แก้เกม’วัยฮอร์โมน’พยศ ผู้กุมขุมทรัพย์ดิจิทัล..!

แก้เกม’วัยฮอร์โมน’พยศ ผู้กุมขุมทรัพย์ดิจิทัล..!

เมื่อวัยฮอร์โมน ออกอาละวาด บนแพลตฟอร์มออนไลน์ โซเชียลมิเดีย หรือแม้แต่บนถนน กบฎหักล้างการตลาด ความศรัทธาคนยุคก่อน กลายเป็นทั้ง“โอกาส-ความท้าทาย” บนความต่างสุดขั้ว.!! ถึงเวลา..แบรนด์ และ ผู้กุมนโยบาย ปรับมายด์เซ็ท“ปราบพยศ” Customize โดนใจวัยว้าวุ่น

การมาของดิจิทัลพลิกวิถีชีวิตไปสู่โลกใบใหม่ เกิดผู้บริโภคกลุ่มใหม่กุมเศรษฐกิจ คนเจนวาย (Generation Y) เจนแซด (Generation Z) ผู้เติบโตมากับโลกดิจิทัล รอยต่อเทคโนโลยีทำให้เกิดช่องว่างทางความคิดคนต่างเจน วัยรุ่นยุคอนาล็อก ฟังเพลงเทปคลาสเซ็ท ส่วนยุคนี้หาฟังเพลงบนแพลตฟอร์มดิจิทัล การเสพสื่อต่างกัน รสนิยมการบริโภค ความคิด ทัศนคติ ความเชื่อ ค่านิยมเจนรุ่นก่อนและเจนรุ่นใหม่จึงต่างกันสุดขั้วแล้วจะอยู่ร่วมกันอย่างไรให้เข้าใจ !

สภาพแวดล้อมการเติบโตที่แตกต่างกัน เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างเจเนเรชั่น ระหว่าง“คนรุ่นใหม่ “ และ “คนรุ่นก่อน” โดยนิยาม คนรุ่นใหม่ มี 2 เจเนเรชั่น วัยฮอร์โมน ช่วงชีวิตแห่งการเจริญเติบโตก่อนก้าวไปสู่ผู้ใหญ่เต็มตัว คือ เจนวาย หรือ วัยมิลเลนเลเนียล (Millennial) อายุระหว่าง 23 -38 ปี วัยรุ่นถึงวัยเรียน หรือ เจนแซด อายุระหว่าง 12-24 ปี เริ่มก้าวเข้ามามีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและความคิด เมื่อเทียบกับ คนรุ่นก่อน” คือเจเนเรชั่น เอ็กซ์ หรือ เจนเอ็กซ์ อายุระหว่าง 44-54 ปี และ เบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) อายุ 55-73 ปี

คนรุ่นใหม่เติบโตมาพร้อมกับการใช้เทคโนโลยีทำให้พวกเขากล้าแตกต่าง แสดงออกทางความคิด มองตัวเองเป็นตัวแทนของโลกแห่งอนาคต จึงเรียกร้องต่อจากผู้ใหญ่ให้เปลี่ยนแปลงเพื่อพวกเขา

กระแสคนรุ่นใหม่ออกมาเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม เกิดขึ้นทั่วโลก มีผู้นำเยาวชนก้าวมามีบทบาทสร้างการเปลี่ยนแปลงระดับโลก อาทิ เกรต้า ธันเบิร์ก เด็กมัธยม ผู้รณรงค์ลดโลกร้อน, มาลาลา ยูซาฟไซ อายุ 11 ปี เรียกร้องโอกาสการศึกษาให้กับเด็กท่ามกลางสงคราม ขึ้นปกไทม์ปี 2014, เอ็มมา กอนซาเลซ เยาวชนอเมริกันเรียกร้องควบคุมอาวุธปืน, เอมิกา จอร์จ อายุ 17 ปี ผู้นำกดดันรัฐบาลจัดหาผ้าอนามัยแจกฟรีให้กับเด็กผู้หญิงในสถานศึกษาอังกฤษ เช่นเดียวฺกับในไทย มีประชาชนปลดแอก ตัวแทนของคนรุ่นใหม่ เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ใช้สื่อโซเชียล ส่งต่อภาพทำกิจกรรมยืนชูสามนิ้วจนเกิดกระแส

