ประเด็น 'ราคาศุลกากร' และค่าสิทธิที่ควรระวังล่าสุด

ประเด็น 'ราคาศุลกากร' และค่าสิทธิที่ควรระวังล่าสุด

"ราคาศุลกากร" ยังคงเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการต้องเฝ้าระวังและติดตามแนวทางการประเมินราคาใหม่ๆ อยู่เสมอ เพราะการสำแดงราคาศุลกากรที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายศุลกากรอาจนำไปสู่ความผิดได้

ล่าสุดทางกรมสรรพากรได้กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทำการยื่นรายงานประจำปี หรือ Transfer Pricing Disclosure Form ซึ่งบริษัทมีหน้าที่ต้องรายงานข้อมูลของธุรกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกันของบริษัทในเครือ ซึ่งรายการข้อมูลดังกล่าวยังรวมถึงมูลค่าของวัตถุดิบหรือสินค้านำเข้าที่ซื้อขายกันระหว่างบริษัทในเครือ และค่าสิทธิที่จ่ายระหว่างกันอีกด้วย

และเนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่จะมีการแบ่งปันข้อมูลระหว่างกรมสรรพากรกับกรมศุลกากร ดังนั้นการที่กรมสรรพากรกำหนดให้บริษัทต้องยื่น Transfer Pricing Disclosure Form นั้น อาจทำให้ผู้นำเข้ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นและควรระมัดระวังในเรื่องการสำแดงราคาศุลกากร และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับของที่นำเข้า  

อีกประเด็นที่น่าสนใจในแวดวงศุลกากรยุโรปในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ได้แก่ คำพิพากษาของศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป (Court of Justice of the European Union: CJEU) - C‑76/19 (Curtis Balkan) ที่วินิจฉัยว่าค่าสิทธิที่จ่ายเพื่อสิทธิในการใช้ know-how ในการผลิตสินค้าสำเร็จรูป เป็นค่าสิทธิที่ต้องนำมารวมเป็นราคาศุลกากรของชิ้นส่วนที่นำเข้ามาเพื่อผลิตสินค้าสำเร็จรูปดังกล่าว 

ตามระบบราคา GATT (GATT Valuation) อันเป็นหลักการกำหนดราคาศุลกากรที่ใช้กันในประเทศสมาชิก WTO ทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย ค่าสิทธิที่ (1) เกี่ยวข้องกับของนำเข้าซึ่งผู้ซื้อ (ผู้นำเข้า) ต้องชำระไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมและ (2) เป็นเงื่อนไขของการขายสินค้านำเข้า ซึ่งถ้าค่าสิทธิที่เข้าเงื่อนไขทั้งสองข้อดังกล่าวยังไม่ได้รวมอยู่ในราคาของสินค้าที่ต้องชำระจริง ค่าสิทธินั้นจะต้องนำมาคำนวณรวมเป็นราคาศุลกากรของสินค้านำเข้าด้วย

สำหรับเคส C-76/19 นี้ บริษัท A ได้จ่ายค่าสิทธิให้แก่บริษัท B ซึ่งเป็นบริษัทแม่ในสหรัฐอเมริกา โดยคิดจากยอดขายสุทธิในแต่ละไตรมาส บริษัท B จะให้ know-how สำหรับผลิตสินค้าสำเร็จรูปให้บริษัท A เป็นการตอบแทน ทั้งนี้ บริษัท A ได้ซื้อและนำเข้าชิ้นส่วนสำหรับผลิตสินค้าดังกล่าวมาจากผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ไม่ได้มีความเกี่ยวพันกับบริษัท (third party company) ค่าสิทธิที่จ่ายเพื่อ know-how ให้แก่บริษัทแม่ในการผลิตสินค้าจึงดูเหมือนจะไม่มีความเชื่อมโยงกับชิ้นส่วนที่บริษัท A นำเข้าจากบริษัทที่ไม่มีความสัมพันธ์กัน

