ปัญหาคนกับ'ช้าง' การจัดการป่าที่ผิดพลาด

ปัญหาคนกับ'ช้าง' การจัดการป่าที่ผิดพลาด

การปล่อยให้ชาวบ้านผู้เดือดร้อนกับ'ช้างป่า'แก้ปัญหากันเอง ซึ่งเกินความสามารถของพวกเขา เรื่องเล็กก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

ป่าเขตร้อนแถบแอฟรกาและเอเชียไม่มีสัตว์ใดๆ ที่สง่างามโดดเด่นน่าเกรงขามเหนือกว่าช้างไปได้ ความเป็นพญาแห่งป่าใหญ่ ไม่ใช่เพียงร่างกายที่ใหญ่โต แต่มีสมองที่ฉลาดระดับลิง วาฬและโลมา ซึ่งจัดเป็นกลุ่มฉลาดกว่าสัตว์ทั้งปวง และมีชีวิตยืนยาวถึง 70 ปี

และด้วยความที่ช้างอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มครอบครัวหลายๆ กลุ่มรวมกันเป็นสังคม จึงมีพลังปกป้องดูแลช่วยเหลือกันเองได้ดี รักษาความเป็นพญาแห่งป่าใหญ่มาได้ยาวนาน

สังคมของกลุ่มครอบครัวช้างป่า มีช้างพังซึ่งเป็นช้างเพศเมียที่อายุมากสุดเป็นหัวหน้า มีลูกช้างเป็นศูนย์รวมความสนใจ ส่วนช้างพลายตัว ผู้ซึ่งมีขนาดใหญ่และเป็นที่ยำเกรงของสัตว์น้อยใหญ่ เมื่อโตก็จะออกจากฝูง และเมื่อโตเต็มวัยก็จะหาคู่จากช้างในกลุ่มครอบครัว ช่วงนี้ช้างป่าจะตกมันมีภาวะก้าวร้าวสูงที่ช่วยให้อยากต่อสู้เอาชนะหมู่ช้างด้วยกัน จนเป็นใหญ่และสืบพันธุ์ได้สำเร็จ

พญาแห่งป่าใหญ่

ช้างป่าเป็นสัตว์กินพืชหลากหลายชนิดและกินจุ ใช้พื้นที่หากินกว้างใหญ่ จึงช่วยกระจายพันธุ์เมล็ดพันธุ์พืชได้ดี พื้นที่กลุ่มครอบครัวช้างอาศัยอยู่ มักเป็นป่าใหญ่ จึงเอื้อให้เป็นที่อาศัยและหลบภัยของสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ ไปด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่า มีช้างป่าที่ไหนก็มีป่ามีสัตว์ป่านานาชนิดที่นั้น การอนุรักษ์ช้างป่าให้คงอยู่ได้ ก็เท่ากับการอนุรักษ์ป่าผืนใหญ่ ได้ทั้งช้างได้ทั้งป่า รักษาพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ในป่าให้อยู่ได้

แต่เมื่อชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้น พื้นที่ป่าก็ลดลงช้างป่าก็ถูกรบกวน ยิ่งสร้างค่านิยมการตลาดให้งาช้างและชิ้นส่วนของช้างมีราคา ช้างป่าก็ยิ่งถูกล่าเอางา เอาเนื้อหนังมากขึ้น

แต่ที่ทำให้ภาพลักษณ์ประเทศไทยเสียหายมากคือ การใช้ประเทศไทยเป็นช่องทางค้าขายงาช้างผิดกฎหมายผ่านไปยังตลาดใหญ่สุดของโลกในประเทศจีน

