เศรษฐกิจจะรอด รัฐต้อง ‘ไม่กลัว’ ใช้เงิน

เศรษฐกิจจะรอด รัฐต้อง ‘ไม่กลัว’ ใช้เงิน

ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยผ่านช่วงจุดต่ำสุดแล้ว แต่บรรยากาศยังไม่ค่อยดีนัก โดยเฉพาะเซ็กเตอร์ส่งออกและการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันขณะนี้ยังสะท้อนภาพรัฐบาลที่ดูจะยังรีรอไม่ค่อยกล้าใช้เงินกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก ที่อาจทำให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจยากลำบากมากขึ้น

เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งหลังของปี 2563 แม้จะผ่าน “จุดต่ำสุด” ไปแล้วตามที่ “นักเศรษฐศาสตร์” คาดการณ์เอาไว้ แต่บรรยากาศเศรษฐกิจโดยรวมถือว่ายัง “ลูกผีลูกคน” หลายอุตสาหกรรมที่เคยเป็น “พระเอก” ในช่วงที่ผ่านมา ยังออกอาการ “ร่อแร่” ไม่ว่าจะเป็น “ภาคท่องเที่ยว” หรือ “ภาคส่งออก” มองไปข้างหน้า การหวังพึ่งพาเศรษฐกิจจากทั้งสองภาคส่วนนี้ ยังดูมืดมนนัก ทางเดียวที่พอจะพยุงไม่ให้เศรษฐกิจไทยทรุดลงไปมากนัก คือ การกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะในส่วนที่ยังพอมีกำลังอยู่

เราเชื่อว่า “รัฐบาล” เข้าใจประเด็นนี้ดี สะท้อนผ่านการออกมาให้ความเห็นของผู้ใหญ่ในรัฐบาลหลายๆ คนที่มองเห็นถึงความจำเป็นที่ต้อง “เร่งฟื้นฟู” เศรษฐกิจจากภายในประเทศ เพียงแต่โครงการที่ออกมายังเหมือนรีรอ “ไม่กล้าใช้เงิน” อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็น “ขนาด” ของ “วงเงิน” และ “ลักษณะ” ของโครงการที่เตรียมจะออกมา ดูแล้วไม่น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนัก อีกทั้งตัว พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่ออกมาเพื่อใช้ “เยียวยา” และ “ฟื้นฟู” เศรษฐกิจจากผลกระทบโควิดในช่วงที่ผ่านมา ก็ยังเบิกจ่ายได้น้อยมาก ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของที่ของบเอาไว้

ปัจจุบันวงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ยังมีเงินเหลือถึง 6.04 แสนล้านบาท แบ่งเป็น วงเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบยังเหลือ 2.53 แสนล้านบาท จาก 5.5 แสนล้านบาท วงเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจยังเหลือ 3.07 แสนล้านบาท จาก 4 แสนล้านบาท และ วงเงินสำหรับด้านสาธารณสุข ยังเหลือ 4.49 หมื่นล้านบาท จาก 4.5 หมื่นล้านบาท บ่งชี้ว่า รัฐบาลใช้งบในส่วนนี้ดูแลเศรษฐกิจไม่ถึง 4 แสนล้านบาท ซึ่งถ้ารวมกับ “งบกลาง” ที่นำออกมาใช้ไปแล้วราว 3.1 หมื่นล้านบาท เท่ากับว่า รัฐบาล “ใช้งบ” ในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจไปเพียงแค่ 4.3 แสนล้านบาทเท่านั้น ยังไม่ถึง 3% ของจีดีพีด้วยซ้ำ ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวล

เราเข้าใจสถานการณ์ดีว่า “รัฐบาล” เป็นห่วงกลัวว่า “โควิด” จะกลับมาระบาดรอบใหม่ แล้วจะไม่มีงบเพียงพอในการดูแล ทำให้ต้องพิจารณาการใช้เงินอย่างรอบคอบ เพียงแต่การรีรอ “ไม่กล้าใช้เงิน” เพื่อดูแลเศรษฐกิจในช่วงนี้ อาจทำให้บางธุรกิจไม่สามารถอยู่รอดได้ ถึงตอนนั้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจจะเป็นเรื่องที่ยากลำบากมากขึ้น ดังนั้นรัฐบาลต้อง “ไม่กลัว” ที่จะใช้เงินดูแลเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ด้วยฐานะการคลังในปัจจุบัน เราค่อนข้างมั่นใจว่า รัฐบาลยังมีศักยภาพเพียงพอที่จะกู้ยืมเงินเพื่อมาดูแลเศรษฐกิจได้อีกจำนวนมาก เวลานี้รัฐอาจกังวลเรื่องหนี้สาธารณะที่ปรับขึ้นเกินกว่า 60% ของจีดีพี แต่เราเห็นว่ามาตรการเยียวยาหากดำเนินการแค่ระยะสั้น โดยทำควบคู่กับการกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมภาคธุรกิจให้เกิดการปรับโครงสร้าง เพื่อสอดรับกับเศรษฐกิจยุคใหม่หลังวิกฤติโควิด เราเชื่อว่า เมื่อวิกฤติผ่านพ้นไป เศรษฐกิจเริ่มกลับมาขยายตัว หนี้สาธารณะต่อจีดีพี ก็จะลดลงไปเอง ดังนั้นชั่วโมงนี้รัฐบาลจำเป็นต้องทุ่มสรรพกำลังประคับประคองเศรษฐกิจและภาคธุรกิจให้รอดก่อน หากจะเก็บงบไว้รองรับโควิดระบาดรอบ 2 เราเห็นว่าเก็บเฉพาะในส่วนของ “งบเยียวยา” ก็น่าจะเพียงพอ!