ไม่เพียงเท่านี้ อิทธิพลของคนรุ่นใหม่ ยังกุมพลังทางเศรษฐกิจที่แบรนด์ไม่อาจมองข้าม เพราะพวกเขาเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคมยุคดิจิทัล ซึ่งแบรนด์แห่งยุคดิจิทัลต้องเข้าถึงเพื่อเปิดน่านน้ำปูฐานกำลังซื้อแห่งตลาดอนาคต

**วัยฮอร์โมนกุมกงล้อ

เศรษฐกิจดิจิทัล

ผลวิจัยจากศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เปิดเผยถึงผลสำรวจพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมักจะนำหน้าเทรนด์ไทย พบว่า ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ สัดส่วน 57% ยินดีจ่ายเงินซื้อสินค้าแพงหากโดนใจและเกี่ยวข้องกับตัวเอง ยิ่งเป็นกลุ่มวัยเรียนจนถึงวัยเริ่มต้นทำงาน อายุ 18-29 ปี ที่มีรายได้สูง เพราะอยู่ในวัยเรียนไม่ต้องหาเงิน ไม่รู้สึกได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจมากนัก นี่คือโอกาสทางการตลาดของแบรนด์ ในการผลิตสินค้าและบริการให้โดนใจ 

เจ้าของแบรนด์ จึงต้องเรียนรู้พฤติกรรม ทัศนคติ ของกลุ่มคนเจนวาย และเจนแซด โดยผลวิจัยพบว่า เจนวาย ชอบทำและสนใจสิ่งที่ไม่อยู่ในกระแส หรือ JOMO (Joy of Missing Out) ใช้เวลาหมดไปกับการเสพความบันเทิงบนโลกอินเทอร์เน็ต มักร่วมกิจกรรมเสริมสุขภาวะที่ดีต่อร่างกายและจิตใจ (Wellness) 

เลือกจะลงทุนกู้ยืมหรือซื้ออสังหาริมทรัพย์เร็วกว่าเจนเบบี้บูมเมอร์ ยินดีจ่ายเงินเพื่อซื้อประสบการณ์แปลกใหม่ ให้ความรู้สึกดีแม้จะมีราคาสูง ยอมจ่ายเงินให้กับเดลิเวอรี รายงานจาก Deloitte ยังระบุว่า เจนวายชาวอเมริกัน 60% ตระหนักถึงปัญหาโลกร้อน และสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง จึงเลือกบริโภคสินค้าที่มีส่วนรักษ์โลก

วัยรุ่นถึงวัยเรียน หรือ เจนแซด มีความใจกว้าง เปิดรับสิ่งแปลกใหม่ ค่านิยมใหม่ๆ ที่ฉีกฎเดิมคนยุคก่อน วางแผนการใช้ชีวิต เก็บเงินซื้ออสังหาฯเพื่อลงทุนระยะยาว ใช้ประสบการณ์รอบตัวสร้างการเรียนรู้ ตอบโจทย์อาชีพในอนาคต ใช้ชีวิตอยู่บนความท้าทายผ่านสถานะบนโซเชียลมิเดีย 

