แก้ รธน. ฝ่ายค้านส่อสะดุด 'พปชร.' ชงสอบลงชื่อซ้ำ

แก้ รธน. ฝ่ายค้านส่อสะดุด 'พปชร.' ชงสอบลงชื่อซ้ำ

ญัตติแก้ รธน. เพื่อไทยส่อสะดุด พปชร.จ่อยื่น “ชวน” สอบ ส.ส. ลงชื่อซ้ำ ด้าน “จุรินทร์” ย้ำ 3 จุดยืน ปชป. ชงวิป 3 ฝ่ายเปิดเวทีสภาถก

ขณะที่เพื่อไทยยกคดีเขาพระวิหารเทียบกรณีจัดซื้อเรือดำน้ำ “ยุทธพงศ์” คาใจสัญญาเชิงพาณิชย์ เล็งถกทีมกฎหมายยื่นศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด

ความเคลื่อนไหวพรรคการเมืองต่อกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ล่าสุดนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า วันนี้(14 ก.ย.) เวลา 10.30 น. ตนจะแถลงรายละเอียดและยื่นหนังสือต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ฐานะประธานรัฐสภา เพื่อให้ตรวจสอบการยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของส.ส. ซึ่งเป็นสมาชิกของพรรคฝ่ายค้าน เนื่องจากอาจมีปัญหาต่อการลงชื่อเพื่อร่วมยื่นญัตติซ้ำซ้อน และทำให้การยื่นญัตติดังกล่าวไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (1)

ทั้งนี้การลงลายมือชื่อไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 หรือ 98 เสียงนั้น ต้องมีส.ส.ที่ลงลายมือชื่อไม่ซ้ำกันในแต่ละญัตติ และรวมถึงญัตติแรกที่ส.ส.พรรคฝ่ายค้านเสนอให้แก้ไขมาตรา 256 และกำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ด้วย.

ด้านนายสมคิด เชื้อคง ส.ส. อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีส.ว. ไม่เห็นด้วยกับการยื่นแก้รัฐธรรมนูญ 4 ญัตติของพรรคฝ่ายและมองว่าจะเป็นการวางแผนโยนบาปให้กับส.ว. ว่า ถ้ามาตรา 256 ผ่านก็จะเดินตามแนวทางคือการตั้ง ส.ส.ร. แต่หากมาตรา 256 ไม่ผ่านก็จะขอยื่นเป็นรายมาตรา ทั้งนี้ไม่ใช่การโยนบาปให้ส.ว. อย่างไรก็ตามหากมาตรา 256 ผ่านก็ต้องใช้เวลาในขณะที่สังคมต้องการแก้ไขโดยด่วน ดังนั้นต้องใช้การแก้ไขรายมาตราเพื่อให้รวดเร็วขึ้นเท่านั้น ขอให้ส.ว. เข้าใจ เพราะท่านอยู่ในอำนาจจะบอกว่าให้ผ่านหรือไม่นั้น จะต้องเข้าใจมิติของสังคมยุคใหม่ ว่าท่านมาเพราะเรื่องอะไร และมาจากไหน

และต้องเข้าใจว่าวันนี้รัฐธรรมนูญฉบับนี้สร้างปัญหาให้ประเทศ เมื่อขอให้มีการแก้ไขต้องช่วยกัน ลำพังส.ส. 500 คน เขาก็ตกลงว่าจะเดินหน้า ดังนั้นจึงขอให้ส.ว. ร่วมมือ และต้องเสียสละ อย่างไรก็ตามในส่วนการเสนอญัตติรายมาตราที่เราทำ ก็เพื่อจะให้รวดเร็วขึ้นในบางเรื่อง จึงย้ำว่าไม่ใช่การโยนบาปอย่างแน่นอน ส่วนการที่ระบุว่า ส.ว.จะโหวตคว่ำทั้ง 4 ญัตตินั้น ต้องมองว่าสังคมคิดเหมือนท่านหรือไม่ เป็นแนวคิดของส.ว. 250 คน หรือเป็นเพียงแนวคิดของส.ว. เพียงส่วนหนึ่ง ทั้งนี้ตนเชื่อว่า ส.ว. มีจิตใจมีความเป็นกลาง ดังนั้นอย่าใช้ชื่อส.ว. 250 คนมาพูด อย่างไรก็ตามเราจะรอฟัง ทั้งนี้เท่าที่มีการพูดคุยพบว่า ส.ว. บางคนเขาก็มีแนวคิดในทางประชาธิปไตย และเข้าใจที่มาของเขาดี

ปชป.ย้ำ3จุดยืน-แนะเปิดเวทีสภาถก

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสำเร็จได้ต้องมี 3 เงื่อนไขประกอบกัน 1.ต้องใช้เวทีสภาแสวงหาความเห็นร่วมกันให้ได้เพราะถ้าขาดเสียงฝ่ายค้าน 20 % หรือขาดเสียงวุฒิ 1 ใน 3 การแก้รัฐธรรมนูญก็สำเร็จตามมาตรา 256 ไม่ได้ ทั้งนี้ตนจึงเสนอว่าให้วิปของพรรคประชาธิปัตย์ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ เร่งไปหารือกับวิปรัฐบาล เพื่อประสานงานกับวิปฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภา เพื่อหาความสอดคล้องต้องกัน

