'การบินไทย' นับ 1 ฟื้นฟู มั่นใจ 5 ปี พ้นวิกฤติ

'การบินไทย' นับ 1 ฟื้นฟู มั่นใจ 5 ปี พ้นวิกฤติ

ศาลล้มละลายกลางสั่งฟื้นฟูกิจการบินไทย “ชาญศิลป์” ชี้เป็นก้าวสำคัญฟื้นกลับมาเป็นสายการบินแห่งชาติ ตั้งเป้าสำเร็จใน 5 ปี เร่งเปิดลงทะเบียนเจ้าหนี้ 1 เดือน ทำแผนเสนอศาลไตรมาส 4 คิกออฟแผนต้นปีหน้า ห่วงธุรกิจการบินฟื้นตัวช้าใช้เวลากลับมาปกติ 4-5 ปี

กระบวนการฟื้นฟูกิจการบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นวานนี้ (14 ก.ย.) หลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้การบินไทยดำเนินการฟื้นฟูกิจการ โดยที่ผ่านมาศาลล้มละลายกลางนัดไต่สวนพยานเจ้าหนี้และลูกหนี้รวม 3 นัด มีเจ้าหนี้ยื่นคัดค้าน 16 ราย แต่ภายหลังมีเจ้าหนี้ถอนคำคัดค้าน 3 ราย

ศาลล้มละลายกลางได้ออกเอกสารสรุปคำสั่งฟื้นฟูกิจการครั้งนี้ โดยศาลพิเคราะห์หลายประเด็น อาทิ การบินไทยมีหนี้สินล้นพ้นตัวจริงหรือไม่ คณะผู้จัดทำแผนที่การบินไทยเสนอมีความสามารถเหมาะสมหรือไม่ และช่องทางในการฟื้นฟูกิจการ 

ประเด็นหนี้สินล้นพ้นตัว ศาลเห็นว่าการบินไทยมีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์และส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ โดยลูกหนี้มีทรัพย์สินบางรายการที่ไม่สามารถยึดหรือบังคับชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ได้ อีกทั้งมีหนี้ถึงกำหนดชำระและชำระหนี้ไม่ได้ ลูกหนี้จึงเป็นลูกหนี้อย่างอื่นที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวและไม่สามารถที่จะชำหนี้ตามกฎหมายได้

ประเด็นคณะผู้จัดทำแผนมีความเหมาะสมหรือไม่ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าโครงสร้างธุรกิจของลูกหนี้เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้และมีความจำเป็นต่อระบบการคมนาคมและขนส่งทางอากาศ โดยลูกหนี้ได้เสนอรายชื่อผู้ทำแผนที่ศาลพิจารณาและเห็นว่ามีเป็นบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ รวมทั้งชื่อเสียงและประสบการณ์จากการประกอบกิจการมานาน ทำให้ปัจจุบันลูกหนี้ยังเป็นผู้มีศักยภาพในการสร้างรายได้ และผู้ทำแผนมีความเหมาะสม

ประเด็นเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ล้มละลาย ผู้ทำแผนต้องจัดทำแผนบนหลักการก่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อเจ้าหนี้ และเจ้าหนี้จะต้องได้รับชำระหนี้มากกว่าการล้มละลาย ด้วยหลักการดังกล่าว บุคคลซึ่งลูกหนี้เสนอเป็นผู้ทำแผนย่อมไม่สามารถจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการไปตามที่ตนเองต้องการโดยปราศจากความร่วมมือจากเจ้าหนี้อื่นได้ ทั้งเจ้าหนี้ผู้คัดค้านในคดีก็ไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานอื่น อีกทั้งลูกหนี้ได้แสดงหลักฐานถึงคุณสมบัติ และประสบการณ์ของผู้ทำแผนที่สามารถพิสูจน์ได้ ศาลจึงเห็นชอบคณะผู้จัดทำแผนที่ลูกหนี้เสนอ

ประเด็นช่องทางการฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้ผู้ให้เช่าหรือผู้ให้เช่าซื้อเครื่องบินหลายรายสนับสนุนให้ลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และยินยอมให้ลูกหนี้ใช้เครื่องบินที่ให้เช่า โดยพักหรือขยายระยะเวลการชำระหนี้บางส่วน เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจของลูกหนี้ดำเนินต่อได้ 

อีกทั้งลูกหนี้มีหนังสือสนับสนุนการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการและไม่ประสงค์คัดค้านคณะผู้ทำแผนที่ลูกหนี้เสนอมาแสดงเป็นหลักฐานยืนยันว่า ลูกหนี้ได้เจรจาประนอมหนี้เรื่อยมาและได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหนี้ทั้งเจ้าหนี้สถาบันการเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผู้ให้เช่าเครื่องบิน ผู้ให้บริการด้านอากาศยาน สายการบินคู่ค้า ผู้ถือหุ้นกู้รายใหญ่ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบธุรกิจของลูกหนี้ ทำให้ข้อกล่าวอ้างของลูกหนี้มีน้ำหนัก