รายงานจาก Common Sense Media ระบุว่า กลุ่มคนวัยนี้สัดส่วน60%ใช้ชีวิตอยู่บนโลกออนไลน์เฉลี่ยยาวนานถึง 9 ชั่วโมงต่อวัน แต่ไม่ถนัดแสดงออกบนโลกแห่งความจริง ชอบท่องเที่ยวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในสหรัฐ เจนแซดสัดส่วน 1 ใน 3 ของจำนวนเจนทั้งหมดที่ลงทุนครองตลาดที่พักอาศัย ไม่ยึดติดกับผู้ทรงอิทธิพลทางความคิด (Influencer) มักตามกลุ่มในวัฒนธรรมย่อย (Fragmentation) สนใจกลุ่มที่ชอบสิ่งเดียวกัน ช่วยกันสร้างแพลตฟอร์ม ชอบผลิตคอนเทนท์สร้างประสบการณ์ล้ำค่าบอกต่อในโลกออนไลน์ เรียกว่า Digital Normad

ถอดหัวใจวัยฮอร์โมน

แก้โจทย์ผ่ากลยุทธ์ดิจิทัล

รองศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองฐานคนรุ่นใหม่ว่า จะเข้ามามีอิทธิพลทางการตลาดในยุคดิจิทัล เพราะเป็นวัยที่เติบโตมาพร้อมกับการใช้ชีวิตผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นทั้งผู้เสพสื่อและใช้สื่อโซเชียลเป็นกิจกรรมประจำวัน ทำธุรกรรมออนไลน์

159998002773

“พฤติกรรมกลุ่มวัยรุ่น หรือคนรุ่นใหม่ โตมากับสังคมดิจิทัล ใช้ชีวิตผ่านมือถือได้ทุกอย่าง ทั้งแสดงออกทางความคิด ระบายอารมณ์ หาเพื่อนที่ชอบสิ่งเดียวกัน ต่างจากวัยรุ่นยุคก่อนที่เป็นคนรุ่นเก่ายังไม่คุ้นชิน”

โดยในกลุ่มวัยรุ่นชอบรวมตัวสร้างสังคมกลุ่มย่อย (Fragmentation) บนเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม, และติ๊กต็อก มุ่งเน้นพูดคุย รับสื่อรวมกลุ่มคนกับผู้ที่มีความสนใจเรื่องราวหรือสิ่งเดียวกัน หรือ Community Digital Marketing ซึ่งช่องทางเหล่านี้ มีอิทธิพลทางความคิด เลือกสมัครเป็นสมาชิกตามความสนใจ คนในกลุ่มเป็นทั้งผู้ซื้อ ผู้ขาย

 ในอดีตวัยรุ่นยุค 90 หรือก่อนมีดิจิทัล บริโภคสื่อผ่านแพลตฟอร์มออฟไลน์ ทีวี วิทยุ  "ผู้มีอิทธิพลทางความคิด" ของกลุ่มวัยรุ่นจากสื่อยุคเดิม คือ ศิลปิน นักแสดง ดารา แต่ต้นแบบของวัยรุ่น แต่ในยุคนี้ ต้นแบบความคิด มีพลังในการสร้างกระแสเกิดจากเพื่อนใกล้ตัวบนโลกออนไลน์ บีบบังคับให้ทำตามกัน เพราะเด็กยุคนี้มีความคิดในใจ (Insight) กลัวตกเทรนด์ (Fear of Missing Out) เห็นเพื่อนทำต้องทำตาม

ยุคดิจิทัลมองมุมกลับไม่วิ่งตามศิลปินดารา แต่ทำตามกลุ่มโซเชียลมิเดีย หรือกลุ่มสังคมที่สร้างขึ้นมา ทำให้เพื่อนคนใกล้ตัวผลิตคอนเทนท์เป็นกระแส ใครทำอะไรก็ทำตาม ไม่งั้นจะรู้สึกตัวเองไร้ตัวตน”