อย่างไรก็ดี CJEU มีความเห็นว่า การจะพิจารณาว่าค่าสิทธิเกี่ยวข้องกับของที่นำเข้าหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาหลายๆ องค์ประกอบ รวมถึงความเชื่องโยง (close link) ระหว่างค่าสิทธิและชิ้นส่วนนำเข้า ทั้งในแง่ความสัมพันธ์ที่เกิดจากข้อสัญญาและความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจริง ในกรณีนี้แม้ผู้ผลิตชิ้นส่วน จะไม่ได้มีความสัมพันธ์กับบริษัท A และ B แต่ชิ้นส่วนที่นำเข้านี้ก็ผลิตขึ้นเพื่อใช้ในการผลิตสินค้าสำเร็จรูปที่อยู่ภายใต้สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิระหว่างบริษัท A และ B ค่าสิทธินี้จึงเกี่ยวข้องกับชิ้นส่วนที่นำเข้า

ส่วนประเด็นว่าค่าสิทธินี้เป็นเงื่อนไขของการขายสินค้าหรือไม่ ต้องพิจารณาว่าหากไม่มีการจ่ายค่าสิทธิ ธุรกรรมการซื้อขายชิ้นส่วนจะยังเกิดขึ้นหรือไม่ หากไม่เกิดขึ้น ค่าสิทธินั้นก็เป็นเงื่อนไขของการขาย ในกรณีนี้แม้บริษัท B จะไม่มีความสัมพันธ์และอำนาจควบคุมเหนือผู้ผลิตชิ้นส่วน แต่เมื่อบริษัท B มีอำนาจควบคุมบริษัท A และมีอำนาจในการระงับธุรกรรมการซื้อขายระหว่างบริษัท A และผู้ผลิตชิ้นส่วนได้ ค่าสิทธิจึงเป็นเงื่อนไขของการขาย ดังนั้น เมื่อค่าสิทธิยังไม่ได้รวมไปในราคาสินค้านำเข้าที่ต้องชำระจริงค่าสิทธิเพื่อ know-how ในการผลิตสินค้าสำเร็จรูปจึงต้องถูกรวมไปในราคาศุลกากรของชิ้นส่วนที่นำเข้ามาเพื่อผลิตสินค้าสำเร็จรูปดังกล่าว

จะเห็นได้ว่าเกณฑ์การพิจารณาของ CJEU ก็เป็นไปตาม GATT Valuation ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ศุลกากรไทยใช้ในการพิจารณาราคาศุลกากร ดังนั้นคำพิพากษาฉบับนี้จึงน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้นำเข้าไทยในการพิจารณาราคาศุลกากรเช่นกัน

จากประเด็นที่ควรระวังข้างต้น ผู้นำเข้าสามารถพิจารณาลดความเสี่ยงจากการสำแดงราคาศุลกากรไม่ถูกต้อง (สำแดงต่ำกว่าที่ควร) โดยการพิจารณาสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิและให้ความช่วยเหลือ (Royalty and Technical Assistance Agreement) จากบริษัทในเครือ ที่บริษัทมีอยู่ว่าเข้าข่ายเป็นค่าสิทธิที่เกี่ยวข้องกับของนำเข้าและต้องนำไปรวมเป็นราคาศุลกากรหรือไม่

รวมถึงพิจารณาว่าธุรกรรม Transfer Pricing ระหว่างบริษัทในเครือ เช่น การสำแดงราคาศุลกากรมีความเหมาะสมหรือไม่ การปรับราคาสินค้านำเข้าที่ซื้อขายในปีที่ผ่านมา กระทบต่อราคาศุลกากรหรือไม่ หากกระทบและทำให้ราคาศุลกากรสูงขึ้น บริษัทก็ควรพิจารณาลดความเสี่ยงจากการกระทำความผิดตามกฎหมายศุลกากรด้วยการสำแดงราคาที่เพิ่มและขอเสียภาษีอากรเพิ่มเติมต่อศุลกากร