ครม.รับทราบ ข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. ป้องกันการทุจริต พ.ร.ก.การเงิน 3 ฉบับ

ครม.รับทราบ ข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. ป้องกันการทุจริต พ.ร.ก.การเงิน 3 ฉบับ

ครม.รับทราบ ข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. ป้องกันการทุจริต พ.ร.ก.การเงิน 3 ฉบับ กรณีศึกษาการใช้จ่ายงบประมาณตามพระราชกำหนดการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19

เมื่อวันที่ 15 ก.ย.63  ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.รับทราบข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) กรณีศึกษาการใช้จ่ายงบประมาณตามพระราชกำหนดการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) โดยประกอบด้วย 3 ส่วนดังนี้คือ

ส่วนแรกคือ พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 (พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ) ป.ป.ช.เสนอแนะว่า ควรกำหนดมาตรการเสริมในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ เช่น ในหมวด 2 ซึ่งเป็นหมวดเกี่ยวกับการเสนอ การพิจารณากลั่นกรอง และการอนุมัติโครงการ ควรกำหนดให้หน่วยของรัฐที่จัดทำโครงการเพื่อขอใช้จ่ายเงินกู้จะต้องมีการวางกระบวนการหรือกิจกรรม รวมทั้งการประเมิน เพื่อลดความเสี่ยงและแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นไว้ในโครงการที่จะเสนอด้วย โดยนำข้อกำหนดตามเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบายมาปรับประยุกต์ใช้ และหากโครงการไม่มีกระบวนการข้างต้น ผู้มีอำนาจพิจารณาอาจมีความเห็นให้ทบทวนหรือไม่อนุมัติโครงการได้ โดยคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้(คกง.)ควรวิเคราะห์ความเสี่ยงต่อการทุจริตก่อนพิจารณาอนุมัติโครงการ

นอกจากนี้ป.ป.ช.ยังเสนอแนะว่า ควรขยายระยะเวลาในการพิจารณาโครงการ เพื่อให้การดำเนินโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้เกิดความคุ้มค่าและสามารถแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างแท้จริง และควรกำหนดบทลงโทษ กรณีหน่วยงานของรัฐที่ได้รับการกลั่นกรองและอนุมัติโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้จากคกง.แล้ว แต่ภายหลังได้เปลี่ยนแปลงไปดำเนินโครงการอย่างอื่นโดยที่ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากคกง. ให้ถือว่าเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

น.ส.ไตรศุลีกล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน คกง.ควรกำหนดให้หน่วยงานของรัฐเสนอโครงการในรูปแบบไฟล์ Microsoft Excel และนำระบบการวิเคราะห์ข้อมูลมาประยุกต์ใช้เพื่อพิจารณากลั่นกรองโครงการ โดยควรมีคณะตรวจสอบและประเมินความเสี่ยงของโครงการซึ่งเป็นผู้แทนจากภาคเอกชนร่วมด้วย และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ควรจัดทำเว็บไซต์เฉพาะ สำหรับการเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหากมีการจัดซื้อจัดจ้าง ควรเปิดเผยวิธีการจัดซื้อจัดจ้างและรายชื่อบริษัทที่เป็นคู่สัญญากับรัฐแบบ Real Time Online ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย ป.ป.ช.ยังเสนอแนะว่า ควรแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นผู้แทนจากภาคเอกชน ภาคประชาชน และนักวิชาการที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ร่วมเป็นคกง.ด้วย เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพิจารณาและตัดสินใจโครงการ

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ป.ป.ช.ยังระบุด้วยว่า ควรกำหนดให้ทุกหน่วยงานที่ดำเนินโครงการตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ ต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐพ.ศ.2560 อย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ทุกโครงการควรมีการลงนามในข้อตกลงคุณธรรมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริตหรือคณะอนุกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริตกำหนด และในกรณีโครงการขนาดใหญ่ควรเข้าร่วมโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ

ส่วนที่สอง พระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศพ.ศ.2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ควรเปิดเผยรายชื่อบริษัทที่ได้รับการช่วยเหลือ โดยคำนึงถึงกฎหมายเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของทางราชการและอาจเปิดเผยผ่านช่องทางเว็บไซต์ของธปท.หรือเว็บไซต์ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด(มหาชน)

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ส่วนที่สาม พระราชกำหนดให้การช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 ธปท.ควรกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณา โดยให้สถาบันการเงินประเมินแผนงานของผู้ประกอบการวิสาหกิจที่ขอกู้เงิน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และธปท.ควรเปิดเผยรายชื่อผู้ประกอบการวิสาหกิจที่ได้รับการช่วยเหลือทางการเงินบนเว็บไซต์ของธปท.แบบ Real Time และควรส่งรายชื่อให้บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ซึ่งในส่วนนี้ธปท.ได้ตอบความเห็นว่า ธปท.ได้เปิดเผยข้อมูลความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจบนเว็บไซต์ธปท.ให้ทันสมัยแบบ Real Time อยู่แล้ว โดยไม่ได้เปิดเผยรายชื่อผู้ประกอบการวิสาหกิจที่ได้รับความช่วยเหลือเพราะเป็นข้อมูลส่วนบุคคล และเป็นความลับทางการค้าของสถาบันการเงิน