คนรุ่นใหม่เติบโตมากับดิจิทัล ใช้สื่อและผลิตเนื้อหา(Content)เก่ง แตกต่างจากคนยุคก่อนแค่แชร์ผ่านไลน์ เด็กวัยรุ่น จึงกลายเป็นผู้ผลิตContent ขับเคลื่อนการตลาดได้เอง(Consumer Generated Media-CGM) และเป็นสื่อช่วยเพิ่มฐานผู้ใช้ให้กับแบรนด์ เช่น ติ๊กต็อก คอนเทนท์ที่ไม่มีประโยชน์ไร้สาระ แต่ทำเงินได้อย่างรวดเร็ว แชร์ต่อได้ ภายใน 4 ปี (ก่อตั้งปี 2016ในเมืองจีน ) มีผู้ใช้งาน 800 ล้านคนทั่วโลก มียอดดาวน์โหลดมากกว่า 1 พันล้านครั้ง เหตุผลสำคัญคือ โดนใจวัยรุ่น” แพลตฟอร์มนี้ ตอบโจทย์ตรงที่มีพื้นที่ให้คนแสดงความสามารถอวดเพื่อนและให้เพื่อนทำตาม ทำให้คนรู้สึกร่วม ภูมิใจ ตลก สนุกสนาน

นี่คือสิ่งหลักคิดของผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ และนักการตลาดต้องเรียนรู้ การพัฒนาสินค้าและการบริการให้ตอบสนองคนยุคดิจิทัล ไม่ใช่เพียงแค่คิดจากเรื่องประโยชน์ใช้สอย (Function) นวัตกรรม เร็ว สะดวก และง่าย ไม่เพียงพอ แต่ต้องคิดถึงการตอบสนองเชิงอารมณ์ด้วย

“ปัญหาของผู้คิดค้นสินค้านวัตกรรมไทยคือ ไม่ตอบสนองอารมณ์ จึงไม่เท่าทันแอพที่ไร้สาระ แต่ตอบสนองเชิงอารมณ์อย่างแพลตฟอร์มยูทูป ติ๊กต็อก เฟซบุ๊ค ครองใจวัยรุ่นได้ ”

พฤติกรรมการใช้สื่อดิิจิทัลของคนรุ่นใหม่ เป็นพื้นที่แสดงความคิดและระบายอารมณ์ได้ จึงตอบโจทย์ 3F คือ ให้อิสระ (Freedom) ความสนุกสนาน(Fun) และ หาเพื่อน (Friends) 

"มีคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนมาคุยกับเราได้อย่างเข้าใจ แตกต่างจากโลกความจริง ที่มันเฮิร์ต สอบตก เรียนหนัก แต่หากเบี่ยงหาโซเชียล ช่วยลืมความเจ็บปวดจากโลกความจริง หรือรูปจริงไม่สวย สามารถแต่งแอพให้สวยได้” แอพโดนใจ เป็นแพลตฟอร์มนั่งในใจได้ เพราะพวกเขาพึ่งพาโลกออนไลน์ เป็นหลัก

เมื่อคนรุ่นใหม่ที่เป็นอนาคตทางการตลาดกำลังเติบโตไปสู่โลกดิจิทัล ที่จะมีอิทธิพลกับทิศทางเศรษฐกิจและการตลาด แบรนด์เก่าแก่ ที่มีอายุยาวนาน จึงต้องปรับตัวเข้าหาพวกเขา เข้าไปเกี่ยวข้อง สร้างความสัมพันธ์ (Relevance) กับผู้บริโภครุ่นใหม่ ด้วยการรีแบรนด์ ทำให้มีชีวิตที่สดใส (Revitalize) 

แบรนด์ที่อยู่มานานต้องไม่ยอมแก่ ทำให้แบรนด์มีความสดใส สอดคล้องกับวิถีคนรุ่นใหม่ เช่น การแตกสินค้าใหม่ให้กับกลุ่มวัยรุ่น หรือหาพรีเซนเตอร์เป็นตัวแทนแบรนด์ของคนรุ่นใหม่”

