'คนไทยส่วนใหญ่' หนุน ปลดล็อก ส.ว. โหวตนายกฯ

'คนไทยส่วนใหญ่' หนุน ปลดล็อก ส.ว. โหวตนายกฯ

"นิด้าโพล" เผย คนไทยกว่า 70% เห็นด้วยแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว. โหวตเลือกนายกฯ ขณะที่ส่วนใหญ่เห็นว่ายังจำเป็นต้องมี ส.ว. ต่อไป เพื่อถ่วงดุลอำนาจ ส.ส.

วันนี้ (13 ก.ย.) ศูนย์สํารวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสํารวจของประชาชน เรื่อง “จะมี ส.ว. ต่อไปดีไหม?” ทําการสํารวจระหว่างวันที่ 8–10 กันยายน 2563 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาคระดับการศึกษาและอาชีพทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น จํานวน 1,317 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เพื่อยกเลิกอํานาจ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

การสํารวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกําหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 97.0

จากการสํารวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เพื่อยกเลิกอํานาจ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี พบว่าร้อยละ 61.27 ระบุว่า เห็นด้วยมาก ร้อยละ 16.48 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ส่วนร้อยละ 8.96 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย ร้อยละ 13.21 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย และร้อยละ 0.08 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ด้านความคิดเห็นของผู้ที่ตอบเห็นด้วยมากและค่อนข้างเห็นด้วยต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียงแค่มาตรา 272 เพื่อยกเลิกอํานาจ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และหลังจากนั้นให้มีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ พบว่า ร้อยละ 69.27 ระบุว่า เห็นด้วยมาก ร้อยละ 15.90 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วยร้อยละ 6.24 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วยร้อยละ 7.22 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลยและร้อยละ 1.37 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

สําหรับสิ่งที่ ส.ว. ควรดําเนินการเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2560) พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.75 ระบุว่า ควรสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา รองลงมา ร้อยละ 30.37 ระบุว่า ควรสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ด้วยการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.)ร้อยละ 10.70 ระบุว่า ไม่ควรสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกรูปแบบ และร้อยละ 4.18 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความจําเป็นต้องมี ส.ว. ในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาของประเทศไทย พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 38.27 ระบุว่า จําเป็นต้องมีส.ว. เพราะ เพื่อเป็นการถ่วงดุลทางการเมือง ควบคุม/ตรวจสอบการทํางานของ ส.ส. กลั่นกรองกฎหมายสําคัญ ๆ ต่าง ๆ และการได้มาของ ส.ว. ต้องเป็นการเลือกตั้งจากประชาชนเพื่อเข้ามาเป็น ส.ว. เท่านั้น ขณะที่ ร้อยละ 31.66 ระบุว่า ไม่จําเป็นต้องมี ส.ว. เพราะไม่มีผลงานที่เด่นชัด ไม่มีบทบาทการทํางานที่ชัดเจน สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน และมี ส.ส. ก็เพียงพอกับประชาชนแล้วจึงไม่จําเป็นต้องมี ส.ว. และร้อยละ 30.07 ระบุว่า มีหรือไม่มีส.ว. ก็ได้เพราะประชาชนยังไม่เห็นการทําหน้าที่และผลงานของ ส.ว. ที่ชัดเจน

159996157599