้งก็เพียงแต่ซื้อเวลาให้คุณอยู่ในอำนาจครบ 4 ปีเท่านั้นเอง รัฐธรรมนูญที่ดีไม่มีทางเกิดภายใต้ระบอบประยุทธ์ ดังนั้นหากต้องการทำรัฐธรรมนูญที่ดี จำเป็นต้องล้มระบอบประยุทธ์ก่อน” ปิยบุตร กล่าว