กุม2เจน”ปูฐานกำลังซื้ออนาคต 

สรินพร จิวานันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นไวโร (ไทยแลนด์) จำกัด ในเครือบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) มองตลาดวัยรุ่น และคนรุ่นใหม่ที่หมายถึงเจนวาย สัดส่วนประชากร 29 % กับเจนแซด สัดส่วนประชากร 28 % รวมทั้ง 2 กลุ่มถือเป็นผู้บริโภคสัดส่วนขนาดใหญ่มากกว่าอีก 2 เจเนเรชั่น 

159998009567

เจนเอ็กซ์ มีสัดส่วน 22% และเบบี้บูมเมอร์ สัดส่วน 18% กลุ่มคนรุ่นใหม่จึงพลังในการบริโภค เพราะขนาดใหญ่ และกล้าตัดสินใจซื้อหากสร้างประสบการณ์ ถือเป็นฐานกำลังซื้อผู้บริโภคสำหรับนักการตลาดแห่งอนาคต เมื่อสินค้าเก่าๆถึงจุดอิ่มตัว จึงต้องหาสินค้าใหม่เข้าหาผู้บริโภคกลุ่มใหม่ ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ ปรับตัวได้รวดเร็ว คุ้นชินกับดิจิทัล กล้าใช้เงิน กล้าลองซื้อ ลองหาประสบการณ์แปลกใหม่ และสินค้าใหม่

เพราะภาคธุรกิจกำลังเข้าสู่ยุคทรานส์ฟอร์มไปดิจิทัลอย่างแท้จริง ผู้มีอิทธิพลในโลกออนไลน์ ในขณะนี้คือเจนวายและเจนแซด จึงเป็นกลุ่มที่มีโอกาสลูกค้าในอนาคต เช่น บริษัทกำลังผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ต้องเปิดเซ็คเม้นท์ใหม่ที่ยังไม่มีรถมากกว่าจะขายตลาดเดิม ที่เริ่มถึงจุดอิ่มตัว เพราะส่วนใหญ่มีรถใช้

สินค้าที่ขายตลาดเดิมของกลุ่มเดิมถึงทางตันเติบโตต่ำ ก็ต้องหาตลาดใหม่เป้าหมายคนกลุ่มใหม่มีทัศนคติเกิดมาต้องใช้เงิน กล้าเสี่ยง ไม่ต้องเซฟเงิน และเข้าถึงง่าย ใช้ชีวิตบนออนไลน์ ต้องการความสะดวกสบาย จึงสั่งสินค้าเดลิเวอรี่ การบริโภคสูงกว่าคนรุ่นก่อนที่กลัวความไม่มั่นคงเป็นหลัก”

สิ่งที่คนกลุ่มนี้คิดแตกต่างจากคนยุคก่อน เติบโตมามีกรอบความคิด ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง (Self Center) มักเรียกร้องจากแบรนด์มากกว่าปกติ ต้องการความโปร่งใส ความเท่าเทียม บางครั้งขาดกาลเทศะ จากสิ่งที่คนเจนเก่ายึดถือไว้ มักจะแสดงออกทางโลกโซเชียล โดยไม่สนใจความรู้สึกคนอื่น เลือกคบเพื่อน เลือกกลุ่มโซเชียล เลือกเสพเนื้อหา ตามความสนใจส่วนตัว เช่น กลุ่มซีรีส์เกาหลี สินค้าออแกนิก กลุ่มรักษ์โลก