160006844228

ช้างป่าทั้งในแอฟริกาและเอเชีย จึงถูกล่าจนอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ ช้างป่าแถบเอเชีย ยังเหลือเพียง 13 ประเทศ พบมากสุดในประเทศอินเดียและศรีลังกา ซึ่งมีช้างป่ามากกว่า 5,000 ตัว หลายประเทศมีต่ำกว่า 1,000 ตัว ในเวียดนามอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ เพราะพื้นที่ป่าลดลง ส่วนไทยมีราว 3,ooo ตัวพอๆ กับมาเลเซีย และไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องประชากรลด แต่มีปัญหาขาดถิ่นที่อยู่ที่ปลอดภัยและแหล่งอาหารที่พอเพียง

จริงแล้วช้างป่ากับคนไทยอยู่เกื้อกูลกันมาแต่โบราณ ชุมชนชนบทไทยในอดีตอยู่กับป่า หัวไร่ปลายนาก็ยังคงความเป็นป่าไว้ คนไทยหลายกลุ่มวัฒนธรรม ทั้งแถบเหนือ ตะวันตกและตะวันออก อาทิ ส่วย เขมร กะเหรี่ยง ฯลฯ และกลุ่มวัฒนธรรมทางใต้จะดักช้างป่ามาเลี้ยงเป็นช้างบ้าน ฝึกใช้งานแต่ไม่นิยมล่าเอางาหรือเป็นอาหารหรือเป็นสัตว์เลี้ยง ชาวบ้านอยู่ในหมู่บ้าน แต่ก็หากินในป่าบ้าง ปล่อยวัวควายเข้าป่าหากินเองบ้าง พื้นที่ชุมชนจึงอยู่นอกป่าและป่าชายขอบ ส่วนช้างป่ามักจะอยู่ในป่าลึก

ปัญหาคนกับช้างป่า

ปัญหาคนกับช้างป่าในประเทศไทยเกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งรัฐให้สัมปทานทำป่าไม้ทั่วประเทศ ระบบสัมปทานป่าไม้เจาะป่าจนพรุน ตัดเส้นทางลำลองเชื่อมโยงกันดุจข่ายใยแมงมุมไปสู่แหล่งไม้ พื้นที่ตัดโค่นไม้และเส้นทางลำลองขนลากไม้ นอกจากจะทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหาร ยังชักนำให้เกิดการคุกคาม ทั้งการล่าเอางาเอาเนื้อหนัง การจับลูกช้างมาขาย

และยังทำให้เกิดการสูญเสียป่าถาวรด้วยการตั้งถิ่นฐานใหม่ในเขตป่า เริ่มจากสองข้างทางลำลองและขยายที่ทำกินเข้าไปในเขตป่าอย่างรวดเร็ว จนกระทบแหล่งที่อยู่ที่หากินของช้างป่า

แต่ที่มากไปกว่านั้นคือ การทำให้ป่าแตกเป็นเสี่ยงๆ ด้วยการตัดถนนยุทธศาสตร์ขนาดใหญ่ ผ่าป่าใหญ่ เพื่อทำลายพื้นที่หลบซ่อนของมวลชนพรรคคอมมิวนิสต์ ถนนใหญ่ได้ตัดขวางเส้นทางเดินหรือด่านช้างมากมาย เกิดการทับซ้อนระหว่างด่านช้างกับเส้นทางสัญจรของคน ยิ่งทำให้ช้างต้องใช้พื้นที่ร่วมกับคนมากจนเกิดการรบกวนกัน

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดมากอยู่ที่ป่าตะวันออกแถบเขาอ่างฤาไน ช้างโขลงใหญ่จะเดินข้ามถนนบ่อย และเมื่อมีรถขนอ้อยผ่าน ช้างก็จะขวางถนนสกัดรถขนไม่ให้ผ่าน จนกว่าจะได้กินอ้อยจนพอใจจึงหลีกทางให้ จนเกิดตำนาน “พี่ด้วนด่านลอย” ขึ้นที่นี่