2.การแก้รัฐธรรมนูญจะสำเร็จได้ประชาชนต้องเห็นพ้องด้วย เพราะเขาเป็นเจ้าของประเทศและเมื่อผ่านรัฐสภาแล้วต้องเอาไปทำประชามติและ3.ทุกฝ่ายต้องจริงใจ ต้องตั้งเป้าหมายร่วมกันว่าประเด็นการแก้ไขธรรมนูญ ต้องไม่ใช่ประเด็นทางการเมือง

“ปิยบุตร”ชงแก้รธน.รื้ออำนาจศาล

วันเดียวกันคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนและกองทุน สภาผู้แทนราษฎร จัดกิจกรรม “อนาคตประเทศไทยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ” โดยมีการปาฐกถาในพิเศษในหัวข้อ “อนาคตประเทศไทยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ”

โดยนายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า กล่าวว่า ปัญหาเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญเริ่มเกิดปี 2549 เมื่อมีสิ่งที่เรียกว่าตุลาการภิวัฒน์ เราจะเห็นการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญหลายเรื่องที่ข้องเกี่ยวแดนการเมือง เช่น การยุบพรรคการเมืองหลายพรรคมาก และยุบแต่ละครั้งก็สะท้อนนัยทางการเมือง ส่งผลทางการเมือง ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปลดนายกรัฐมนตรี 2 คน , ล้มการเลือกตั้ง 2 ครั้ง และขวางการแก้รัฐธรรมนูญ 2 ครั้ง ซึ่งคำวินิจฉัยนี้เป็นปัญหาพัวพันวิกฤตการณ์การเมือง

ทั้งนี้ก่อนที่จะมีการรัฐประหารยึดอำนาจนั้น ถ้าจำได้ รัฐสภาพยายามเสนอแก้รัฐธรรมนูญตามอำนาจที่ตนเองมี แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับบอกว่าไม่เป็นตามหลักประชาธิปไตย แต่ที่นี้พอทหารยึดอำนาจ ศาลรัฐธรรมนูญกลับเงียบ และได้อยู่ทำหน้าที่ต่อไป อย่างนี้ก็เลยทำให้เกิดคำถามว่า ตกลงแล้วเป็นศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลรัฐประหารกันแน่ ดังนั้น ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญจึงต้องพูดเรื่องศาลรัฐธรรมนูญด้วย ไม่ใช่ลอยตัวอยู่เหนือทุกองค์กรโดยไม่มีการไปแตะต้อง

พท.เทียบคดีเขาพระวิหาร-เรือดำน้ำ

วันเดียวกันนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียรส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย แถลงถึงการชี้แจงของพล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหมในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำ เป็นจีทูจีเชิงพาณิชย์ว่า ตนเพิ่งเคยได้ยินศัพท์ใหม่ในวันที่ การที่พล.อ.ชัยชาญชี้แจงว่าเป็นสัญญาเชิงพาณิชย์ไม่เข้ากฎหมายระหว่างประเทศ ไม่เข้ามาตรา 178 จึงไม่ต้องขอความเห็นต่อรัฐสภาก่อน เกิดคำถามว่าแล้วคดีจำนำข้าวที่นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ โดนลงโทษ ไม่ถือว่าเป็นสัญญาเชิงพาณิชย์หรือทั้งที่เป็นการที่รัฐบาลขายข้าวให้จีน

กรณีศาลรัฐธรรมนูญตีความมาตรา 178 ในปี 2551 มีกรณีข้อพิพาทเขาพระวิหาร ขณะนั้นมีการตีความหมายถึงความตกลงระหว่างประเภททุกประเภทที่จัดทำขึ้นระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ ที่เป็นลายลักษณ์อักษร และอยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้นถ้าใช้คำว่าทุกประเภทถือว่าต้องให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่เกี่ยวข้องกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ ตนจึงจะนำเรื่องนี้ไปปรึกษาหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเพื่อดำเนินการต่อไป

ส่วนความเคลื่อนไหวก่อนการชุมนุมกลุ่มนักศึกษาในวันที่19ก.ย.นี้ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน ฝั่งโรงเรียนสตรีวิทยากลุ่มเลือกข้างประชาธิปไตย ประมาณ 30 คน จัดกิจกรรมเวทีชาวบ้านพูดคุยปัญหาปากท้องประชาชน และเรียกร้องประชาธิปไตย โดยเปิดให้แนวร่วมสะท้อนความเห็นต่อการบริหารประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีพร้อมทั้งยังเชิญชวนประชาชนที่ไม่เอาเผด็จการ ออกมาร่วมชุมนุมกับนักศึกษา ในวันที่ 19 ก.ย.นี้ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ อีกด้วย