**Successful Brand 

โดนใจวัยว้าวุ่น

กรณีศึกษาของแบรนด์เก่าแก่ที่ปรับตัวมีความเป็นวัยรุ่นตลอดเวลา คือ ไนกี้ มีอายุถึง 56 ปี (ก่อตั้งปี 2507) แต่กลายเป็นแบรน์ที่มีชีวิตชีวา เกี่ยวข้องกับคนทุกยุค อยู่ในใจ ของคนรุ่นใหม่ได้ กับสโลแกนที่ความกบฏในตัว คำว่า “ Just Do It” ช่างโดนใจวัยรุ่นที่ชอบฉีกกฎ เพราะไนกี้ กล้าท้าทาย สร้างสรรค์คอนเทนท์ใหม่ ช่องทางใหม่ๆ เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตคนทุกยุค ล่าสุด ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่น Nike Run Club ชวนคนออกมาวิ่ง มีการบันทึกข้อมูลการวิ่ง มีคำแนะนำ รองเท้าที่เหมาะกับสรีระ น้ำหนัก มีกรอบความคิดที่ไม่ได้ขายสินค้า แต่วางตัวเองเป็นที่ปรึกษาด้านการออกกำลังกาย ทำให้คนมีสุขภาพดี ไม่ต่างจากหมอ เชื่อถือการรักษา 

ต้องขายของแบบไม่ขายของและยัดเยียดโฆษณา คนรุ่นใหม่จะรู้ทัน ไนกี้ จึงพัฒนาแอพชวนคนมาวิ่ง เก็บข้อมูล ไม่ได้หวังขายของแต่เป็นคอนซัล ”

ไนกี้ยังพัฒนาคอมมิวนิตี้มากมายเพื่อตอบโจทย์ความต้องการหลากหลายกลุ่มย่อย เช่น กลุ่มดำน้ำไปเก็บขยะรักษ์โลก, กลุ่มนักกีฬา, กลุ่มคนเล่นบาสเก็ตบอล ส่งผลทำให้ไนกี้เป็นแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จ (Successful Brand)

สำหรับแบรนด์ไทย กำลังเริ่มต้นรีแบรนด์ตัวเอง แม้จะไม่ประสบความสำเร็จเท่าไนกี้ แต่ก็เริ่มต้นพลิกโฉมภาพลักษณ์ให้มีความทันสมัย คนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น อย่างเช่น ธนาคารออมสิน แบรนด์ที่มีอายุมากกว่า 100 ปี มีการปรับการบริการใหม่ 

ขณะที่ธนาคารอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน อย่าง กสิกรไทย และ ไทยพาณิชย์ หรือ เอสซีบี พัฒนาธุรกิจด้านดิจิทัล เพื่อเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันคนในยุคนี้ วางหมุดหมายครองใจลูกค้าในยุคดิจิทัล

บางครั้งสินค้าที่มีไม่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ และเทรนด์ใหม่ ก็จำเป็นต้องพัฒนาสินค้าใหม่ เช่น โคคาโคลา น้ำดำอัดแก๊ส ไม่ส่งเสริมเทรนด์สุขภาพ ต่อให้ทำแบรนด์ดีคนก็ไม่ซื้อจึงต้องผลิตสินค้าใหม่ให้สอดคล้องกับเทรนด์

ผ่าแผนกุมหัวใจKOLวัยฮอร์โมน

แก้เกมเยาวชนปลดแอก

เปิดใจCustomizeนโยบาย

รองศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็น กรณีคนรุ่นใหม่ออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ในนาม “ประชาชนปลดแอก” เกิดจากอารมณ์ความโกรธ ที่ไม่สมปรารถนาบางอย่าง เกิดความไม่พอใจ เมื่อไม่ได้รับการตอบสนอง ต้องการความเท่าเทียม และการให้คุณค่า ให้เกียรติ (Esteem) ที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ รู้สึกได้รับสิทธิ์ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ทัศนคติความเชื่อ และค่านิยมแตกต่างกันกับผู้ใหญ่ เพราะประสบการณ์การรับข้อมูลผ่านสื่อนั้นแตกต่างกัน ช่องทางหลักเสพสื่อไม่เหมือนกัน สิ่งที่คนศรัทธาในยุคก่อน จึงไม่ส่งผลกับคนยุคใหม่

