'จีน-อินเดีย'ยุติข้อพิพาทฟื้นสันติภาพแนวพรมแดน

'จีน-อินเดีย'ยุติข้อพิพาทฟื้นสันติภาพแนวพรมแดน

จีนและอินเดีย ยอมลดความตึงเครียดที่ปะทุขึ้นอีกครั้งบริเวณพรมแดนที่เป็นกรณีพิพาท และเตรียมฟื้นฟูความสงบและสันติภาพหลังหารือร่วมกันในการประชุมทางการทูตระดับสูงในกรุงมอสโกของรัสเซีย

ทางการจีนและอินเดีย ระบุในแถลงการณ์ร่วมว่า“หวัง อี้” มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของจีน และ“สุพรหมณยัม ชัยศังกร” รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของอินเดียพบปะกันที่กรุงมอสโก ประเทศรัสเซียเและมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า สถานการณ์บริเวณพรมแดนที่เป็นกรณีพิพาทอยู่ในปัจจุบันไม่ได้อยู่ในความสนใจของทั้งสองฝ่าย และกองทหารของทั้งสองฝ่ายควรถอนกำลังออกจากพื้นที่ดังกล่าวโดยเร็วและลดความตึงเครียด

หลังรัฐมนตรีต่างประเทศของสองประเทศมีมติร่วมกันได้ไม่นาน กระทรวงต่างประเทศของจีน ก็ออกแถลงการณ์ว่า “หวัง”ได้กล่าวกับ“ชัยศังกร”ระหว่างการประชุมร่วมกันว่า จำเป็นต้องยุติการยั่วยุทางทหารในทันที เช่น การเปิดฉากยิงกระสุนและการกระทำที่อันตรายอื่น ๆ ที่ละเมิดข้อตกลงร่วมกันระหว่างทั้งสองประเทศ และว่า กองทหารและอาวุธที่ล่วงล้ำพรมแดนต้องร่นถอยกลับไป และกองกำลังบริเวณพรมแดนของทั้งสองฝ่ายต้องแยกออกจากกันทันทีเพื่อลดความตึงเครียดของสถานการณ์

ด้านหนังสือพิมพ์โกลบอลไทม์ของจีน ระบุในบทบรรณาธิการว่า จีนต้องเตรียมความพร้อมทางการทหารอย่างเต็มที่ เมื่อข้อตกลงทางการทูตล้มเหลว กองทหารบริเวณพรมแดนต้องสามารถรับมือกับภาวะฉุกเฉิน และพร้อมต่อสู้ตลอดเวลา ทั้งยังระบุด้วยว่า อินเดียมีความมั่นใจแบบผิด ๆ ในการเผชิญหน้ากับจีน ทั้งที่มีกำลังทหารไม่เพียงพอ หากอินเดียยังตกอยู่ภายใต้แนวคิดชาตินิยมสุดโต่งและต่อต้านนโยบายจีน อินเดียจะต้องชดใช้ในสิ่งที่เกิดขึ้น

กรณีพิพาทที่มีปมมาจากการอ้างสิทธิ์พื้นที่บริเวณพรมแดนติดต่อกัน มีชนวนมาจากการที่ทหารอินเดียอย่างน้อย 20 นายเสียชีวิตในเหตุปะทะที่หุบเขากาลวาน ในภูมิภาคลาดักห์ซึ่งเป็นดินแดนพิพาทของสองประเทศ และจีน กล่าวหาว่ากองทัพอินเดียข้ามพรมแดนเข้ามาสองครั้งเพื่อยุแหย่และโจมตีเจ้าหน้าที่ฝ่ายจีน โดยทั้งสองฝ่ายยืนยันว่าไม่มีการยิงกัน แต่เจ้าหน้าที่อินเดียบอกว่า มีการต่อสู้กันโดยใช้มือเปล่า แท่งเหล็ก และหิน

แม้การปะทะในครั้งนี้แตกต่างจากการปะทะในอดีต เพราะไม่มีการใช้อาวุธหนักเช่นการใช้อาวุธปืนและระเบิด สาเหตุเพราะจีนกับอินเดียมีการทำข้อตกลงเมื่อปี 2539 ว่าไม่ให้ใช้อาวุธ เนื่องจากจะลุกลามไปเป็นสงคราม แต่ทั้งสองฝ่ายเปิดฉากปะทะกันนานประมาณ 3 ชั่วโมง ทำให้มีทหารอินเดียเสียชีวิตมากถึง 20 นาย ส่วนจีน มีรายงานที่ไม่แน่ชัดแต่ทางอินเดียรายงานว่าจีนมีนายทหารที่บาดเจ็บและเสียชีวิตประมาณ 45 นาย

หลายทศวรรษมาแล้วที่ชาติมหาอำนาจทางทหารทั้งสองเผชิญหน้ากันตลอดแนวพรมแดนที่มีความยาวประมาณ 3,440 กม. สถานการณ์ตึงเครียดล่าสุด มีต้นเหตุมาจากการที่อินเดียได้สร้างถนนสายใหม่ตามแนวเส้นแบ่งเขตควบคุม (แอลเอซี)ทำให้จีนไม่พอใจ จึงส่งทหารไปประจำบริเวณนั้น รวมถึงสร้างโครงสร้างพื้นฐานของตัวเองขึ้น ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นที่สองฝ่ายจะปะทะกัน