ถึงแม้ประเทศไทยจะปิดสัมปทานทำไม้ไปตั้งแต่ปี 2531 แต่การบริหารจัดการป่าที่ผิดพลาด ก็มีส่วนสำคัญทำให้ช้างอยู่ในป่าไม่ได้ การปลูกป่าทดแทนสัมปทานและการปลูกสวนป่าด้วยไม้ป่าเศรษฐกิจและไม้โตเร็วที่ช้างกินไม่ได้ ทำให้พืชป่าอาหารช้างลดน้อยลง ทุ่งหญ้าธรรมชาติแทบทั้งหมดกลายเป็นแปลงปลูกป่า

อีกทั้งการก่อสร้างอาคารสำนักงานและสิ่งก่อสร้างของหน่วยราชการต่างๆในป่า รวมทั้งเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ เหล่านี้ล้วนกระทบต่อช้างป่า ทำให้พื้นที่กิจกรรมทางสังคมของช้างทั้งการรวมโขลงและการแยกฝูงก็หมดไปด้วย

เมื่อถนนตัดผ่านป่าใหญ่ 

เมื่อป่าใหญ่ถูกถนนตัดผ่านแยกป่าออกเป็นเสี่ยงๆ เส้นทางเดินหาอาหารของช้างป่าก็ยิ่งจำกัดลง ป่ายิ่งเล็กก็ยิ่งแห้ง ขาดทั้งน้ำทั้งอาหาร ช้างอยู่ในถิ่นเดิมไม่ได้ ก็ต้องหากินไกลออกไปถึงชายป่าหรือออกนอกป่าเข้าเขตชุมชน และเมื่อพบแปลงพืชเกษตรชายป่า ทั้งพืชสวนและพืชไร่ชนิดที่ช้างชอบและมีแหล่งน้ำ ช้างป่าก็จะหากินและหลับนอนอยู่แถบนั้น เพราะดีกว่าอยู่ในป่า

ปัญหาระหว่างคนกับช้างป่า จึงมีเหตุปัจจัยรากเหง้ามาจากการจัดการป่าที่ผิดพลาดและการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ไม่อาจชี้แบบถูกผิด แต่เป็นปัญหาร่วมของทั้งช้างป่าและชาวบ้านบางส่วนที่มีพื้นที่ใช้ประโยชน์ทับซ้อนกัน เป็นปัญหาของช้างชายขอบและคนชายชอบด้วยกัน ทั้งช้างป่าและคนซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรต่างก็ต้องการอยู่รอดปลอดภัยด้วยกัน เมื่อทั้งช้างป่าและชาวบ้านชายขอบป่าไม่ทีทางเลือกที่ดีกว่า ปัญหาคนกับช้างป่าก็ยังคาราคาซังอยู่อย่างนี้

แม้ชาวบ้านจะพยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีการต่างๆ แต่ไม่นานช้างซึ่งเป็นสัตว์ฉลาดก็แก้ไขเอาตัวรอดได้ ยิ่งใช้วิธีการขับไล่รุนแรงจนทำให้ช้างบาดเจ็บ เสียชีวิต ช้างก็ยิ่งดุร้ายจนทำร้ายคน การปล่อยให้ชาวบ้านผู้เดือดร้อนกับช้างป่าแก้ปัญหากันเองโดยขาดการมีส่วนร่วมจึงเกินความสามารถของเขา เรื่องเล็กก็เป็นเรื่องใหญ่ ปัญหาระดับชุมชนก็เป็นปัญหาระดับชาติและปัญหาที่องค์กรนานาชาติห่วงใย

ช้างยังเป็นพญาแห่งป่าใหญ่อยู่ได้อีกหรือไม่ เกษตรกรชายขอบป่าจะอยู่อย่างมั่นคงได้อย่างไร สังคมไทยต้องมีคำตอบ ต้องช่วยกันให้กำลังใจและส่งเสริมสนับสนุนให้มีการจัดการป่า และจัดการความสัมพันธ์ระหว่างคนกับช้างป่าให้สมดุลยั่งยืน