ความเป็นไปได้ของ 'ผลเลือกตั้งสหรัฐ' ปี 2020 และความหมายต่อเศรษฐกิจ

ความเป็นไปได้ของ 'ผลเลือกตั้งสหรัฐ' ปี 2020 และความหมายต่อเศรษฐกิจ

ทำความเข้าใจทีละสเต็ป กรณีที่เป็นไปได้จากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐช่วงสิ้นปี 2563 นี้ กับนโยบายเศรษฐกิจที่คาดว่าเกิดขึ้น และส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก

เป็นที่รู้กันว่าวันที่ 3 พ.ย.ปีนี้จะเป็นการเลือกตั้งใหญ่ ในสหรัฐและนักลงทุนทั่วโลกต้องเตรียมพร้อมกับความไม่แน่นอนในแบบต่างๆ

เมื่อเวลาเข้าใกล้เรื่อยๆ ผมจึงถือโอกาสสรุปกรณีที่เป็นไปได้และแชร์มุมมองส่วนตัวเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจที่คาดว่าเกิดขึ้นเพื่อที่เราจะได้รู้ทันกับการเลือกตั้งสหรัฐที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนนี้ 

สำหรับใครที่ไม่ใช่คอการเมืองต่างประเทศ ผมเกริ่นก่อนว่าในวันนั้นจะมีการเลือกตั้งทั้งหมด “สามสถาบัน” คือสภาผู้แทนราษฎร (House of Representatives) 435 ตำแหน่ง สองคือวุฒิสมาชิก (Senate) ที่หมดวาระครั้งนี้ 35 ตำแหน่ง และสุดท้ายคือตำแหน่งประธานาธิบดี (The White House)

ซึ่งปัจจุบันมีพรรคเดโมแครต (D) ครองเสียงข้างมากใน House of Representatives ส่วนพรรคริพับลิกัน (R) ครองเสียงข้างมากใน Senate และมีโดนัลด์ ทรัมป์จากริพับลิกัน (R) เป็นประธานาธิบดี ผมเรียกส่วนประกอบแบบนี้ว่า DRR

กรณีแรกดูปัจจุบันก่อน ถ้าผลเป็น DRR เหมือนเดิม การขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะลำบาก สงครามการค้าก็จะดำเนินต่อไป ซึ่งผมมองว่าเป็นกรณีแย่ที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้

โดยกรณีนี้ไม่น่าจะต้องอธิบายกันมากเพราะเห็นกันอยู่แล้วขณะนี้ ปัญหาหลักคือการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจในส่วนของภาษีที่จะติดขัดเหมือนช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

สภาอาจเบนเข็มไปที่การแก้กฎหมายที่เกี่ยวกับการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อเอื้อภาคธุรกิจ ขณะที่ทรัมป์ก็น่าจะเลือกใช้นโยบายต่างประเทศกดดันจีนต่อ

กรณีนี้ผมมองโอกาสเกิดขึ้นราว 20%

ต่อมาก็มีกรณีอย่าง DRD คือแค่เปลี่ยนประธานาธิบดีเป็น “โจ ไบเดน” แต่สภายังเหมือนเดิม หรือกรณี “Red Wave” (RRR) ซึ่งผลลัพธ์แบบนี้มีทั้งบวกและลบกับเศรษฐกิจโลก

เนื่องจากในกรณี DRD มีจุดอ่อนแบบเดียวกับปัจจุบัน คือไม่สามารถผ่านนโยบายใหญ่ในสภาได้ และเมื่อต้องหันไปปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจ นโยบายของฝั่งเดโมแครตดูจะเน้นไปทางการสร้างสมดุลทางสังคมมากกว่ากระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็มีข้อดีที่คงไม่ก่อสงครามการค้ากับนานาประเทศมากเท่าทรัมป์ 