แต่จีนก็อ้างสิทธิ์ครอบครองโดยระบุในแผนที่เส้นแบ่งเขตแดนแอลเอซี ที่มีอยู่ 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนตะวันออก ซึ่งแบ่งดินแดนรัฐอรุณาจัลประเทศและรัฐสิกขิมของอินเดียกับจีน ส่วนกลางแบ่งรัฐหิมาจัลประเทศและรัฐสิกขิมของอินเดียกับจีน และส่วนตะวันตกแบ่งดินแดนลาดักของอินเดีย

เส้นแอลเอซีส่วนมาก เป็นเพียงเส้นลากในแผนที่ เป็นพื้นที่ตามธรรมชาติที่ไม่มีการแสดงสัญลักษณ์ใดๆ ไว้ จึงมักมีเหตุปะทะกันโดยอ้างว่าอีกฝ่ายละเมิดเส้นแอลเอซี หรือเมื่อมีการลาดตระเวนมาเจอกัน หรือเกิดความเข้าใจผิดในแนวปฏิบัติของหน่วยทหารในพื้นที่ กรณีล่าสุดก็เช่นกัน ที่จีนมองว่าทหารอินเดียรุกล้ำเข้ามาในเขตแดนของตน ส่วนอินเดียก็กล่าวโทษทหารจีนว่าไม่ปฏิบัติตามที่ตกลงกันไว้

อินเดีย ระบุว่า เป็นการก่อสร้างถนนในเขตแดนของตน ความไม่ลงรอยกันในเรื่องนี้ส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายต่างเสริมกำลังทางการทหารเข้าไปในพื้นที่ รวมถึงมีการลาดตระเวนที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น

ทั้งจีนและอินเดียต่างมองว่าดินแดนนี้มีความสำคัญทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการทหาร หากไม่มีฝ่ายไหนยอมกันและปล่อยให้เรื่องยืดเยื้อ จึงยิ่งส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของทั้งภูมิภาค

ทั้งยังเชื่อกันว่าการเสียชีวิตจากการต่อสู้ครั้งนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 45 ปี หลังจากก่อนหน้านี้จีนและอินเดียเคยทำสงครามกันเพียงครั้งเดียวในปี 2505 และอินเดียเป็นฝ่ายพ่ายแพ้

การปะทะที่เกิดขึ้น ทำให้ประชาชนอินเดียไม่พอใจ ที่กรุงนิวเดลี มีประชาชนมาถือป้ายประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลแบนสินค้าจากจีน และยกเลิกการค้ากับจีน เพราะถ้าย้อนไปดูข้อมูลทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน จะเห็นว่าตัวเลขการค้าระหว่างอินเดีย-จีนมีมูลค่ามากกว่า 90,000 ล้านดอลลาร์

อินเดีย เสียเปรียบดุลการค้าให้กับจีนเป็นจำนวนกว่า 8 เท่าตัว ซึ่งถ้ามีการแบนสินค้าจากจีนจริงๆอาจส่งผลแง่ลบกับอินเดียมากกว่าเพราะอินเดียนำเข้าสินค้าจากจีนจำนวนมากกว่าที่จีนนำเข้าจากอินเดีย โดยอินเดียอาจจะผลิตสินค้าได้ไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากรที่มีอยู่ถึง 1,300 ล้านคน รวมทั้งสินค้าจากจีนมีราคาถูก คนชนชั้นล่างของอินเดียจึงนิยมซื้อสินค้าจากจีน

นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังคงมีความขัดแย้งกันในประเด็นอื่นๆ รวมทั้ง การที่จีนไม่พอใจท่าทีของอินเดียที่สนับสนุนองค์ดาไลลามะของทิเบต อินเดียกังวลเกี่ยวกับความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างจีนกับปากีสถาน รวมทั้งความพยายามในการขยายอิทธิพลของจีนเข้ามาในมหาสมุทรอินเดีย แม้แต่จีนก็กังวลกับการเป็นพันธมิตรกันระหว่างสหรัฐกับอินเดียภายใต้ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของวอชิงตัน ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ของเอเชียและเอเชียใต้ได้

แต่ถึงแม้จีนและอินเดียจะมีปัญหาพิพาทบริเวณพรมแดนมานาน ทั้ง2ประเทศก็แบ่งปันหลายๆอย่างร่วมกัน โดยเฉพาะในด้านภูมิศาสตร์ โดยจีนและอินเดีย แชร์เส้นแบ่งพรมแดนราวกว่า 4,000 กิโลเมตร

ส่วนด้านประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศดำเนินมายาวนานกว่า 2,000 ปี แม้จะเคยทำสงครามร่วมกันในปี 2505 ในครั้งนั้นอินเดียกล่าวหาจีนว่า ไปยึดครองดินแดนของอินเดียในเขตแคชเมียร์ และยังคงนำมาซึ่งความขัดแย้งในปัจจุบัน