ดังนั้น หากปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โครงสร้างองค์กร และการบริหารจัดการของการบินไทยสอดคล้องกับความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดในอนาคตภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ และสามารถชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้อย่างเป็นธรรมในจำนวนที่ดีขึ้นกว่าเดิม รักษาการจ้างงานจำนวนมาก ศาลจึงฟังได้ว่ามีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร กรรมการและรักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย เปิดเผยภายหลังศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการ ว่า กระบวนการหลังจากนี้ คณะผู้ทำแผนจะดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งจะใช้เวลาให้เร็วที่สุด คาดว่าจะเสนอแผนฟื้นฟูต่อศาลได้ภายในไตรมาส 4 ของปีนี้

หลังจากนั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะจัดประชุมเจ้าหนี้พิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการต้นปี 2564 ศาลอาจมีคำสั่งเห็นชอบแผนและแต่งตั้งผู้บริหารแผนในไตรมาส 1 ปี 2564 และการบินไทยจะดำเนินการตามแผน โดยเป้าหมายให้การบินไทยกลับมาดำเนินธุรกิจตามปกติ พลิกฟื้นองค์กรได้ภายใน 5 ปีหลังจากเริ่มดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ

“วันนี้เป็นก้าวแรกที่สำคัญของการฟื้นฟูกิจการ หลังจากวันนี้จะเข้าสู่กระบวนการให้เจ้าหนี้ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ได้ทางออนไลน์ถึง 1 เดือนนับแต่ที่คำสั่งศาลประกาศลงราชกิจจานุเบกษา” นายชาญศิลป์ กล่าว

สำหรับการยื่นคำร้องขอชำระหนี้ การบินไทยร่วมกับกรมบังคับคดีอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหนี้ โดยเจ้าหนี้สามารถลงทะเบียนเพื่อยื่นคำขอรับชำระหนี้ผ่านระบบออนไลน์ได้ด้วยตนเองที่บ้านผ่านทางเว็บไซต์หรือยื่นคำขอรับชำระหนี้ผ่านระบบออนไลน์ด้วยตนเองก็นำเอกสารมายื่นขอรับชำระหนี้ที่จุดอำนวยความสะดวก 4 หน่วยงาน ได้แก่

1.การบินไทยสำนักงานใหญ่

2.กรมบังคับคดี ถนนบางขุนนนท์, สำนักงานบังคับคดีทั่วประเทศ และศูนย์บังคับคดีล้มละลายส่วนหน้า (ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ)

3.สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำหรับเจ้าหนี้หุ้นกู้

4.ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทยสำหรับหุ้นกู้กลุ่มสหกรณ์

นายชาญศิลป์ กล่าวว่า เป้าหมายของการฟื้นฟูกิจการแล้วเสร็จ และออกจากแผนฟื้นฟูภายใน 5 ปีหลังจากนี้นั้น ในฐานะผู้บริหารคาดว่าจะกลับมาให้ได้ภายใน 5 ปี แต่อย่างไรก็ดีในขณะนี้ขอให้รอรายละเอียดของแผนฟื้นฟูที่ผู้จัดทำแผนจะดำเนินการและรายงานต่อศาลภายในไตรมาส 4 ปีนี้ก่อน เนื่องจากปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 เป็นปัจจัยภายนอกที่ยังควบคุมไม่ได้ และยังไม่มีการผลิตวัคซีนสำเร็จ

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าการบินไทยจะไม่สามารถทำการบินได้ตามปกติ แต่การบินไทยยังคงหารายได้เข้าองค์กรอย่างต่อเนื่อง ผ่านการเปิดเที่ยวบินพิเศษ เที่ยวบินเส้นทางภายในประเทศผ่านสายการบินไทยสมายล์ ซึ่งมีอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (เคบิ้นแฟกเตอร์) เฉลี่ยอยู่ที่ 50-60% นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากคลังสินค้า ศูนย์ซ่อมอากาศยาน และครัวการบินที่ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี

สำหรับแนวทางดำเนินธุรกิจการบินในอนาคต การบินไทยประเมินว่าความต้องการเดินทางของผู้โดยสารจะไม่ได้กลับมาสูงอย่างที่ผ่านมา เนื่องจากจะกลายเป็นการเดินทางเฉพาะที่จำเป็น เป็นการเดินทางในลักษณะของเที่ยวบินพิเศษ และเที่ยวบินที่รองรับผู้โดยสารกลุ่มรักษาสุขภาพ ส่วนการเดินทางท่องเที่ยวตามปกติด้วยเที่ยวบินพาณิชย์ คาดว่าผู้โดยสารจะทยอยเติบโตอย่างต่อเนื่อง และกลับมาเป็นปกติภายใน 4-5 ปี

“การบินน่าจะกลับมาเหมือนเดิมอีก 4-5 ปี แต่ถึงวันนั้นสายการบินไหนจะอยู่จะไป ซึ่งเราขอใช้โอกาสนี้ในการปรับตัว เราจะอาศัยความสามารถและทรัพย์สินที่มีอยู่ เราเป็นสายการบินอันดันต้นของโลกที่มีงานบริการคุณภาพ ทั้งการบิน ครัวการบิน และคาร์โก้ ดังนั้นเราจะทำให้การบินไทยกลับมาเป็นสายการบินแห่งชาติด้วยความภาคภูมิใจของคนไทย และเราเชื่อว่าการบินไทยยังมีคนรักอีกมาก”นายชาญศิลป์ กล่าว