บสย.ลงนาม18แบงก์ค้ำสินเชื่อ5.7หมื่นล้าน

บสย.ลงนาม18แบงก์ค้ำสินเชื่อ5.7หมื่นล้าน

บสย.ลงนาม ค้ำประกันสินเชื่อ Soft Loan พลัส 5.7 หมื่นล้านบาท 18 สถาบันการเงิน ร่วมปลดล็อก “บสย. SMEs ต้องชนะ” กระตุ้นเศรษฐกิจ อุ้มการจ้างงาน 3.6​ แสนตำแหน่ง

บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และ 18 ธนาคารพันธมิตร ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Soft Loan พลัส (Portfolio Guarantee Scheme ระยะพิเศษ Soft Loan พลัส) วงเงินค้ำฯ 5.7​ หมื่นล้านบาท

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะนำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจ และส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการ SMEs นำไปสู่การหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงการคลัง ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจกลุ่มฐานราก ผ่านกลไกค้ำประกันสินเชื่อ บสย. ที่ครอบคลุมตั้งแต่กลุ่มคนตัวเล็ก ผู้ประกอบการอาชีพอิสระ และคนตกงาน มั่นใจเสริมสร้างบรรยากาศการปล่อยสินเชื่อ SMEs ให้คึกคักเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อ กระตุ้นเศรษฐกิจตลอดไตรมาส 3-4 เกิดสินเชื่อหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 5.7​ หมื่นล้านบาท

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรม ขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า บสย. สามารถรับคำขอค้ำประกันสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป คาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจ สามารถเข้าถึงสินเชื่อ 3.4​ แสนราย โดยโครงการนี้จะก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบเศรษฐกิจ ไม่ต่ำกว่า 5.7​ หมื่นล้านบาท ช่วยลดปัญหาการว่างงาน มั่นใจรักษาการจ้างงานได้กว่า 3.6​ แสนตำแหน่ง โดย บสย. จะค้ำประกันสินเชื่อต่อเนื่องจากโครงการ Soft Loan ของธนาคารแห่งประเทศไทยไปอีกเป็นระยะเวลา 8 ปี เริ่มค้ำประกันตั้งแต่ปีที่ 3 จนถึงปีที่ 10

นอกจากความร่วมมือกับสถาบันการเงินพันธมิตรในโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Soft Loan พลัส แล้ว บสย. ยังได้เตรียมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสถาบันการเงินใน โครงการค้ำประกันสินเชื่อ “บสย. SMEs ไทยชนะ” เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดยมีวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินค้ำประกันสินเชื่อเพื่อธุรกิจทุกประเภท ค้ำประกันสูงสุด 100 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลาค้ำประกันสุดสุด 10 ปี จุดเด่นของโครงการค้ำประกันสินเชื่อ “บสย. SMEs ไทยชนะ” คือ สามารถปรับได้ตามค่าความเสี่ยงและลักษณะเฉพาะของแต่ละกลุ่ม SMEs โดย บสย. คาดว่าจะก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบ 4.5​ หมื่นล้านบาท ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ได้กว่า 1.2​ หมื่นราย และอุ้มการจ้างงานเพิ่มอีก 4.2 แสนตำแหน่ง