‘เซ็นทรัลรีเทล’ ลั่นพร้อมตั้งรับทุกวิกฤติ!

‘เซ็นทรัลรีเทล’ ลั่นพร้อมตั้งรับทุกวิกฤติ!

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น คือ ดิสรัปชันครั้งใหญ่! และเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไม่มีใครคาดการณ์ได้ล่วงหน้า ซึ่งกระทบทุกคนทุกภาคส่วน และกระทบลามไปทั่วโลก

ญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC  มองว่า ไวรัสโควิด-19 จะยังไม่หายไปในเร็ววัน และอยู่กับเราไปเรื่อยๆ จนกว่าวัคซีนที่มีประสิทธิภาพจะพัฒนาได้สำเร็จ ดังนั้น กลุ่มเซ็นทรัล จึงได้ปรับแผนธุรกิจ ปรับวิธีคิด และ เพิ่มวินัยในการทำงาน โดยยึดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในทุกๆ ขั้นตอนการดำเนินธุรกิจ 

"บทเรียนที่ผ่านมา ทำให้เราวางแผนและดำเนินธุรกิจอย่างรัดกุมมากยิ่งขึ้น ทั้งการปรับแผนธุรกิจ ปรับวิธีคิด และเพิ่มวินัยในการทำงาน โดยยึดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในทุกๆ ขั้นตอนของการดำเนินธุรกิจ"

โดยเฉพาะในเรื่องของการบริหารจัดการและรักษากระแสเงินสด (Cash Flow) ให้มีสภาพคล่อง และมีประสิทธิภาพสูงสุด เพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น  ชะลอ ในสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไปก่อน! 

แต่ในส่วนที่เป็นการลงทุนเพื่อการเติบโตของบริษัท  ก็ยังคงเดินหน้าลงทุนอย่างเต็มที่ เช่น การลงทุนเรื่องบุคลากร  เทคโนโลยี และการร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ  เพื่อให้เป็นไปตามกลยุทธ์ขององค์กร และบรรลุเป้าหมายของเซ็นทรัลรีเทลมุ่งเป็นศูนย์กลางการใช้ชีวิตของผู้คน หรือ Central of Life 

ทุกๆ การลงทุน เราได้มีการจับตามองอย่างใกล้ชิด และพร้อมปรับแผนการลงทุนอย่างทันท่วงที เพื่อความคล่องตัวของธุรกิจ ซึ่งเซ็นทรัล รีเทล ได้ผ่านจุดต่ำสุดของธุรกิจมาแล้ว"

แม้จะมีแนวโน้มของการระบาดรอบใหม่ แต่เชื่อว่าเหตุการณ์การแพร่ระบาดในทุกพื้นที่น่าจะไม่เกิดขึ้นอีก เพราะรัฐได้ทุ่มเทอย่างหนักในการบริหารจัดการและป้องกัน ทำให้ไทยมีระบบสาธารณสุขที่แข็งแกร่ง มีมาตรการที่รัดกุม เคร่งครัด สามารถควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงแคบ กรณีเมื่อมีผู้ติดเชื้อ ทางภาครัฐก็สามารถตรวจพบได้อย่างรวดเร็ว และเข้าสู่ระบบการรักษาที่มีประสิทธิภาพได้อย่างทันท่วงที อันเนื่องมาจากระบบสาธารณสุขที่ทันสมัยมากขึ้น ทำให้อัตราการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ลดลงไปได้อย่างมาก

ดังนั้นหากมีการแพร่ระบาดในอนาคต  ผลกระทบน่าจะถูกจำกัดเพียงแค่กระจุก หรือเป็นหย่อมๆ ในบางพื้นที่เท่านั้น  ซึ่งความร่วมมือจากคนไทยทุกภาคส่วน มีวินัย และป้องกันตนเองอย่างดี เรียกว่า การ์ดไม่ตก! เป็นหัวใจสำคัญ  

"โอกาสในการล็อกดาวน์ประเทศไม่น่าจะเกิดขึ้นซ้ำอีก แต่รอบใหม่ที่อาจเกิดขึ้นน่าจะเป็นการล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเท่านั้น เพื่อให้เศรษฐกิจยังดำเนินต่อไปได้ ไม่หยุดชะงักงัน"

