สสส.ปั้นพลเมืองไทยสู้ภัยวิกฤติสัมฤทธิ์ผล พลังจิตอาสาล้นเหลือหลังสถานการณ์ 'โควิด-19'

สสส.ปั้นพลเมืองไทยสู้ภัยวิกฤติสัมฤทธิ์ผล พลังจิตอาสาล้นเหลือหลังสถานการณ์ 'โควิด-19'

"โควิด-19" สร้างจิตอาสาเพิ่ม หลังสสส.ทำโครงการพลเมืองไทยสู้ภัยวิกฤตจนประสบความสำเร็จ ได้คนรุ่นใหม่ร่วมอาสาทำงานจำนวนมาก ชี้ชีวิตหลังวิกฤตโควิด ไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีก ระบุการทำงานของสสส. ต้องปรับตัว เน้นรับชีวิตวิถีใหม่

นางเข็มเพชร เลนะพันธ์ ผู้อำนวยการแผนสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรมสุขภาวะ (สำนัก 6) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า หลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทางแผนสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรมสุขภาวะ ได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการพลเมืองไทยสู้ภัยวิกฤต: Citizen Resilience Project แต่เนื่องจากเป็นโครงการเร่งด่วน เพราะเกิดขึ้นในช่วงวิกฤติดังกล่าว การออกแบบและการบริหารจัดการจึงต้องคิดภายใต้บริบทที่มีข้อจำกัด เช่น มีระยะเวลาสั้นแค่ 3 เดือน จึงได้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ และเป็นการทำงานบนแพลตฟอร์มออนไลน์

เมื่อเปิดรับสมัครแล้วปรากฏว่ามีผู้อาสาเข้ามาทำงานกับสสส.มากกว่าร้อยโครงการ แต่รับพิจารณาได้ 57 โครงการ มีกลุ่มคนหลากหลาย ทั้งกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย กลุ่มผู้นำคนรุ่นใหม่ รวมทั้งกลุ่มคนที่ไม่เคยรู้จัก สสส.มาก่อนเลย แต่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น กลุ่มคนที่ทำงานบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ก็อาสาเข้ามาร่วมทำงานด้วย พร้อมทั้งมีบางกลุ่มที่ไม่ได้รับทุน แต่ก็ยังอาสาเอาความเชี่ยวชาญของตัวเองเข้ามาช่วยด้วย

จากเหตุการณ์นี้ ทำให้นางเข็มเพ็ชรมองเห็นโอกาสของการสร้างเครือข่ายกับกลุ่มคนเหล่านี้ เพราะทุกกลุ่มมีความเชี่ยวชาญ ถ้าได้ดึงศักยภาพบางส่วน หรือเติมบางอย่างให้พวกเขา ก็น่าจะใช้พลังและความสามารถเหล่านี้ไปช่วยทำเรื่องเพื่อรับมือกับวิกฤติทางสังคมได้

นางเข็มเพชร กล่าวด้วยว่า ตนเชื่อว่าโครงการนี้เกิดขึ้นมาในจังหวะที่เกิดวิกฤต กำลังอยู่ในกระแสความสนใจของคน แม้จะมีข้อจำกัดเรื่องเวลาการทำงาน แต่ทุกโครงการที่ได้รับการสนับสนุนต้องมีความคิดสร้างสรรค์ ปฏิบัติได้จริง เพราะมีการติดตาม ประเมินผลว่า สุดท้ายแล้วผลลัพธ์ที่ได้ต้องเกิดประโยชน์จริง และเกิดความเปลี่ยนแปลงที่วัดผลได้ มีการค้นพบหลายอย่างจากการทำงานของโครงการนี้ หนึ่งในนั้น คือ ทำให้ทราบว่า ได้มีการตีความของคำว่า “ชุมชน” เป็นชุมชนแบบใหม่ เป็น community หรือกลุ่มคนที่มีวัตถุประสงค์เหมือนกัน มีวิถีหรือแนวคิดคล้าย ๆ กัน เช่น การทำงานกับกลุ่มคนมอเตอร์ไซต์ กลุ่มคนเก็บขยะ ทำให้บริบทการทำงานจากที่เป็นแบบชุมชนหมู่บ้าน เป็นวิถีชุมชนในรูปแบบใหม่ อย่าง ชุมชนคนที่อยู่บนออนไลน์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นข้อมูลที่น่าสนใจมาก

“ชีวิตหลังจากวิกฤติไวรัสโควิด-19 นี้ คงไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกแล้ว การทำงานของสำนัก 6 หรือ สสส.เองก็ต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน ซึ่งแผนสร้างสรรค์โอกาสฯเองก็มองว่า เป็นโอกาส เพราะชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal อาจจะเป็นการพลิกวิธีคิดของงานสร้างเสริมสุขภาวะ เห็นได้อย่างชัดเจนว่า โดยส่วนหนึ่งของวิกฤติได้ช่วยกระตุ้นให้คนได้ตระหนัก และเห็นความสำคัญกับสุขภาพตนเองเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี” ผอ.เข็มเพชร กล่าวและว่า

สถานการณ์โควิด-19 เป็นเหมือนกับการทดสอบ เพราะในอนาคตอาจจะมีวิกฤติต่าง ๆ เกิดขึ้นได้อีก โครงการพลเมืองไทยสู้ภัยวิกฤตจึงเป็นเหมือนชุดความรู้ และเป็นบททดสอบว่า เมื่อเกิดวิกฤติ เราจะช่วยกันลดผลกระทบจากวิกฤติได้อย่างไร