กลุ่มแคร์ชี้กองทุน2ล้านล้านหนุนเอสเอ็มอีปรับโครงสร้างศก.

กลุ่มแคร์ชี้กองทุน2ล้านล้านหนุนเอสเอ็มอีปรับโครงสร้างศก.

กลุ่มแคร์ชี้ข้อเสนอรัฐบาลตั้งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเอสเอ็มอี 2 ล้านล้านบาท เพื่อเป็นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจผ่านผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยรัฐบาลจะใส่เงินทุนและให้เอสเอ็มอีบริหาร 7 ปี

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร สมาชิกเริ่มต้นกลุ่มแคร์ (CARE)กล่าวถึงข้อเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบเอสเอ็มอี 2 ล้านล้านบาท โดยกล่าวถึงที่มาของเสนอดังกล่าวในรายการเจาะลึกทั่วไทยอินไซต์ไทยแลนด์ว่า หากรัฐบาลโดยธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ไม่ต่ออายุมาตรการผ่อนปรนหนี้ ซึ่งตนเข้าใจว่า ธปท.จะไม่ต่ออายุ เพราะต่อไม่ได้ จะทำให้คนอื่นที่จ่ายจะไม่จ่ายบ้าง

โดยสัดส่วนของคนที่ได้รับการผ่อนปรนคิดเป็นมูลหนี้ 7.2 ล้านล้านบาท หรือ 1 ใน 3 ของการปล่อยกู้ในระบบ แสดงว่าจะมี 1 ใน 3 คน ไม่จ่ายคืนเงินหนี้ ถ้าทิ้งไว้นานๆ อีก 2 คนก็จะบอกว่า จ่ายทำไม ธปท.จะไม่ต่ออายุ เมื่อไม่ต่อ ธนาคารในฐานะเจ้าหนี้ก็ต้องเข้าไปบริหารจัดการว่าจะทำอย่างไรกับลูกหนี้

ประเด็น คือ เมื่อขนาดของหนี้ใหญ่ การที่ธนาคารไปปรับโครงสร้าง นั่นคือ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจกลายๆ เพราะขนาดใหญ่มาก ประเด็น คือ จะให้ธนาคารปรับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศแทนพวกเราทุกคน เพราะเขาต้องปรับโครงสร้างหนี้ของเขาเพื่อประโยชน์ของธนาคารและผู้ถือหุ้น ซึ่งน่าจะไม่ตรงความต้องการของประเทศ ถ้าเราปล่อยไปไม่ทำอะไร ก็จะเป็นอย่างนั้นโดยปริยาย เพราะรัฐบาลบอกไหมว่า จะปรับโครงสร้างประเทศไทยไปในทิศทางไหน ตนไม่เห็นสัญญาณอะไรเลยที่ชัดเจนและมีกลไกอย่างไร

ล่าสุดที่เห็น คือ รัฐบาลมีแนวคิดจ้างงาน 6 แสนตำแหน่ง ในระยะเวลา 1 ปี ใช้งบ 6-7 หมื่นล้านบาท แต่เนื่องจาก ไม่ตอบโจทย์ปรับโครงสร้างของประเทศและไม่รู้แก้ปัญหาถูกจุดหรือไม่ ถ้าดูตามข่าวแล้ว คนจะตกงานกว่า 1 ล้านคน เพราะผลกระทบวงกว้างมาก ฉะนั้น กองทุนที่ทางแคร์เสนอ เราจะระดมความเก่งเอสเอ็มอี ให้เขาตัดสินใจว่า จะปรับโครงสร้างไปทางไหน

ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างของเอสเอ็มอีนั้น เขาจะต้องใช้ทุนเพิ่ม เพราะว่า ตอนนี้ แบงก์กล้าปล่อยกู้แล้ว และย้ำว่า ไม่ได้ให้เฉพาะเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวแต่เป็นการให้ทั่วไป ถ้าให้แล้ว บางคนที่ทำเทคโนโลยีระดับสูงด้านการเกษตร ซึ่งเขาหาทุนอยู่พวกเวนเจอร์ก็บอกว่า อยากได้ผลตอบแทน 3% หรือ 20%

