รู้จัก ‘โยชิฮิเดะ ซูกะ’ จากลูกชาวไร่ สู่นายกฯญี่ปุ่นคนใหม่

รู้จัก ‘โยชิฮิเดะ ซูกะ’ จากลูกชาวไร่ สู่นายกฯญี่ปุ่นคนใหม่

เป็นไปตามความคาดหมาย เมื่อ “โยชิฮิเดะ ซูกะ” มือประสานสิบทิศคนสำคัญของรัฐบาลญี่ปุ่น ขึ้นแท่น “ว่าที่นายกฯคนใหม่” แทน ชินโซ อาเบะ ที่ลาออกด้วยปัญหาสุขภาพ แต่เส้นทางการเมืองของซูกะถือว่าไม่ธรรมดา กว่าจะเป็นที่ยอมรับอย่างทุกวันนี้ เขาต้องเริ่มต้นจากศูนย์

โยชิฮิเดะ ซูกะ นักการเมืองญี่ปุ่น วัย 71 ปี ชนะเลือกตั้งเป็นหัวหน้าคนใหม่ของพรรคเสรีประชาธิปไตย หรือ แอลดีพี เมื่อวันจันทร์ (14 ก.ย.) ซึ่งแน่นอนว่าเขาจะผ่านการรับรองจากสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคแอลดีพีครองเสียงข้างมากอยู่แล้วในวันพุธ (16 ก.ย.) และนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนใหม่แทนที่ ชินโซ อาเบะ

การขึ้นเป็นผู้นำประเทศจะถือเป็นจุดสูงสุดบนเส้นทางการเมืองของซูกะ ซึ่งรับตำแหน่งการเมืองสำคัญมาแล้วหลายบทบาท รวมถึงตำแหน่งล่าสุดอย่าง “หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรี” ที่เขาครองสถิติอยู่ในตำแหน่งนี้นานที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นถึง 8 ปีเต็ม

หัวหน้าเลขาธิการครม. เป็นตำแหน่งที่รับผิดชอบการประสานงานด้านนโยบาย และจัดการหน่วยงานรัฐและระบบราชการให้เป็นระเบียบเรียบร้อย หรือเรียกได้ว่าเป็น “พ่อบ้าน” ประจำคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น

นอกจากนี้ ซูกะยังเป็นเหมือน “หน้าตา” ของรัฐบาลอาเบะ โดยทำหน้าที่หัวหน้าโฆษกและคอยชี้แจงการตัดสินใจต่าง ๆ ของรัฐบาลในการแถลงข่าวรายวัน รวมถึงต้องรับมือกับคำถามเผ็ดร้อนจากสื่อมวลชนด้วยในบางครั้ง

ในอดีต แม้ตำแหน่งหัวหน้าเลขาธิการครม. เป็นบันไดไต่เต้าสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีสำหรับนักการเมืองญี่ปุ่นหลายคน แต่ซูกะเคยพูดอยู่บ่อยครั้งว่า “ไม่สนใจตำแหน่งนายกฯ”

แต่ไม่นานหลังจากอาเบะประกาศลาออกด้วยปัญหาสุขภาพเมื่อปลายเดือน ส.ค. ซูกะก็กลายเป็นตัวเก็งสืบทอดตำแหน่งผู้นำประเทศคนต่อไป ด้วยการสนับสนุนของกลุ่มก๊วนต่าง ๆ ในพรรคแอลดีพี โดยจุดเด่นของซูกะคือ ขึ้นชื่อเรื่องการใช้อำนาจในการควบคุมระบบราชการที่ซับซ้อนและทรงพลังของญี่ปุ่น และช่วยผลักดันนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลจนลุล่วง

 

  • เริ่มต้นจากศูนย์

อย่างไรก็ตาม ซูกะแตกต่างจากนักการเมืองพรรคแอลดีพีคนอื่น ๆ ตรงที่ไม่ได้เป็น “นักการเมืองโดยสายเลือด” เพราะเกิดในครอบครัวชาวไร่สตรอว์เบอร์รีในพื้นที่ชนบทอย่างจังหวัดอาคิตะ ทางเหนือของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2491

ต่อมา ซูกะย้ายมาอยู่ในกรุงโตเกียวหลังเข้าเรียนมัธยมปลายและทำงานเสริมเพื่อส่งตัวเองเรียนจนจบคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยโฮเซในโตเกียวเมื่อปี 2516

หลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัย ซูกะได้ทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านการหาเสียงเลือกตั้งประจำวุฒิสภา จากนั้นมาเป็นเลขานุการของสมาชิกสภาไดเอทคนหนึ่งจากพรรคแอลดีพีเป็นเวลา 11 ปี ก่อนจะลาออกในเดือน ต.ค. 2529 เพื่อลงเล่นการเมืองเต็มตัว

ซูกะได้รับเลือกตั้งครั้งแรกเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองโยโกฮามาเมื่อปี 2530 หลังจากใช้เทคนิคหาเสียงด้วยการเดินเท้าเคาะประตูบ้านประชาชนมากถึง 3 หมื่นหลังและเปลี่ยนรองเท้าระหว่างหาเสียงถึง 6 คู่ นอกจากนี้ เขายังบุกเบิกวิธีปราศรัยหาเสียงหน้าสถานีรถไฟที่มีผู้คนพลุกพล่าน ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นวิธีหาเสียงยอดนิยมในหมู่นักการเมืองญี่ปุ่น

ซูกะพูดถึงปูมหลังของตัวเองขณะรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคแอลดีพีคนใหม่ ด้วยการบอกว่า “เขาเริ่มต้นทุกอย่างจากศูนย์”

“ด้วยพื้นเพของผมที่มาจากครอบครัวชาวไร่ ผมจะอุทิศทั้งชีวิตให้กับประเทศชาติและชาวญี่ปุ่น”

  • พันธมิตรคู่ใจ “อาเบะ”

ซูกะชนะเลือกตั้งเป็นส.ส.สมัยแรกในฐานะผู้แทนเขต 2 จังหวัดคานางาวะเมื่อปี 2539 และเป็นผู้สนับสนุนอาเบะมาอย่างยาวนาน โดยผลักดันจนอดีตผู้นำพรรคแอลดีพีได้บริหารประเทศ 2 สมัย ถึงแม้สมัยแรกจะไม่น่าจดจำนัก เพราะอยู่ได้เพียง 1 ปีเศษก่อนประกาศยุบสภา

เมื่ออาเบะกลับสู่อำนาจอีกครั้งหลังชนะการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2555 ซูกะก็ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าเลขาธิการครม.ที่ทรงอิทธิพล และอยู่ในตำแหน่งนี้ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ด้วยผลงานชิ้นโบแดงในการช่วยออกนโยบายสำคัญของรัฐบาลอาเบะมาแล้วมากมาย รวมถึงการผ่อนคลายข้อจำกัดเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติ

ด้วยความสนิทสนมกับอาเบะของซูกะ ทำให้เขาเป็นเพียงไม่กี่คนที่สามารถพูดตรงไปตรงมากับนายกรัฐมนตรี และเมื่อปี 2556 เขาเคยแนะนำอาเบะไม่ให้เดินทางไปสักการะศาลเจ้ายาสุกุนิในโตเกียว ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านมองว่าเป็น “สัญลักษณ์แห่งยุคแสนยนิยม” ของญี่ปุ่นในอดีต

อย่างไรก็ตาม แม้อาเบะไม่ฟังคำแนะนำครั้งนั้นของซูกะ ซึ่งทำให้เกิดกระแสไม่พอใจทั่วภูมิภาค รวมถึงเสียงประณามจากสหรัฐ แต่หลังจากนั้น อาเบะก็ไม่เคยไปสักการะศาลเจ้าแห่งนี้ด้วยตัวเองอีกเลย แม้ยังมีรัฐมนตรีบางคนไปเยือนสถานที่ดังกล่าวอยู่บ้างก็ตาม

สำหรับเรื่องชีวิตส่วนตัวและครอบครัว แม้ซูกะแทบไม่เปิดเผยต่อสาธารณชนเลย แต่เป็นที่รู้กันว่าสุขภาพของเขาในวัยแตะเลข 7 ยังคงฟิตแอนด์เฟิร์มไม่ต่างกับชายหนุ่มสมัยนี้ โดยเคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกิจวัตรประจำวันไว้ว่า เขาซิทอัพ 100 ครั้งในตอนเช้าและอีก 100 ครั้งในตอนเย็น ส่วนจุดอ่อนของเขาคือ “แพนเค้ก”

----------------------

อ้างอิง: AFP, BBC, Japan Times