กลยุทธ์การลงทุนรายสัปดาห์ (14 ก.ย.63)

กลยุทธ์การลงทุนรายสัปดาห์ (14 ก.ย.63)

14-18 กันยายน: ยังคงถูกกดดันจากความไม่แน่นอนภายในประเทศ

สรุปภาวะตลาดและมุมมองสัปดาห์นี้: ในสัปดาห์ที่แล้ว ดัชนี SET ขยับลงแบบ sideways down ตามที่เราคาดเอาไว้ เนื่องจากความไม่แน่นอนของการเมืองไทย และข่าวการติดเชื้อ COVID-19 ภายในประเทศกดดันภาวะตลาดหุ้นไทย โดยแรงขายเร่วตัวขึ้นในวันศุกร์จากข่าว i) นักฟุตบอลต่างชาติใน Thailand League ติดเชื้อ COVID-19 และ ii) พบผู้ติดเชื้อสามรายในญี่ปุ่นซึ่งอาจจะติดเชื้อมาจากประเทศไทย สำหรับในสัปดาห์นี้ (14-18 กันยายน) ภาวะตลาดในประเทศยังดูอ่อนแอ และดัชนี SET ก็อาจจะย่อลงต่ออีก ถึงแม้ว่าปัจจัยภายนอกจะดูดีขึ้นเล็กน้อยจากการที่ Oxford-AstraZeneca กลับมาเดินหน้าทดสอบวัคซีน COVID-19 (เฟสที่ 3) ใหม่ แต่ปัจจัยภายในประเทศก็จะเป็นตัวฉุดภาวะตลาด ปัจจัยแรกคือความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการติดเชื้อในประเทศไทยที่ยังตรวจไม่พบ และความกังวลว่าการบังคับกักตัว 14 วันของภาครัฐนานพอหรือไม่ ส่วนปัจจัยที่สองคือนักลงทุนส่วนใหญ่จะยังคงรอดูสถานการณ์การชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลในวันเสาร์ที่จะถึงนี้ (19 กันยายน 2563)

เช่นเดียวกับมุมมองของเราในสัปดาห์ที่แล้ว เราคิดว่าดัชนี SET มี downside จากระดับปัจจุบันอีกไม่มากแล้ว เนื่องจาก i) เราเชื่อว่าการชุมนุมประท้วงในวันเสาร์นี้จะไม่นำไปสู่ความรุนแรง หรือการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันทันทีของรัฐบาลผสม ii) ประเทศไทยยังคงเป็นหนึ่งในประเทศที่คุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ดีที่สุดในโลก แม้ว่าจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อในประเทศขึ้นบางรายในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดังนั้น เราจึงยังคงมองว่า downside ของดัชนี SET อยู่ที่ 1,260 จุด อิงจาก forward consensus EPS 12 เดือนข้างหน้าที่ 72.0 และ ระดับ P/E เหมาะสมที่ 17.5x ในขณะเดียวกัน ทั้งแบบจำลอง earnings yield gap (EYG) และแบบจำลอง regression ระหว่าง global QEs และการประเมินมูลค่าหุ้นไทยก็ออกมาตรงกันที่ 17.5x

ธีมการลงทุน ปัจจัย และกระแสข่าวสำคัญที่จะมีผลกับตลาดในสัปดาห์นี้:

(0/+) การตัดสินใจของ FOMC ในการประชุมวันที่ 16 กันยายน เราคาดว่า Fed จะยังคงอัตราดอกเบี้ยและยังคงนโยบายทำ QE แบบไม่จำกัดเหมือนเดิม แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือ ตลาดจะจับตา i) ว่า Fed จะให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับมุมมองการปรับตัวของเงินเฟ้อสหรัฐ หลังจากที่ออกมาส่งสัญญาณว่าจะยอมให้ทะลุเกิน 2% ได้ ii) ว่า Fed จะประกาศ หรือส่งสัญญาณว่าจะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมอีกหรือไม่ อย่างเช่น มาตรการคุม yield curve หรือเพิ่มยอดซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ/MBS

(-) สถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ภายในประเทศ ในสัปดาห์นี้ นักลงทุนน่าจะติดตามกระแสข่าว COVID-19 อย่างใกล้ชิด หลังจากที่ในสัปดาห์ที่แล้วปรากฎข่าวว่า i) นักฟุตบอลต่างชาติใน Thailand League ถูกตรวจพบว่าติดเชื้อ COVID-19 และ ii) มีผู้ติดเชื้อสามรายที่พบการติดเชื้อในญี่ปุ่น ซึ่งอาจจะ
ติดมาจากประเทศไทย นอกจากนี้ ตลาดก็ยังกังวลเกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่กำลังจะจัดขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อภายในประเทศได้ถ้าหากว่ามีเชื้อไวรัสแฝงตัวอยู่ในชาวไทยจริง ๆ เรามองว่าปัจจัยนี้จะกดดันหุ้นที่เกี่ยวข้องกับภาวะเศรษฐกิจไทย และ หุ้นที่ได้อานิสงส์จากการได้รับอนุญาตให้กลับมาเปิดให้บริการธุรกิจอีกครั้ง

ธีมหุ้นที่เราสนใจ:

หุ้น Global play อย่างเช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และร้านขาย smartphone เป็นกลุ่มที่น่าสนใจในภาวะที่ปัจจัยมหภาคภายในประเทศมีความไม่แน่นอน ดังที่เราได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าความไม่แน่นอนภายในประเทศ อย่างเช่นความเสี่ยงเรื่องการติดเชื้อภายในประเทศ และการชุมนุมทางการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นจะกดดันหุ้น domestic play ในระยะสั้น ดังนั้น เราจึงชอบหุ้น global play อย่างเช่นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และร้านขาย smartphone มากกว่า จากการเปิดตัว iPhone 12 ในสัปดาห์นี้ โดยเรามองว่าหุ้นอย่าง HANA* COM7* และ SYNEX น่าจะปรับตัวขึ้นได้แรง