โพลชี้ 'ไบเดน' คะแนนนิยมนำ แต่ 'ทรัมป์' มีลุ้นชนะเลือกตั้งจริง

โพลชี้ 'ไบเดน' คะแนนนิยมนำ แต่ 'ทรัมป์' มีลุ้นชนะเลือกตั้งจริง

อีกไม่ถึง 2 เดือน ชาวอเมริกันจะได้เข้าคูหาเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้งในวันที่ 3 พ.ย.เพื่อชี้ชะตาว่า “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน จะได้รับเลือกให้เป็นผู้นำประเทศอีกสมัยหรือไม่ หลังจากที่เขาคว้าชัยชนะอย่างเหนือความคาดหมายเมื่อ 4 ปีก่อน

การเลือกตั้งครั้งนี้ “โดนัลด์ ทรัมป์” ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน มีคู่แข่งคนสำคัญอย่าง “โจ ไบเดน” ผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรคเดโมแครต ซึ่งอยู่ในแวดวงการเมืองมานานและยังเคยเป็นรองประธานาธิบดีในสมัยของ “บารัก โอบามา”

ทั้งสองคนมีบุคลิกแตกต่างกันแบบสุดขั้ว ทรัมป์เป็นคนพูดจาโผงผาง ก้าวร้าว พร้อมที่จะสร้างศัตรูกับคนรอบข้าง ต่างจากไบเดนที่มีบุคลิกสุภาพ พูดจาเรียบร้อย ยิ้มแย้ม และมีความเป็นมิตรกับผู้อื่น แต่ผู้ที่ชื่นชอบทรัมป์กลับมองว่า ทรัมป์ มีเสน่ห์ในการกล่าวสุนทรพจน์ และกล่าวปราศรัยในการรณรงค์หาเสียง โดยสามารถพูดได้อย่างเร้าใจ มีสีสัน ต่างจากไบเดนที่พูดจาจืดชืด ไม่น่าสนใจ

วันที่ 3 พ.ย. นอกจากชาวอเมริกันที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปจะออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งประธานาธิบดีแล้ว ยังต้องเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสภาจำนวน 435 คน และเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 1 ใน 3 ของทั้งหมด หรือจำนวน 33 คน จากทั้งหมด 100 คน

การเลือกตั้งประธานาธิบดีจะมีขึ้นทุก 4 ปี และการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาจะมีขึ้นทุก 2 ปี นอกจากนี้ ชาวอเมริกันยังออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนหลายพันคนทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึงผู้ว่าการรัฐ และผู้พิพากษา ส่งผลให้การเลือกตั้งในวันที่ 3 พ.ย. เป็นการเดิมพันครั้งสำคัญต่อทั้งพรรคเดโมแครต และรีพับลิกัน เนื่องจากจะมีผลต่อผู้สมัครของพรรคในการเข้าไปนั่งเก้าอี้ในทำเนียบขาว และการครองอำนาจในสภาคองเกรส

 

  • โพลทุกสำนักชี้ “ไบเดน” คะแนนนิยมนำ

แม้โรคโควิด-19 ยังคงแพร่ระบาดไม่หยุดในสหรัฐ แต่สิ่งนี้ก็ไม่ได้ทำให้บรรยากาศการเลือกตั้งลดความร้อนแรงลง เพราะขณะที่นับถอยหลังวันเลือกตั้งสำนักโพลต่างก็ออกสำรวจความคิดเห็นของประชาชนว่าจะโหวตเลือกใครเป็นผู้นำประเทศ

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รวบรวมผลสำรวจความคิดเห็นจากสำนักโพลและสำนักข่าวรายใหญ่ ๆ ทั่วประเทศ รวมถึงของสำนักข่าวซีบีเอส รอยเตอร์ เอบีซี วอชิงตันโพสต์ เอ็นบีซี วอลล์สตรีทเจอร์นัล และฟ็อกซ์นิวส์ ซึ่งผลสำรวจแทบทุกสำนักชี้ว่า ไบเดน มีคะแนนนำเหนือทรัมป์ แม้แต่โพลของสำนักข่าวที่ดูเหมือนจะเข้าข้างทรัมป์มากที่สุดอย่างฟ็อกซ์นิวส์ ก็เผยให้เห็นว่าไบเดนมีคะแนนมากกว่าเช่นกัน ส่วนโพลที่เหลือเปอร์เซนต์ทิ้งห่างไม่มากพอที่จะชี้ชัดว่าใครเป็นผู้นำ

ผลสำรวจความคิดเห็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 2,433 ราย ของสำนักข่าวซีบีเอสซึ่งจัดทำขึ้นร่วมกับบริษัทยูโกฟ เมื่อวันที่ 2-4 ก.ย. ชี้ว่า ไบเดนได้รับเสียงสนับสนุน 52% ทิ้งห่างทรัมป์ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุน 42%

ด้านผลสำรวจจากอิปซอสส์ บริษัทด้านการสำรวจและวิจัยตลาดระดับโลก ซึ่งร่วมกับสำนักข่าวรอยเตอร์ สำรวจความคิดเห็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 1,089 รายเมื่อวันที่ 28 ส.ค. - 1 ก.ย. เผยว่า ไบเดนได้รับเสียงสนับสนุน 47% เหนือทรัมป์ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุน 40%

