ส่อง 'AI' บนเส้นทาง ‘จริยธรรม’ และ ‘ความไว้ใจ’

ส่อง 'AI' บนเส้นทาง ‘จริยธรรม’ และ ‘ความไว้ใจ’

ธุรกิจได้ประโยชน์จากการใช้นวัตกรรม AI ที่มีจริยธรรม และผู้บริโภคมีความไว้ใจในการใช้เอไอ

แน่นอนว่าสิ่งที่กำหนดว่าเทคโนโลยีจะก่อให้เกิดประโยชน์หรือสร้างผลเสียไม่ใช่ตัวเทคโนโลยีเองแต่เป็นผู้ใช้งานที่กำหนด และโชคไม่ดีนักที่ AI อาจเกิดอคติ (AI Bias) ซึ่งเกิดจากขั้นตอนการพัฒนา AI เนื่องจากเมื่อเราพัฒนา AI อคติที่มาจากจิตใต้สำนึกซึ่งเกิดขึ้นจากประสบการณ์ความชอบไม่ชอบส่วนตัวของเรา จะถูกป้อนเข้าไปใน AIโดยที่เราไม่รู้ตัว และอาจนำไปสู่ความผิดพลาดที่ส่งผลเสียทั้งด้านเวลา ด้านการลงทุนทางการเงิน อีกทั้งยังสร้างความไม่ไว้ใจให้กับลูกค้าและผู้บริโภค

คำถามสำคัญที่ผู้บริโภคมี คือ ทำอย่างไรเพื่อให้แน่ใจว่าการที่ธุรกิจนำ AI มาใช้ จะไม่ส่งผลเสียมากกว่าผลดี การใช้เอไอ ให้เกิดประโยชน์ และถูกจริยธรรมนั้นต้องอาศัยความร่วมมือของทั้งภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนตรวจตราให้การใช้งานเอไอมีความปลอดภัย และสร้างประโยชน์เพื่อคนทุกคนในสังคมอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพื่อเฉพาะกลุ่ม ต้องเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการพัฒนา ติดตั้ง และนำมาประยุกต์ใช้ และที่สำคัญ ต้องคำนึงถึง จริยธรรม เป็นสำคัญ

ธรรมาภิบาลทางธุรกิจในการใช้ AI

การประชุม World Economic Forum ได้ชี้ประเด็นข้อบกพร่องในการใช้งาน AI ซึ่งเกี่ยวข้องโดยมากับความไม่เท่าเทียม ไม่ถูกหลักมนุษยธรรม และความอคติ ส่งผลให้บริษัทผู้นำทางธุรกิจหลายบริษัท หันมาให้ความสำคัญกับจริยธรรมการพัฒนาเอไอ มีการสร้างธรรมาภิบาล จัดตั้งหน่วยงานที่ปรึกษา เพื่อกำหนดมาตรฐานการพัฒนา AI ให้ถูกต้องด้วยจริยธรรม บริษัทอย่าง KPMG ทำรายงานในชื่อ AI Ethics ซึ่งเป็น 5 ข้อปฏิบัติเกี่ยวกับ เอไอ ที่บริษัทต้องปฏิบัติตาม

การสร้างหลักปฏิบัติต้องเป็นหน้าที่ผู้นำบริษัท ผู้พัฒนารับผิดชอบ AI ทำหน้าที่เรียนรู้ไปด้วยกัน เพื่อการนำ AI มาใช้อย่างถูกจริยธรรมในแต่ละส่วนของธุรกิจ เพื่อให้แน่ใจว่า หลักปฏิบัติจะถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ธุรกิจควรเปิดโอกาสให้บุคคลทั้งใน และนอกองค์กรมีส่วนร่วมไม่ว่าจะเป็นพนักงานภายในองค์กร นักวิชาการ หน่วยงานรัฐ และผู้บริโภค

การสร้างอีโคซิสเต็มที่เต็มไปด้วยความเชื่อมั่นและเชื่อใจ กล่าวคือ ธุรกิจได้ประโยชน์จากการใช้งานนวัตกรรม  AI ที่มีจริยธรรม และผู้บริโภคมีความไว้ใจในการใช้งาน AI ของธุรกิจนั้นสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการสร้างและพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล (digital economy) ธุรกิจต้องสร้างความเชื่อใจให้แก่ผู้บริโภคในการใช้เทคโนโลยี และสิ่งเดียวที่จะสร้างความเชื่อใจนั้นได้คือการใช้เทคโนโลยีอย่างมี “จริยธรรม”