อย่างไรก็ดี ญนน์ มองว่า สิ่งหนึ่งที่ยังคงแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วนั้นไม่ใช่เชื้อไวรัส แต่เป็นความกังวลของผู้คน! ที่แม้การติดเชื้อจะเกิดขึ้นเพียงจุดเล็กๆ ของประเทศ แต่ความตื่นตระหนกสามารถแพร่กระจายไปทั่วประเทศ ส่งผลให้ผู้บริโภคยังคงมีความระมัดระวังสูงในการจับจ่ายใช้สอยในช่วงที่สถานการณ์ยังไม่แน่นอนนี้ และทำให้เศรษฐกิจไทยอาจไม่ฟื้นตัวได้รวดเร็วเท่าที่ควร เป็นภารกิจใหญ่ที่ภาครัฐต้องเร่งรัดมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ภายใต้หมวกอีกใบของซีอีโอ เซ็นทรัลรีเทล ยังรั้งตำแหน่ง ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ซึ่งได้มีโอกาสนำเสนอแผนกระตุ้นกำลังซื้อ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยต่อนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อปลุกการใช้จ่ายในภาคธุรกิจค้าปลีกและบริการซึ่งเปรียบได้กับกระดูกสันหลัง หรือเส้นเลือดใหญ่ ทำหน้าที่กระจายเลือดไปหล่อเลี้ยงระบบและส่วนต่างๆ ตั้งแต่เกษตรกร การจ้างงาน การกระจายสินค้า การให้บริการ การท่องเที่ยว    

มาตรการเร่งด่วนระยะสั้นรัฐต้องกระตุ้นการบริโภคในวงกว้าง! โดยมองว่า ช้อปช่วยชาติ จะเป็นยาแรงสร้างเม็ดเงินสะพัดได้อย่างรวดเร็ว พร้อมๆ กับกระตุ้นการบริโภคในกลุ่มผู้มีกำลังซื้อสูงที่นิยมสินค้าไลฟ์สไตล์นำเข้าซึ่งมีอัตราภาษีสูง 30% สูงสุดใน 15 ประเทศภูมิภาคเอเชีย ทำให้คนหันไปซื้อสินค้าที่ต่างประเทศ รัฐสามารถทดลองปรับลดภาษีนำเข้าชั่วคราวจะสร้างเม็ดเงินสะพัดมากขึ้นเช่นกัน 

ควบคู่ไปกับมาตรการพยุงการจ้างงานต่างๆ เช่น การจ้างงานรายชั่วโมงให้เหมาะสมกับสภาพธุรกิจและมีความยืดหยุ่นทั้งในส่วนนายจ้างและลูกจ้าง เพิ่มการจ้างงาน รวมถึงได้มีการเสนอแนวทางปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) 0.1% ผ่านผู้ค้าปลีกรายใหญ่ จะมีส่วนช่วยกระจายงบประมาณสู่เอสเอ็มอีขนาดเล็กได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจได้ทันที

ญนน์ ย้ำอีกว่า การขับเคลื่อนธุรกิจของเซ็นทรัลรีเทลมีความได้เปรียบจาก "แพลตฟอร์มออมนิแชนแนล" ทำให้เข้าถึงลูกค้าได้ทุกช่องทางแบบไร้รอยต่อในการส่งมอบบริการและประสบการณ์ให้ได้เหมือนเดิมมากที่สุด เป็นกุญแจสำคัญทำให้ยอดขายในไตรมาส 2 ลดลงเพียง 21% จากประเมินว่าน่าจะลดลงมากกว่า 50% โดยรายได้รวมไตรมาส 2 อยู่ที่ 41,376 ล้านบาท ลดลง 21% ขาดทุนสุทธิ 2,519 ล้านบาท ลดลง 243% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนรายได้รวมครึ่งปีแรก 95,661 ล้านบาท ลดลง 10% ขาดทุนสุทธิ 1,629 ล้านบาท ลดลง 139% ถือว่าดีท่ามกลางปัจจัยลบรุมเร้า!