กมธ.งบฯ 64 หั่นงบแบบไม่คืน 1.6 หมื่นล้านบาท

กมธ.งบฯ 64 หั่นงบแบบไม่คืน 1.6 หมื่นล้านบาท

สภาฯจะพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบฯ64 วาระสอง และวาระสาม 16-17 ก.ย.นี้ พบยอดงบที่ผ่านพิจารณาไม่เต็ม 3.3 ล้านล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าานายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร นัดประชุมสภาผู้แทนราษฎร เป็นพิเศษ วันที่ 16 - 17 กันยายน เวลาา 09.30 น. เพื่อพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ที่มีนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานกมธ. พิจารณาแล้วเสร็จ 

ทั้งนี้มีบทสรุปผลการพิจารณา ที่สำคัญ คือ ส่วนที่ลดตามมติของ กมธ. จำนวน 31,965 ล้านบาท, จัดสรรเพื่อให้ส่วนราชการตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอตามความเหมาะสมและจำเป็น จำนวน 17,419 ล้านบาท, จัดสรรให้หน่วยงานของรัฐสภา, ศาล, องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญและองค์กรอัยการ ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ จำนวน 509 ล้านบาท ทั้งนี้ งบประมาณที่ตั้งไว้ไม่เกิน 3.3 ล้านล้านบาท  กมธ. ได้ปรับให้เหลือจำนวน 3.285 ล้านล้านบาท ซึ่งลดงบประมาณที่เสนอขอไว้ จำนวน 16,037 ล้านบาท

สำหรับรายการเปลี่ยนแปลงงบประมาณ ตามเอกสารที่เสนอต่อสภาฯ ระบุว่า มีรายการปรับลด ยอดรวมทั้งสิ้น 24,789 ล้านบาท อาทิ กระทรวงกลาโหม ปรับลด จำนวน 7,788 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นรายการของโครงการผูกพันข้ามปี, กระทรวงมหาดไทย ปรับลด จำนวน 3,863 ล้านบาท, กระทรวงศึกษาธิการ ปรับลดจำนวน 1,853 ล้านบาท, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ปรับลด จำนวน 1,208 ล้านบาท, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปรับลด จำนวน 1,175 ล้านบาท

ขณะที่รายการเพิ่ม ให้กับ 1.กระทรวงมหาดไทย เพิ่ม 10,656 ล้านบาทให้กับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แบ่งเป็น โครงการเบี้ยผู้สูงอายุ จำนวน 588 ล้านบาท, โครงการเบี้ยผู้ด้อยโอกาส จำนวน 5.1แสนบาท และโครงการเพิ่มศักยภาพท้องถิ่นสู่การกระจายอำนาจ วงเงิน 10,067 ล้านบาท, 2.ศาลยุติธรรม จำนวน 509 ล้านบาท, 3.แผนงานบุคลากรภาครัฐ จำนวน 5,679 ล้านบาท โดยมีรายการสำคัญคือ เป็นค่าตอบแทนของบุคลกรในหน่วยงานสาธารณสุข , 4. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จำนวน 1,083 ล้านบาท โดยมีกมธ. สงวนความเห็นไว้ทั้งสิ้น 36 คน และมีสงส.ส.สงวนคำแปรญัตติทั้งสิ้น 182 คน

ทั้งนี้ กมธ.มีข้อสังเกตแนบท้ายรายงานการพิจารณา โดยมีสาระสำคัญ คือ การจัดสรรงบประมาณ พ.ศ.2564 ไม่เพียงพอในการแก้ปัญหาต่อสถานการณ์โควิด-19 ด้านการแก้ปัญหาและช่วยเหลือประชาชน รวมถึงไม่สามารถเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมเพื่อยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีขึ้น ดังนั้นรัฐบาลควรลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นหรือไม่เร่งด่วน ลดงบประมาณ อบรม สัมมนา โฆษณาประชาสัมพันธ์ การจ้างที่ปรึกษา การเดินทางไปต่างประเทศที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ 

ขณะที่หนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ที่สูงขึ้น เพราะผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19จะก่อหนี้ที่เป็นภาระการคลังของรัฐบาล ดังนั้นจำเป็นต้องปรับโครงสร้างงบประมาณในปีถัดไป โดยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ เน้นเป้าหมายยนำกระบวนการและควบคุมสัดส่วนงบประมาณรายจ่ายประจำ เพื่อให้เป็นไปตามกรอบของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้กระทรวงการคลังควรจัดทำรายงนาแสดงข้อมูลหนี้ค้างจ่ายของหน่วยรับงบประมาณที่ไม่ถูกนับรวมเป็นหนี้สาธารณะ แต่เป็นหนี้ที่เกิดจากนโยบายรัฐบาล

พร้อมเสนอให้รัฐบาลเร่งปฏิรูประบบราชการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและลดงบบุคลากร งบลงทุน หรืองบดำเนินการที่ไม่จำเป็น และนำเงินไปใช้ในด้านการลงทุน ด้านการพัฒนาประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า วันที่ 14 กันยายน คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) วิปฝ่ายค้าน จะหารือเพื่อกำหนดรายละเอียดของการจัดสรรเวลาเพื่อพิจารณารายละเอียด ในวาระสองและวาระสาม ทั้งนี้ต้องทำให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 17 กันยายน ก่อนจะส่งให้วุฒิสภาพิจารณาวันที่ 21 - 22 กันยายนนี้ เพื่อให้การบังคับใช้ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ไม่ล่าช้าจนเกินไป