“โลกโซเชียลมิเดีย ทำให้ภาพความเหลื่อมล้ำทางสังคมเพิ่มขี้น เดิมคนรวยกับคนจนมีบ้านติดกัน ก็ไม่เห็นวิถีชีวิตกัน แต่บนโลกโซเชียลเกิดการโพสต์อวดกัน เช่น การไปเที่ยวต่างประเทศ เพื่อนเห็นโพสต์ก็รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ เปรียบเทียบ ยังมีช่องว่างระหว่าง ผู้ใหญ่และคนรุ่นใหม่ การเรียนรู้และประสบการณ์ไม่เท่ากัน ความคิดจึงต่างกันสุดขั้ว ทั้งศรัทธา ความชอบต่างกัน”

สิ่งแรกที่จะต้องบริหารจัดการเชื่อมต่อกับคนรุ่นใหม่ คือการบริหารจัดการความโกรธ (Anger Management) ต้องออกแบบนโยบายให้ตอบสนองความต้องการของคนแต่ละเจน ไม่มีนโยบายเดียวเพื่อคนทุกกลุ่ม (One Size Fits All)

“สิ่งที่ผู้ใหญ่คนสูงวัยต้องการ อาจจะไม่ตอบสนองคนวัยรุ่น จึงต้องปรับนโยบายให้เข้าคนแต่ละยุค รัฐบาลต้องทำตัวให้เข้าถึงง่าย ไม่มีระยะห่างระหว่างวัยรุ่น ในฐานะผู้ใหญ่ มีประสบการณ์มากกว่าจึงต้องทำความเข้าใจและเข้าหากลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ประสบการณ์น้อยกว่า”

สิ่งที่สังคมไทยต้องเรียนรู้จากเหตุการณ์ประท้วงในวันนี้คือ ปรับมายด์เซ็ทมองความขัดแย้งเป็นสิ่งที่ธรรมดาของสังคมโลกที่มีทุกยุคสมัยเกิดขึ้นตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ที่ต้องปรับทัศนคติเคารพความแตกต่าง เปิดใจ รับฟังความคิดเห็นของคนอื่น

“สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ คือ คำว่าเสรีภาพจะต้องมีขอบเขตในพื้นที่ส่วนตัว แต่ตราบใดที่ออกมาสู่สาธารณะ ใช้ชีวิตในสังคม ไม่มีคำว่าเสรีภาพทุกตารางเมตร แต่สิ่งที่ต้องช่วยกันรักษาคือสันติภาพ ทำให้ความขัดแย้งอยู่ร่วมกันได้ในสังคมมีความสงบสุข ทำความเข้าใจกัน” 

ขณะที่ สรินพร จิวานันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นไวโร (ไทยแลนด์) จำกัด มองว่า นักศึกษาและนักเรียนออกมาเรียกร้อง ปลุกกระแสบนโลกออนไลน์ สิ่งนี้มาจาก กรอบความคิดตัวเองเป็นศูนย์กลาง มีความเชื่อเพื่อนในกลุ่ม และเลือกเสพข้อมูลจากสิ่งที่เชื่อ สามารถปลุกกระแสได้ง่ายผ่านโลกออนไลน์ ชอบบ่น เรียกร้องสิทธิ์ โดยขาดการมองดูบริบทรอบด้าน เพราะลำดับชั้นในคนรุ่นใหม่น้อย หากเทียบกับคนรุ่นก่อน

สิ่งที่รัฐบาลต้องทำและเรียนรู้จากปรากฎการณ์คนรุ่นใหม่คือ ทำตัวให้เหมือนแบรนด์ เข้าถึงง่าย มีการออกแบบนโยบาย ให้เหมือนกันกับการออกแบบสินค้า มองประชาชนเป็นลูกค้า ทำวิจัย อ่านใจ และเข้าใจความรู้สึก และความต้องการเชิงลึก ของคนในแต่ละเจเนเรชั่น หาช่องทางการเข้าถึงคนรุ่นใหม่