ส่วนในกรณี Red Wave สิ่งที่หวังได้แน่คือ “การลดภาษี” รอบใหม่และความพยายามที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใกล้เคียงกับช่วงปี 2016-17 แต่ด้วยผลลัพธ์เช่นนี้ ทรัมป์จะยิ่งเชื่อว่าชาวอเมริกันต้องการให้สหรัฐทำสงครามการค้าต่อไป จึงจะมีความเสี่ยงมากกว่าตอนนี้ ซึ่งแย่กับเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างไม่ต้องสงสัย

โดยในทางทฤษฎี DRD มีโอกาสเกิดขึ้นได้ราว 30% จากผลโพลล่าสุดที่ทรัมป์ตามอยู่ค่อนข้างมาก ขณะที่ Red wave มีโอกาสเพียง 10% เพราะพึ่งผ่านการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรมาเพียง 2 ปีเท่านั้น

ส่วนกรณีน่าสนใจสำหรับผมคือ DDD หรือที่เรียกกันว่า “Blue Wave” เพราะมองว่าดีกับทั้งสหรัฐและทั่วโลกที่สุด

ถ้าโอกาสต้องรวมกับครบ 100% กรณีนี้ผมก็เหลือไว้ให้ถึง 40% มากที่สุดด้วยเหตุผลว่า ครั้งนี้มีการเลือกตั้ง Senate ในฐานของริพับลิกันมากกว่า (27/35 ตำแหน่งที่ต้องเลือกตั้งใหม่)

Blue Wave จะนำไปสู่ “การขึ้นภาษี” โดยนำเงินที่ได้ไปสมทบโครงการ “Build Back Better” ที่เน้น 1.ให้ซื้อสินค้าที่ผลิตโดยชาวอเมริกัน 2.ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและพลังงานสะอาด 3.สนับสนุนการดูแลสุขภาพตั้งแต่เด็กถือผู้สูงอายุ และ 4.แก้ปัญหาความเท่าเทียมทางเชื้อชาติและขยายที่อยู่อาศัยราคาถูก ซึ่งโดยรวมมีโอกาสที่จะหนุนให้เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวได้ไม่ยาก

ขณะเดียวกันก็เชื่อว่าสงครามการค้าจะกลายเป็นเรื่องเก่าไปทันที และเป็นไปได้มากที่สหรัฐจะกลับไปดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบเน้นพันธมิตร แม้จะไม่ได้ดีกับจีนมากแต่ก็ “ลดความไม่แน่นอน” เชิงนโยบายลงได้อย่างมีนัย

ส่วนสถิติก็ดูจะไม่เป็นใจให้ทรัมป์เลย เพราะมีตั้งแต่ “ผลโพล” ที่โจ ไบเดน นำอยู่มากขนาดที่ถ้าทรัมป์ชนะจะกลายเป็นการลบสถิติพลิกล็อกตลอดกาลของปธน.ทรูแมนย้อนไปถึงปี 1948

ยิ่งมองผ่านฝั่งเศรษฐกิจ ก็ต้องย้อนกลับไปถึงปี 1924 ถึงจะมีฝ่ายบริหารในช่วงถดถอยที่สามารถชนะเลือกตั้งกลับมาได้

นอกจากนี้ในประวัติศาสตร์ก็ไม่เคย มีประธานาธิบดีคนไหนที่สามารถชนะการเลือกตั้งครั้งที่สองทั้งที่ความนิยมต่ำกว่า 50% ได้เลย

ถึงตรงนี้ คนไทยคงทำได้แค่ลุ้นกันต่อว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาแบบไหนและเตรียมรับมือในแต่ละกรณีกันให้ดี เพราะทุกกรณีก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้

หลังจากที่เรารู้จักกรณีที่เกิดขึ้นได้ และความน่าจะเป็นทั้งหมดแล้ว ในเดือนหน้าผมจะมาวิเคราะห์ทิศทางนโยบายการเงินและสินทรัพย์ทางการเงินทั่วโลกในแต่ละกรณีให้ครับ