ส่วนผลสำรวจจากสำนักข่าวเอบีซี ซึ่งร่วมมือกับวอชิงตันโพสต์ สำรวจความคิดเห็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 868 รายเมื่อช่วงกลางเดือนส.ค. ระบุว่า ไบเดน ได้รับเสียงสนับสนุน 53% เหนือทรัมป์ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุน 41%

ขณะเดียวกัน ผลสำรวจความคิดเห็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 900 รายจากสำนักข่าวเอ็นบีซีซึ่งจัดทำร่วมกับวอลล์สตรีทเจอร์นัลในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันพบว่า ไบเดนได้รับเสียงสนับสนุน 50% มากกว่าทรัมป์ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุน 41%

ท้ายที่สุด ผลสำรวจจากสำนักข่าวลูกรักของปธน.ทรัมป์อย่างฟ็อกซ์นิวส์ ซึ่งสำรวจความคิดเห็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 1,000 ราย เผยให้เห็นว่า ไบเดน ได้รับเสียงสนับสนุน 49% สูงกว่าทรัมป์ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุน 42%

 

  • ผลเลือกตั้งจริงอาจพลิก “ทรัมป์” ชนะ

อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ได้ให้บทเรียนว่าโพลล์ต่าง ๆ ไม่ได้รับประกันว่าผลจะออกมาตามที่มีการสำรวจไว้ ซึ่งจะเห็นได้จากการทำโพลสมัยเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีก่อน ที่ทุกสำนักระบุว่า “ฮิลลารี คลินตัน” คู่แข่งทรัมป์สมัยนั้น จะคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย และจะเป็นสตรีคนแรกที่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ แต่เธอก็ต้องน้ำตาตกเมื่อมีการประกาศว่าทรัมป์เป็นฝ่ายชนะ ทั้งๆที่ทรัมป์ตกเป็นรองมาโดยตลอดในการสำรวจความนิยมของชาวอเมริกัน

แม้ผลสำรวจขณะนี้บ่งชี้ว่า ทรัมป์ จะพ่ายแพ้การเลือกตั้งในวันที่ 3 พ.ย.นี้ แต่ความจริงคือ เรายังคงมีโอกาสที่จะได้ประธานาธิบดีสหรัฐที่ชื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ต่อไปอีก 4 ปี เหมือนที่เขาเคยสร้างปาฏิหาริย์ไว้เมื่อ 4 ปีก่อน เพราะในทางทฤษฎีแล้ว ชาวอเมริกันไม่ได้ลงคะแนนเพื่อเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง แต่เป็นการเลือกตั้งทางอ้อมผ่าน “คณะผู้เลือกตั้ง” (electoral college) เพื่อให้ไปทำหน้าที่ออกเสียงเลือกประธานาธิบดีอีกต่อหนึ่ง

โดยคะแนนเลือกตั้งจะมี 2 แบบ เรียกว่า popular vote กับ electoral vote การที่ประชาชนออกจากบ้านไปเลือกประธานาธิบดี ถือเป็น popular vote แต่คะแนนที่ได้เป็นคะแนนที่มอบให้กับคณะผู้เลือกตั้ง ที่ต้องไปเลือกประธานาธิบดีอีกทอดหนึ่ง เรียกว่า electoral vote

ผู้ที่จะชนะการเลือกตั้งและก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีจะต้องได้รับคะแนนเสียง electoral vote เกินกึ่งหนึ่ง หรือ 270 เสียง ของจำนวน electoral vote ทั้งหมด 538 เสียง ในระบบการเลือกตั้งแบบคณะผู้เลือกตั้งนั้น แต่จะรัฐจะมีจำนวน electoral vote ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากร ซึ่งหมายความว่า รัฐที่ใหญ่กว่าจะมี electoral vote มากกว่ารัฐเล็ก ๆ

 

  • ส่องโพลรัฐชี้ชะตาผลเลือกตั้ง

ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ผู้ชิงตำแหน่งมักจะได้รับคะแนนเสียงจากรัฐที่พรรคของตนมีฐานเสียงเหนียวแน่นอยู่แล้ว เมื่อประเมินจากผลการเลือกตั้งปีก่อน ๆ พรรครีพับลิกันมักคว้าชัยชนะในรัฐแถบเทือกเขาและเขตที่ราบใหญ่ หรือเกรตเพลนส์ อย่างรัฐไอดาโฮ ไวโอมิง มอนทานา ไปจนถึงรัฐทางตอนใต้ อย่างแอละแบมา จอร์เจีย อาร์คันซอ

ขณะที่พรรคเดโมแครต มักคว้าชัยชนะในรัฐแถบมิดแอตแลนติก เช่น นิวยอร์ก นิวเจอร์ซีย์ แมริแลนด์ ไปจนถึงแถบเวสต์โคสต์ อย่างแคลิฟอร์เนีย ออริกอน วอชิงตัน และข้ามน้ำข้ามทะเลไปถึงรัฐฮาวาย

สถิตินี้หมายความว่า มีหลายรัฐที่แทบจะรู้ผลกันล่วงหน้าอยู่แล้วว่าผู้สมัครจากพรรคใดจะชนะ จึงเหลือเพียงไม่กี่รัฐที่ยังคงต้องลุ้นอย่างใกล้ชิด โดยเป็นรัฐที่ทรัมป์และไบเดนมีคะแนนสูสีและต่างก็มีโอกาสคว้าชัยชนะทั้งคู่ รัฐเหล่านี้เรียกว่า “Battleground State” หรือ “Swing State” ซึ่งแปลได้ว่า “รัฐสนามรบ”