'TikTok-Oracle' ตัวเลือกบนเกมการเมืองสหรัฐ-จีน

'TikTok-Oracle' ตัวเลือกบนเกมการเมืองสหรัฐ-จีน

ท่ามกลางการจับตามองของผู้คนในแวดวงธุรกิจโลกเกี่ยวกับอนาคตของติ๊กต็อก แอพพลิเคชันวิดีโอสั้นยอดนิยม ที่มีผู้ใช้งานประมาณ 100 ล้านคนต่อเดือนในสหรัฐว่่าจะตัดสินใจขายกิจการให้บริษัทไหนท่ามกลางกระแสกดดันอย่างหนักจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ

ล่าสุดสื่อต่างประเทศหลายแห่ง ซึ่งรวมถึงสำนักข่าวรอยเตอร์ และวอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานตรงกันว่าว่า ไบต์แดนซ์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของติ๊กต็อกตกลงขายกิจการติ๊กต็อกในสหรัฐให้บริษัทออราเคิล หลังจากที่ไบต์แดนซ์ปฏิเสธข้อเสนอซื้อของบริษัทไมโครซอฟท์

วอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า ออราเคิล เตรียมประกาศตัวเป็นพันธมิตรทางเทคโนโลยีที่ได้รับความไว้วางใจให้เข้าซื้อกิจการติ๊กต็อกในไม่ช้านี้ ส่วนไมโครซอฟท์แถลงยืนยันว่า ไบต์แดนซ์ได้แจ้งให้ไมโครซอฟท์ทราบวานนี้ (14ก.ย.)ว่า จะไม่ขายกิจการติ๊กต็อกในสหรัฐให้กับไมโครซอฟท์

ที่ผ่านมา ไบต์แดนซ์พยายามเจรจาเพื่อขายกิจการติ๊กต็อกให้กับบริษัทของสหรัฐ ซึ่งรวมถึงไมโครซอฟท์และออราเคิล เนื่องจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขู่ว่าจะแบนบริการของติ๊กต็อกหากไบต์แดนซ์ไม่ยอมขายกิจการดังกล่าว พร้อมทั้งขีดเส้นตายให้ไบต์แดนซ์สรุปข้อตกลงขายติ๊กต็อกภายในวันที่ 15 ก.ย.นี้ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการจัดการด้านความปลอดภัยข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน เนื่องจากเห็นว่าติ๊กต็อกมีผู้ใช้งานเยอะถึงเดือนละ 100 ล้านคนในสหรัฐ

แต่สถานีโทรทัศน์ซีจีทีเอ็น ช่องสถานีข่าวภาคภาษาอังกฤษของรัฐบาลจีน รายงานโดยอ้างแหล่งข่าววงในว่า ไบต์แดนซ์จะไม่ขายกิจการในสหรัฐของติ๊กต็อกให้กับออราเคิล หรือไมโครซอฟท์

ในส่วนของรัฐบาลจีน ต้องการให้ไบต์แดนซ์ปิดกิจการติ๊กต็อกในสหรัฐ มากกว่าจะต้องยอมถูกบังคับให้ขายกิจการ โดยทางการจีนเชื่อว่า การถูกบังคับขายกิจการจะทำให้ไบต์แดนซ์และรัฐบาลจีนดูเหมือนต้องยอมอ่อนข้อต่อแรงกดดันจากสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ไบต์แดนซ์ ระบุในแถลงการณ์ที่ส่งถึงสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า รัฐบาลจีนไม่เคยแนะนำให้ไบต์แดนซ์ปิดธุรกิจติ๊กต็อกในสหรัฐ หรือในประเทศอื่นๆ แต่อย่างใด ขณะที่แหล่งข่าวเปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า หากจำเป็น รัฐบาลจีนก็ตั้งใจจะใช้กฎเกณฑ์ใหม่ในการส่งออกเทคโนโลยีที่มีการปรับแก้ไขเมื่อวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อชะลอการทำข้อตกลงขายกิจการใดๆ ของไบต์แดนซ์

ทั้งนี้ บริษัทจีนต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลจีนก่อนส่งออกเทคโนโลยี ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การขายติ๊กต็อกก็จะต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ใหม่นี้ด้วย

“จ้าว ลิเจียน” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน กล่าวว่า สหรัฐอ้างแนวคิดเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติในการบังคับขายติ๊กต็อก และยังเรียกร้องให้สหรัฐยุติการกดขี่บริษัทต่างชาติ โดยในส่วนของประธานาธิบดีทรัมป์ ยืนยันว่าจะไม่ขยายกำหนดเส้นตายให้ไบต์แดนซ์ในการขายกิจการติ๊กต็อก โดยทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งบริหารเมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมาระบุว่า ไบต์แดนซ์จะต้องขายกิจการติ๊กต็อกภายในวันที่ 15 ก.ย.นี้ มิฉะนั้นติ๊กต็อกจะถูกสั่งปิดกิจการด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง

กรณีที่ทรัมป์ดำเนินนโยบายเข้มงวดกับติ๊กต็อก ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐ ที่ดำเนินมาถึงจุดตึงเครียดและสั่นคลอนมากขึ้นหลังจากที่จีนประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกงฉบับใหม่ เมื่อสิ้นเดือนมิ.ย. ทำให้สหรัฐต้องประกาศทบทวนการให้สิทธิพิเศษที่เคยให้ฮ่องกงในฐานะเขตปกครองพิเศษที่มีความแตกต่างจากจีนภายใต้แนวคิด “หนึ่งประเทศ สองระบบ” นับจากนี้ไป เมื่อจีนครอบงำฮ่องกงมากขึ้น สหรัฐก็ต้องทบทวนสิทธิพิเศษนั้น

ขณะที่ความสัมพันธ์ด้านการค้า แม้ทั้งสองประเทศ พยายามประคับประคองให้ข้อตกลงการค้าเฟสแรกเดินหน้าต่อไปตามที่ตกลงกันไว้ และจีนเองก็ให้คำมั่นว่าจะสั่งซื้อสินค้าเกษตรสหรัฐให้มากขึ้นตามที่รับปาก แต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ช่วงต้นปี ที่ทำให้จีนประกาศมาตรการปิดเมือง-ปิดประเทศนานหลายเดือน ส่งผลกระทบต่อการขนส่ง การกระจายสินค้า

มีการปิดสายการผลิตของบรรดาโรงงานชั่วคราว อุปสงค์ภายในประเทศลดลง ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังความต้องการนำเข้าสินค้า และปริมาณการค้าก็ลดลงอย่างฮวบฮาบ

ที่แย่กว่านั้นคือประธานาธิบดีทรัมป์ กล่าวหาว่าจีนเป็นต้นตอกระจายเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 ทำให้เกิดหายนะไปทั่วโลกในเวลานี้ แถมสหรัฐ ไม่ใช่แค่ทวงถามความรับผิดชอบจากจีน แต่ยังเพิ่มแรงกดดันในทุก ๆ ด้าน เช่น คว่ำบาตรเจ้าหน้าที่จีน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในมณฑลเจ้อเจียง รวมทั้งเจ้าหน้าที่และธนาคารจีนที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในฮ่องกง