แต่กรณีนี้ เราเสนอว่า รัฐบาลจะถือหุ้นครึ่งหรือกว่าครึ่งหนึ่งด้วย แต่รัฐบาลจะบอกขอผลตอบแทนประมาณ 4% เพื่อให้สตาร์ทอัพเขาปรับโครงสร้างประเทศไทยเป็นการกระจายอำนาจในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งกลุ่มเอสเอ็มอี อาจจะมีความสามารถและอ่านเศรษฐกิจออก แต่เราไม่รู้

“ที่มาของตัวเลข 2 ล้านล้านบาท คือ เราเห็นว่า เงินจะหายไป จีดีพีจะหายไปในมูลค่านั้น ยกตัวอยบ่าง การท่องเที่ยวปีที่แล้วต่างชาติมาท่องเที่ยว 40 ล้านคน รายได้ 2 ล้านล้านบาท หัวละ 5 หมื่นบาท ปีนี้ ต่างชาติเข้ามา 6.7 ล้านคน ส่วนใหญ่เข้ามาไตรมาสหนึ่ง แต่ตอนหลังไม่มีเข้ามาเลย ปีหน้าสงสัยจะเข้ามาได้แค่ 6 ล้านคน ถ้าเข้าได้จำนวนนั้น เอา 5 หมื่นคูณเข้าไป ก็ได้ 3 แสนล้านบาท เราจะขาด 1.7 ล้านล้านบาทจากการท่องเที่ยว การลงทุนของประเทศเรามีต่างชาติเข้ามาแต่เข้าไม่ได้ การลงทุนคิดเป็น 25% ของจีดีพี ถ้าคำนวณไตรมาสสองลงทุนลบ 15% เท่ากับ 6 แสนล้านบาท บวกกัน ก็ 2 ล้านล้านบาทแล้ว”

สำหรับรูปแบบกองทุน คือ สมมติมีเอสเอ็มอีมีความคิดว่า เขาเดินได้มีทุน 20 ล้านบาท เขาจะต้องหาเงินมา โดยหาแหล่งทุนธนาคารที่จะมาปล่อยกู้ให้เขา 30 ล้านบาท เพื่อเดินมาหารัฐบาลบอกว่า เขามีทุน 50 ล้านบาท และให้รัฐบาลใส่ให้อีก 50 ล้านบาท ทุนทั้งหมดจะเป็น 70 ล้านบาท และแบงก์ปล่อย 30 ล้านบาท ที่กู้แบงก์ เพื่อให้แบงก์ช่วยตรวจสอบว่าทุกอย่างมีที่มาที่ไปกลั่นกรองให้ระดับหนึ่ง รัฐบาลจะเข้ามาถือหุ้นแบบไม่ก้าวก่ายการบริหารกิจการต่างๆและรัฐบาลจะมีข้อบังคับหลัก คือ 1.ทำบัญชีให้โปร่งใสมีบัญชีเล่มเดียว 2.เข้าระบบภาษี เพื่อให้รัฐบาลไทยมีผู้เสียภาษีเพิ่มขึ้น และเราก็ปล่อยไปเลยอีก 7 ปีค่อยมาว่ากัน

“ในช่วง 7 ปีข้างหน้า ถ้าบริษัททำได้ดีมาก เจ้าของสามารถซื้อหุ้นคืนในราคา 1.3 เท่าของรัฐบาลจ่าย กรณีทำไม่ดี ก็กินทุนไปทุกฝ่าย ซึ่งตรงนั้น ประเด็นอยู่ที่ว่า รัฐบาลจะเสียหายแค่ไหน ก็เสนอว่า รัฐบาลออกพันธบัตรให้แบงก์ชาติซื้อที่ 0.01% เท่ากับที่แบงก์ชาติทำกับแบงก์พาณิชย์ แต่เป็นพันธบัตร 100 ปี ภาระดอกเบี้ยที่รัฐบาลจ่ายปีละ 200 ล้านบาทต่อปี ซึ่ง 2 ล้านล้านบาท ไม่ใช่แค่นั้น เจ้าของบริษัทกับแบงก์ก็ต้องจ่ายมาอีก 2 ล้านล้านบาท เท่ากับกระตุ้น 4 ล้านล้านบาท